หน้าแรกแกลเลอรี่

ยกเครื่องโต๊ะเล็ก! 'บิ๊กป๋อม' วางยุทธศาสตร์ 3 ช่วงพัฒนาทีมให้ก้าวหน้า

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

28 ก.พ. 2561 12:30 น.

ยกเครื่องฟุตซอลไทยใหม่ ให้ก้าวหน้าและไม่ถูกชาติคู่แข่งไล่ตามได้ทัน “บิ๊กป๋อม” อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ วางยุทธศาสตร์ 3 ระยะ สั้น 2 ปี กลาง 6 ปี และยาว 10 ปี พร้อมดึง 8 กุนซือโต๊ะเล็กเป็นคณะกรรมการพัฒนาเทคนิคฟุตซอลทีมชาติไทย เดินหน้าพัฒนาเต็มรูปแบบ...

วันที่ 28 ก.พ.61 “บิ๊กป๋อม” อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ ประธานพัฒนาฟุตซอลไทย เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับ สรัญ รังคสิริ ที่ปรึกษานายกสมาคมกีฬาฟุตบอลด้านฟุตซอลและฟุตบอลชายหาด และผู้จัดการทีม และสตาฟฟ์โค้ช ผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ เพื่อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับการพัฒนาและยกระดับวงการฟุตซอล โดยได้ข้อสรุปว่า ในปี 2008 ทีมชาติไทยเริ่มนำระบบและโค้ชสเปน (ปูลปิส) เข้ามา ปรับใช้กับทีมชาติไทย และเริ่มการสร้างทีมชาติไทย ชุดยู-21 ในปีเดียวกัน เพื่อเตรียมไว้สำหรับการแข่งขันฟุตซอลโลก ปี 2012 และ 2016 ตามลำดับ

ทีมชาติไทยประสบความสำเร็จจากผู้เล่นกลุ่มนี้ที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมากว่า 10 ปีที่ผ่านมา อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง จากการเป็นรองแชมป์เอเชีย ในปี 2012 และเข้ารอบ 16 ทีม ในการแข่งขันฟุตซอลโลก ในปี 2012 และ 2016 และในระดับสโมสรเป็นแชมป์เอเชียในปี 2013 และ 2017, การพัฒนาผู้เล่นชุดยู-21 ขาดความต่อเนื่องหลายปี (2012-2016) ทำให้การพัฒนารุ่นต่อรุ่น โอกาสและประสบการณ์ของผู้เล่นใหม่ๆในเวทีนานาชาติมีค่อนข้างจำกัดและเป็นไปโดยไม่ปะติดปะต่อในด้านการทดแทน การพัฒนาผู้เล่นชุดยู-20 เริ่มกลับมาอีกครั้งในปี 2017 ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเสริมสร้าง 2-3 ปี ที่จะก้าวมาเป็นกำลังหลักได้

การแข่งขันของทีมชาติไทยในแต่ละปฏิทินรอบปี ทั้งในระดับอาเซียนและเอเชีย มีจำนวนมาก กอปรกับการแข่งขันลีกภายในประเทศ รวมทั้งระดับสโมสรอาเซียนและเอเชีย ทำให้ผู้เล่นทีมชาติไทยมีภารกิจทั้งปี ไม่มีเวลาหยุดพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ชาติต่างๆในเอเชียพัฒนาขึ้นหลายชาติมีการลงทุนในด้านผู้ฝึกสอน การเทรนนิ่ง พัฒนาการด้านเทคนิค รวมถึงการพัฒนาด้านการแข่งขันภายใน จะเห็นได้ว่าฟุตซอลยู-20 ชิงแชมป์เอเชียที่ผ่านมามีทีมชาติเข้าร่วมถึง 21 ทีม

รูปแบบและระบบการเล่นของทีมชาติไทยและสโมสรไทย ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากใน 10 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกวิเคราะห์ เจาะลึกจากชาติต่างๆในเอเชีย โดยตั้งแต่การแข่งขันชิงแชมป์อาเซียน ที่เวียดนาม เริ่มปรับใช้การเล่นระบบใหม่ แท็กติกใหม่ๆ แต่ยังไม่สมดุลลงตัว และรูปแบบการตัดสิน มีการปรับเปลี่ยนโดยสามารถให้มีการปะทะด้วยการใช้ร่างกาย ส่งผลถึงทีมที่เสียเปรียบด้านสรีระ จากเดิมที่นักเตะไทยมีรูปร่างเล็ก คล่องแคล่ว สามารถเรียกฟาวล์ได้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป จึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในด้านสมรรถภาพร่างกาย

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ฟุตซอลไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในระยะสั้น 2 ปี (ฟุตซอลโลก 2020) ระยะกลางและระยะยาวใน 6 ปี และ 10 ปี ข้างหน้า (ฟุตซอลโลก 2024 และ 2028) โดยบูรณาการในด้านการแข่งขันภายในลีกอาชีพ และการบริหารจัดการทีมชาติให้สอดคล้องและเอื้ออำนวยต่อความต่อเนื่องและความสำเร็จในการพัฒนาทีมชาติไทย โดยจะทำการจัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาเทคนิคฟุตซอลทีมชาติไทย” (FUTSAL TECHNICAL COMMITTEE) มีวัตถุประสงค์ พัฒนาโครงสร้างและรูปแบบการเล่น ในทุกๆ องค์ประกอบให้เหมาะสมกับคุณลักษณะของผู้เล่นไทยและสอดคล้องกับพัฒนาการฟุตซอลทั่วโลก ในปัจจุบันและอนาคต วางระบบที่มีมาตรฐานเดียวกัน ถ่ายทอดสู่สโมสร ทุกสโมสรในลีกให้พัฒนาไปในทิศทางเดียวกันครอบคลุมทั้งการพัฒนาเยาวชนตามสถานศึกษาต่างๆ, นำเสนอและกำหนดแนวทางในการเสริมสร้างทีมชาติไทยชุดต่างๆ ทั้งชุด ยู-18, ยู-20, ยู-23 จนถึงทีมชาติชุดใหญ่และทีมฟุตซอลหญิง รวมทั้งการจัดแยกชุดทีมเข้าร่วมการแข่งขันแต่ละรายการ และจัดทำยุทธศาสตร์ระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อพัฒนาฟุตซอล ไทยให้แข็งแรงและยั่งยืนในอนาคต

โดยคณะกรรมการพัฒนาเทคนิคชุดนี้ จะมีประธานพัฒนาฟุตซอล “บิ๊กป๋อม” อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ เป็นประธาน ส่วนรายชื่อคณะกรรมการอีก 8 คน ประกอบด้วย มร.โฆเซ มาเรีย ปาซอส เมนเดซ (ปูลปิส), พัทยา เปี่ยมคุ้ม (เฮดโค้ชทีมสุราษฎร์ธานี), อุดม ทวีสุข (เฮดโค้ชทีมฟุตซอลหญิงไทยและเฮดโค้ชการท่าเรือ ฟุตซอลคลับ), รักษ์พล สายเนตรงาม (เฮดโค้ชทีมพีทีที บลูเวฟ ชลบุรี), สุรพงษ์ พลายอยู่–วงษ์ (เฮดโค้ชทีมสมุทรสาคร), วิศาล ไหมวิจิตร (เฮดโค้ชกรมทางหลวง), สมบัติ ปานสมุทร (เฮดโค้ช ม.เกษมบัณฑิต) และนายสุชิน เอี่ยมฉลาด (เฮดโค้ชแบงค็อก บีทีเอส)

ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาเทคนิคฯ จะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 6 มี.ค.2561 เวลา 14.00 น. ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย