หน้าแรกแกลเลอรี่

ส่งแล้วห้ามเปลี่ยน "ซูซูกิคัพ 2020" ใช้นักเตะได้แค่ 30 คน

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

18 มิ.ย. 2563 11:30 น.

ชาติอาเซียนเห็นด้วย ส่งชื่อเตะ “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020” ได้ 30 คน เปลี่ยนแปลงไม่ได้จนจบทัวร์นาเมนต์ ซึ่งแต่ละนัดต้องตัดเหลือ 23 คนตามเดิม โดยพาทิศ ศุภะพงษ์ รักษาการเลขาธิการสมาคมลูกหนังไทย ระบุเพื่อรองรับกรณีมีนักเตะเจ็บป่วย จึงต้องมีการขยายจำนวนนักเตะให้เกิดความยืดหยุ่น ส่วนรูปแบบที่ใช้แข่งขันยังคงคอนเซปต์ไม่มีเจ้าภาพ เพราะสปอนเซอร์จะมีโอกาสทำการตลาดในทุกชาติอาเซียน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นกรอบแนวทางที่วางไว้ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

ความเคลื่อนไหวการแข่งขัน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020” ที่จะมีขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมในปีนี้ ก่อนหน้านี้มีการประชุมกันและมีการหารือเรื่องของเพิ่มจำนวนนักเตะที่จะใช้ จากเดิมที่จะสามารถลงทะเบียนเข้าแข่งขันได้ 23 คน และ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จนจบทัวร์นาเมนต์ แต่ด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้มีการเสนอเพิ่มจำนวนนักเตะมา เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น หรือป้องกันเหตุฉุกเฉินนั้น

โดยนายพาทิศ ศุภะพงษ์ รักษาการเลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงการประชุมกับสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ) ว่า จากการพูดคุยในที่ประชุม ถ้าหากว่าการแข่งขันจะมีขึ้นตามกำหนดเดิมที่ได้วางเอาไว้นั้น ได้มีการเห็นชอบในหลักการที่จะเพิ่มนักเตะที่ลงทะเบียนก่อนการแข่งขัน จากเดิม 50 ราย เป็น 70 ราย แต่ เมื่อจะเข้าสู่การแข่งขันนั้นจะต้องตัดให้เหลือเพียง 30 คน ที่จะไม่สามารถเปลี่ยนได้จนจบทัวร์นาเมนต์

นายพาทิศ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในระหว่างการแข่งขันนัดต่อนัดจะต้องทำการตัดรายชื่อนักเตะ ให้เหลือเพียง 23 คน ต่อการแข่งขัน 1 นัดเหมือนเดิม ซึ่งการเพิ่มแบบนี้ก็เพื่อป้องกันทั้งเรื่องของอาการบาดเจ็บ หรือว่ามีนักเตะในทีมคนใดคนหนึ่ง ไม่สบาย หรือติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา ซึ่งทุกชาติเองเห็นด้วยในการขยายจำนวนนักเตะให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งานตลอดทัวร์นาเมนต์

ผู้สื่อข่าวสอบถามต่อว่า ในส่วนของทีมชาติไทย ที่เคยมีแผนจะเตรียมส่งผู้เล่น 2 ชุดลงเล่นในรอบแรกที่การแข่งขัน “โตโยต้า ไทยลีก 2020” ยังไม่จบเลกแรก อาจจะต้องใช้ผู้เล่นชุดยู-23 หรือยู-19 ลงเล่น แล้วเมื่อเข้ารอบน็อกเอาต์ค่อยมาใช้ชุดใหญ่นั้น นายพาทิศกล่าวว่า นั่นคือสิ่งที่ไทยเสนอไป เพียงแต่ก็มีการมองกันว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่นักเตะเล่นแล้วติดโทษแบนก็สามารถนำชื่อออกไปได้ ซึ่งทำให้เล่นแล้วแต่ละทีมนั้นฟูลทีมตลอดเวลา หรือจะเป็นเรื่องของสปิริต น้ำใจนักกีฬาอีก ดังนั้นจึงได้แค่ปรับเป็นแผนข้างต้นเท่านั้น

“ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่เป็นเพียงแค่การวางกรอบเบื้องต้น เมื่อถึงช่วงใกล้การแข่งขัน จะต้องมาประชุมตรวจความถูกต้องของระเบียบการแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาดังกล่าวสถานการณ์เป็นอย่างไร ต้องปรับเปลี่ยนอะไรอีกบ้าง ค่อยมาคุยกันอีกครั้ง”

รักษาการพ่อบ้านลูกหนังไทยกล่าวเสริมว่า ในเรื่องของระบบการแข่งขันนั้น ตอนนี้ยังคงคอนเซปต์เดิมไว้คือการไม่มีเจ้าภาพ เพราะว่าในเชิงของสิทธิประโยชน์นั้น สปอนเซอร์มีโอกาสในการทำการตลาดได้ทั้ง 10 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน ต่างจากการใช้เจ้าภาพเดี่ยวซึ่งจะทำการตลาดได้เพียงชาติที่เป็นเจ้าภาพเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังมีเวลาอีก 2-3 เดือนในการตัดสินใจ ว่าจะใช้รูปแบบใด เพราะแต่ละประเทศยังต้องดูเรื่องของการเดินทาง อย่างประเทศไทยต้องรอถึงสิ้นเดือนมิถุนายนจึงจะรู้ว่าจะเปิดน่านฟ้าหรือไม่ แล้วประเทศใดที่จะเดินทางเข้ามาได้บ้าง

“เช่นเดียวกับการแข่งขันสนามเปิดมีแฟนบอล หรือสนามปิดไม่มีแฟนบอล ก็ยังไม่ได้คุยกัน อันนี้ต้องรอใกล้ๆถึงจะคุยกันอีกครั้ง ว่ามันจะมีปัญหาอะไรไหม ต้องดูเรื่องความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ ในหลายๆอย่าง ถ้าต้องจัดเหย้า-เยือนแต่ยังมีการ กักตัว 14 วัน ก็คงไม่มีใครทำกันแน่นอน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้ทุกอย่างมันยังไม่ปกติ คงจะไม่สามารถยืนยันอะไรที่เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ได้ คงต้องมีการปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ” นายพาทิศ กล่าวปิดท้าย.