ไทยรัฐฉบับพิมพ์
จอมพลังสาวไทยยังฮอตไม่เลิกในศึกยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก ที่เติร์กเมนิสถาน “มายด์” ชยุตรา ประมงคล และ “แนน” โสภิตา ธนสาร ช่วยกันกวาดเหรียญทองในรุ่น 49 กก. ซึ่งกำหนดขึ้นมาใหม่ พร้อมทำเวิลด์เรกคอร์ดได้ด้วย รวมเบ็ดเสร็จผ่านไป 2 วัน ทีมไทยซิวเหรียญมาได้แล้วถึง 6 ทอง 3 เงิน 1 ทองแดง
ความเคลื่อนไหวของจอมพลังทีมชาติไทย ชุดเข้าร่วมการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ประจำปี 2561 (รายการเก็บคะแนนสะสมไปโอลิมปิก-เกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น) ที่กรุงอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน หลังจากที่เมื่อช่วงค่ำวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา จอมพลังไทยประเดิมผลงานยอดเยี่ยมในรุ่น 45 กก. หญิง โดย “อาร์ม” ธัญญ่า สุขเจริญ คว้า 3 เหรียญทอง จากท่าสแนตช์ 80 กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 106 กก. และน้ำหนักรวม 186 กก. ขณะที่ “จ๋า” จิราพรรณ นันทวงษ์ ทำได้ 3 เหรียญเงินในรุ่นเดียวกัน จากท่าสแนตช์ 76 กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 95 กก. และน้ำหนักรวม 171 กก. และยูลดูซ ดูมาบาเยวา ของเจ้าถิ่นเติร์ก– เมนิสถาน ทำ 3 เหรียญทองแดง จากท่าสแนตช์ 75 กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 94 กก. และน้ำหนักรวม 169 กก.
จากนั้นช่วงกลางดึก รุ่น 55 กก. ชาย กลุ่มเอ “ตุ้ย” ธีรพัฒน์ ชมชื่น ดาวรุ่งวัย 17 ปี จากศรีสะเกษ เจ้าของสถิติยุวชนโลกรุ่น 55 กก. ท่าสแนตช์เรียกเหล็ก 105 กก. ยกไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง ทำให้ไม่มีสถิติ แต่ มาแก้ตัวได้สำเร็จในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก เรียกน้ำหนัก 133 กก., 136 กก., 141 กก. ยกผ่านทั้งหมด ทำให้สถิติอยู่ที่ 141 กก. คว้าเหรียญทองแดงไปครอง ส่วนเหรียญทองเป็นของยุน ชอล ออม จากเกาหลีเหนือ 162 กก., เหรียญเงิน เจีย ธานห์ เลีย จากเวียดนาม 142 กก. ขณะที่น้ำหนักรวม เหรียญทอง ชอล ออม 282 กก., เหรียญเงิน อาร์ลี ชอนเตย์ จากคาซัคสถาน 258 กก., เหรียญทองแดง มิร์โก สคารานติโน จากอิตาลี 252 กก. ส่วน ธีรพัฒน์ ยกท่าสแนตช์ไม่ผ่านทำให้ไม่มีสถิติ
ต่อมาในวันที่ 3 พ.ย. เป็นการแข่งขันในรุ่น 49 กก. หญิง กลุ่มเอ มีจอมพลังไทยลงสนาม 2 คน ได้แก่ “แนน” โสภิตา ธนสาร ดีกรีเหรียญทองโอลิมปิก 2016 และ “มายด์” ชยุตรา ประมงคล ลงแข่งขันกับจอมพลังจีนถึง 2 คน ที่กลับมาลงสนามแข่งขันรายการนี้เป็นรายการแรก หลังจากโดนลงโทษจากการตรวจพบสารต้องห้าม
ในท่าสแนตช์ “แนน” โสภิตา ธนสาร ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ยกผ่านในการยกทั้ง 3 ครั้ง 86 กก., 89 กก., 93 กก. ทำให้คว้าเหรียญทองไปครอง โดยทำสถิติที่ดีที่สุด 93 กก.ดีกว่าสถิติโลกมาตรฐานที่กำหนดไว้ 90 กก. ขณะที่ “มายด์” ชยุตรา ประมงคล ยกผ่านทั้ง 3 ครั้งเช่นกัน ในการเรียกเหล็ก 84 กก., 86 กก., 89 กก. ทำให้สถิติที่ดีที่สุดในท่าสแนตช์ 89 กก. ได้อันดับ 4 เหรียญเงินตกเป็นของฮัว จีฮุย (จีน) 93 กก. (น้ำหนักตัวมากกว่า) เหรียญทองแดง เจียง ฮุยฮัว (จีน) 92 กก.
ส่วนท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ชยุตราสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการออกมายกเป็นคนสุดท้าย เรียกเหล็ก 115 กก. ยกผ่านไปได้ จากนั้นครั้งที่ 2 เรียกเหล็ก 120 กก. ยกผ่านไปได้คว้าเหรียญทองทันที และก่อนตัดสินใจไม่ออกมายกหนที่ 3 จากสถิติดีที่สุดที่เธอทำ 120 กก. นั้นดีกว่าสถิติโลกมาตรฐานที่กำหนดไว้ 115 กก. ด้วย ขณะที่โสภิตาเรียกเหล็กครั้งแรก 102 กก. ยกผ่านไปได้ แม้ครั้งที่ 2 จะยกผ่านที่ 108 กก. แต่มีอาการบาดเจ็บหัวเข่าซ้าย ทำให้ยกครั้งที่ 3 กัดฟันยก 109 กก. สุดท้ายไม่ผ่าน สถิติอยู่ที่ 108 กก. ได้ที่ 4 ขณะที่เหรียญเงินเป็นของฮัว จีฮุย จากจีน 115 กก., เหรียญทองแดง เจียง ฮุยฮัว จากจีน 114 กก.
ขณะที่น้ำหนักรวม เหรียญทอง ชยุตรา 209 กก., ซึ่งดีกว่าสถิติโลกมาตรฐานที่ตั้งไว้ที่ 203 กก. เหรียญเงิน ฮัว จีฮุย จากจีน 208 กก., เหรียญทองแดง เจียง ฮุยฮัว จากจีน 206 กก. ส่วนโสภิตา 201 กก. ได้ที่ 4
อนึ่ง การแข่งขันระดับโลกก่อนหน้านี้มีเพียงรุ่น 48 กก.หญิง แต่ในการแข่งขันรายการนี้ฝ่ายจัดการแข่งขันได้กำหนดรุ่น 49 กก.หญิงขึ้นมาเป็นครั้งแรก และตั้งค่าน้ำหนักมาตรฐานโลกเอาไว้ จึงทำให้นักกีฬาไทยสามารถทำสถิติโลกขึ้นมาใหม่ได้ในรุ่น 49 กก.