หน้าแรกแกลเลอรี่

อุทัยธานี ยื่นฟ้องเปา เกมเจ๊า “ราชบุรี” ในศึกไทยลีก ไม่เป็นผล คณะวินัยฯ ยันตัดสินถูกต้อง

ไทยรัฐออนไลน์

28 ส.ค. 2567 11:25 น.

อุทัยธานี ยื่นฟ้องเปา เกมเจ๊า “ราชบุรี” ในศึกไทยลีก ไม่เป็นผล คณะวินัยฯ ยันตัดสินถูกต้อง-สรุปผลพิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ไทยลีก 1, 2 และฟุตซอลไทยลีก

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 3 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน จำนวน 3 คู่ และ เหตุการณ์ผิดปกติในการแข่งขันฟุตซอล จำนวน 1 คู่ ดังนี้

1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการเมืองไทย ลีก (ไทยลีก 2) วันที่ 17 สิงหาคม 2567 คู่ระหว่างสโมสร ลำปาง เอฟซี พบ สโมสร แพร่ ยูไนเต็ด

- เหตุการณ์หยุดการแข่งขันเป็นเวลานาน ที่กระทบต่อภาพลักษณ์การแข่งขัน

คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ได้ขอให้คณะกรรมการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสิน พิจารณาเหตุการณ์ที่ผู้ตัดสินไม่ควบคุมการแข่งขัน ปล่อยให้ผู้เล่นทั้ง 2 ทีมประท้วงไม่เข้าสู่การแข่งขัน ทำให้หยุดการแข่งขันเป็นเวลานาน เป็นความบกพร่องของผู้ตัดสินหรือไม่ และขอให้คณะกรรมการผู้ควบคุมการแข่งขัน พิจารณาการทำหน้าที่ของผู้ควบคุมการแข่งขัน ที่ไม่ได้เร่งรัดแจ้งให้ทั้งสองทีมลงทำการแข่งขันต่อตามคำตัดสินของผู้ตัดสิน และไม่ได้จัดพื้นที่เขตเทคนิคให้พร้อมที่จะเริ่มการแข่งขันต่อ จนทำให้หยุดการแข่งขันเป็นเวลานาน เป็นความบกพร่องของผู้ควบคุมการแข่งขัน หรือไม่

- ผลพิจารณา

ลงโทษ นายเสกสรร พันธ์ศรี ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน เนื่องจากผู้ตัดสินไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกติกา Laws of the Game 2024/25 หัวข้อที่ 5 ข้อ 3 Powers and duties และระเบียบการแข่งขันที่สมาคมกำหนด ปล่อยให้เหตุการณ์ล่าช้าออกไปเกือบ 1 ชั่วโมง ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของการแข่งขันและสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย

สำหรับผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1-2 และผู้ตัดสินที่ 4 รวมถึงผู้ประเมินผู้ตัดสิน คณะกรรมการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสิน เห็นว่าไม่มีความบกพร่อง เพราะถือเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตัดสินในการตัดสินใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ลงโทษ นายขจร ตรีโสภณากร ผู้ควบคุมการแข่งขัน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ลงโทษ ตักเตือน เนื่องจาก ผู้ควบคุมการแข่งขันได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะต้องดำเนินการให้สามารถเริ่มการแข่งขันและสิ้นสุดการแข่งขันลงด้วยความเรียบร้อยปลอดภัยสมบูรณ์แล้ว แต่ผู้ควบคุมการแข่งขันได้ทำเกินกว่าอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ที่เสนอเวลาให้กับทีมลำปาง เอฟซี ต้องกลับมาแข่งขันใหม่ภายใน 15 นาที ซึ่งควรเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตัดสินในการควบคุมเวลาในสนามแข่งขัน แต่เมื่อผู้ตัดสินไม่ได้ดำเนินการ จึงทำให้ผู้ควบคุมการแข่งขันดำเนินการแทนไปโดยไม่แจ้งผู้ตัดสินทราบก่อนตามอำนาจหน้าที่

2. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการรีโว่ ไทยลีก (ไทยลีก 1) วันที่ 17 สิงหาคม 2567 คู่ระหว่างสโมสรราชบุรี เอฟซี พบ สโมสร อุทัยธานี เอฟซี (สโมสรอุทัยธานี เอฟซี ร้องเรียนมา 1 เหตุการณ์) 

- เหตุการณ์

ในนาทีที่ 9 ผู้เล่นหมายเลข 32 MR. JHONATHAN ALEXANDER AGUDELO VELASQUEZ สโมสรอุทัยธานี เอฟซี ได้แตะบอลหลบผู้รักษาประตูหมายเลข 99 นายกัมพล ปฐมอรรฆย์กุล สโมสรราชบุรี เอฟซี ในกรอบเขตโทษของสโมสรราชบุรี เอฟซี จังหวะต่อเนื่องนั้นผู้รักษาประตูได้สไลด์ตัวและใช้แขนพุ่งเข้ามาเพื่อที่จะสกัดลูกบอล แต่เกิดการปะทะกันเกิดขึ้น ผู้ตัดสินไม่ได้เป่าให้ฟาล์วและให้จุดโทษ รวมถึงผู้ตัดสิน VAR ไม่ได้เรียกผู้ตัดสินมา on field review แต่อย่างใด

- ผลพิจารณาโทษ

พฤติกรรมของผู้รักษาประตูหมายเลข 99 นายกัมพล ปฐมอรรฆย์กุล สโมสรราชบุรี เอฟซี ที่เข้ามาเล่นลูกบอลแต่ช้าจังหวะทำให้มือไปสัมผัสที่เท้าของผู้เล่นหมายเลข 32  MR.JHONATHAN ALEXANDER AGUDELO VELASQUEZ สโมสรอุทัยธานี เอฟซี ในลักษณะที่เป็นปกติของการเล่นทั่วไปไม่มีน้ำหนักหรือความรุนแรง ประกอบกับได้พยายามชักมือกลับเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดกติกา และในช่วงเวลาเดียวกันผู้เล่นหมายเลข 32 MR. JHONATHAN ALEXANDER AGUDELO VELASQUEZ สโมสรอุทัยธานี เอฟซี ได้ใช้จังหวะนี้ในการกระโดดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ จึงถือว่าผู้เล่นทั้งสองไม่มีการทำผิดกติกาแต่อย่างใด นายอลงกรณ์ คนไว ผู้ตัดสิน และนายวิวรรธน์ จำปาอ่อน ผู้ตัดสินวีดิทัศน์ (VAR) ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง

ลงโทษ นายอรรถกร เวชการ ผู้ประเมินผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดบกพร่อง ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (2) ภาคทัณฑ์ เนื่องจากไม่เขียนรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

3. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการรีโว่ ไทยลีก (ไทยลีก 1) วันที่ 18 สิงหาคม 2567 คู่ระหว่างสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด พบ สโมสรลำพูน วอริเออร์  (สโมสรลำพูน วอริเออร์ ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์) 

- เหตุการณ์

1. ในนาทีที่ 46 ผู้เล่นหมายเลข 89 นายธีรวุธ ชูโลก สโมสรลำพูน วอริเออร์ ถูกผู้เล่นหมายเลข 19 นายทริสตอง โด สโมสร เมืองทอง ยูไนเต็ด เจตนาเข้าสกัดอย่างรุนแรงโดยเปิดปุ่มสตั๊ดเหยียบไปบริเวณข้อเท้าซ้าย ทำให้ได้รับบาดเจ็บหนักและไม่สามารถทำการแข่งขันต่อได้ ในจังหวะนี้ผู้ตัดสินได้มีการเป่าให้ฟาล์ว แต่ไม่ได้มีการคาดโทษ (ใบเหลือง) หรือไล่ออก (ใบแดง) กับผู้เล่นหมายเลข 19 นายทริสตอง โด สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด รวมถึงผู้ตัดสิน VAR ไม่ได้เรียกผู้ตัดสินมา on field review แต่อย่างใด

2. ในนาทีที่ 66 ผู้เล่นหมายเลข 5 MR.ABBOS OTAKHONOV สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ได้สกัดบอลแล้วบอลไปโดนแขนของผู้เล่นหมายเลข 2 นายวิทยา มูลวงศ์ สโมสรลำพูน วอริเออร์ จังหวะต่อมาบอลกระดอนไปเข้าทางผู้เล่นหมายเลข 94 MR.JEFFERSON MATEUS ASSIS ESTACIO สโมสรลำพูน วอริเออร์ ซึ่งได้ส่งบอลต่อให้ผู้เล่นหมายเลข 11 นายอนันต์ ยอดสังวาลย์ สโมสรลำพูน วอริเออร์ ทำประตูเข้าไป หลังจากนั้นผู้ตัดสินได้ทำการตรวจสอบ VAR และได้ทำการยกเลิกการให้เป็นประตูกับสโมสรลำพูน วอริเออร์ 

- ผลพิจารณาโทษ

1. ลงโทษ นายวีรพล เม่าแพ้ว ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 สัปดาห์ เนื่องจากผู้เล่นหมายเลข 19 นายทริสตอง โด สโมสร เมืองทอง ยูไนเต็ด เจตนาเข้าสกัดโดยการพุ่งสไลด์เปิดปุ่มสตั๊ดไปถูกบริเวณข้อเท้าซ้ายของผู้เล่นหมายเลข 89 นาย ธีรวุธ ชูโลก สโมสร ลำพูน วอริเออร์ อย่างรุนแรงทำให้ได้รับบาดเจ็บหนักและไม่สามารถทำการแข่งขันต่อได้ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง (Serious foul play) ผู้ที่กระทำผิดจะต้องถูกไล่ออก (ใบแดง) ตามกติกาข้อ 12 หน้า 114

ลงโทษ นายนพภเดช เมืองงาม ผู้ตัดสินวีดิทัศน์ (VAR) ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 สัปดาห์ เนื่องจากได้ทำการตรวจสอบแล้วเห็นด้วยกับคำตัดสินของผู้ตัดสินจึงแจ้งยืนยันโดยไม่มีการให้ผู้ตัดสินออกมาตรวจสอบข้างสนาม (On-field review) ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตาม VAR Protocol

2. ขณะที่ผู้เล่นหมายเลข 2 นายวิทยา มูลวงศ์ สโมสรลำพูน วอริเออร์ วิ่งเข้ามาแย่งบอล แขนอยู่ในลักษณะที่ยกขึ้นกางออกทำให้ร่างกายใหญ่โดยไม่เป็นธรรมชาติ ตำแหน่งแขนอยู่ในความสุ่มเสี่ยง เมื่อลูกบอลมาสัมผัสถือเป็นความผิดตามกติกาข้อ 12 หน้า 106 Handling the ball นายวีรพล เม่าแพ้ว ผู้ตัดสิน และนายนพภเดช เมืองงาม ผู้ตัดสินวีดิทัศน์ (VAR) ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง

กรณีเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันกีฬาฟุตซอล 

1. การแข่งขันฟุตซอลรายการไทยลีก ประจำฤดูกาล 2567/68 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 คู่ระหว่างสโมสร แบงค็อก บีทีเอส เอฟซี พบ สโมสรฟุตซอล การท่าเรือ เอเอสเอ็ม 

- เหตุการณ์

ในนาทีที่ 36 กองเชียร์สโมสรแบงค็อก บีทีเอส เอฟซี ประสานเสียงตะโกนด่าผู้ตัดสินที่ 2 พร้อมเพรียงกันด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย บริเวณด้านหลังประตูทีมเหย้า  

- ผลการพิจารณา 

การกระทำดังกล่าวฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท และข้อประท้วงการแข่งขันกีฬา ฟุตซอลฯ ตามหมวดที่ 3 ข้อ 6.2 เป็นการกระทำผิดครั้งแรก จึงลงโทษกองเชียร์สโมสรแบงค็อก บีทีเอส เอฟซี ปรับเงินจำนวน 5,000 บาท