หน้าแรกแกลเลอรี่

คนไทยคว้ารางวัล! ส.บอล เผยผลโหวตต้นแบบโลโก้ใหม่ช้างศึก

ไทยรัฐออนไลน์

18 ก.ย. 2560 11:00 น.

"ต่อพงศ์ บูรณพิเชษฐ์" คือผู้ชนะเลิศการประกวดต้นแบบโลโก้ใหม่ทีมชาติไทย โดยได้รับคะแนนโหวตออนไลน์อย่างท่วมท้นถึง 42 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางสมาคมฯ จะนำไปพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ต่อไป...

วันที่ 18 ก.ย. 60 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประกาศผลรางวัลชนะเลิศ การประกวดต้นแบบสัญลักษณ์แบบใหม่ของทีมชาติไทย ซึ่งมีการเปิดให้แฟนบอลลงคะแนนเสียงเลือกผ่านระบบออนไลน์ไปก่อนหน้านี้

จากการที่สมาคมฯ มีความประสงค์ที่จะออกแบบสัญลักษณ์ภายใต้แนวคิด “ช้างศึก” จึงได้เปิดโอกาสให้แฟนบอลและบุคคลทั่วไป นำเสนอไอเดียทั้งในแบบเต็มตัวและบางส่วน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม ถึง 30 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งได้มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า 1,000 ชิ้น และคัดเลือกให้เหลือเพียง 5 ชิ้นสุดท้าย เพื่อให้แฟนบอลทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการลงคะแนน

โลโก้ต้นแบบในรอบสุดท้าย ที่เปิดโหวตให้แฟนบอลร่วมโหวต
โลโก้ต้นแบบในรอบสุดท้าย ที่เปิดโหวตให้แฟนบอลร่วมโหวต

ซึ่งล่าสุดปรากฏว่า ผลงานของ นายต่อพงศ์ บูรณพิเชษฐ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศไปในที่สุด โดยได้รับเสียงโหวตสูงถึง 42 เปอร์เซนต์ ส่วนรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ นายพิสุทธิ์ กองกิจ และ Mr. Adiet Firmansyah โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัล 100,000 บาท และรางวัลชมเชย 2 รางวัล รางวัลละ 30,000 บาท

ผลงานต้นแบบที่ถูกเลือก
ผลงานต้นแบบที่ถูกเลือก

โดยสมาคมฟุตบอลฯ จะเปิดให้มีการร้องเรียนเป็นระยะเวลา 15 วัน หากพบว่าผลงานทั้ง 3 ชิ้นมีการลอกเลียนแบบ หรือคล้ายคลึงกับผลงานอื่นก่อนหน้านี้ ผ่านทางอีเมล info@fathailand.org แต่หากไม่มีผู้ร้องเรียน ผลตัดสินจะถือเป็นที่สิ้นสุด และจะเชิญผู้ออกแบบทั้ง 3 ผลงานมารับรางวัลและเซ็นสัญญา ก่อนมีการพัฒนาให้สมบูรณ์ต่อไป

นอกจากนี้ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยังเผยอีกว่า สาเหตุที่ไม่นำตราพระมหาพิชัยมงกุฎ มาใช้ประกอบโลโก้ใหม่ของทีมชาติไทย เนื่องจากได้ปรึกษากับผู้ทรงคุณวุฒิที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งต่างก็ลงความเห็นว่าสมควรจะใช้เฉพาะในโอกาสสำคัญ และอยู่ในจุดที่สูงส่งสง่างามเพื่อความสมเกียรติเท่านั้น

ทั้งนี้ จากการที่ทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่งทางฟีฟ่าได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ชาติสมาชิกจะต้องยินยอมให้ฝ่ายจัดการแข่งขันสามารถนำตราสัญลักษณ์ทีมชาติไปใช้โปรโมตการแข่งขันได้ทันที ทำให้ทางสมาคมฯ เล็งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควร หากเกิดกรณีที่ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ ถูกนำไปวางไว้ในตำแหน่งอันไม่เหมาะสม.