หน้าแรกแกลเลอรี่

ทำไม (54 วัน)

พาวเวอร์บอมบ์

13 ก.ค. 2567 05:13 น.

เจาะโปรแกรมไทยลีก : ทำไมสมาคมหยุดเลกแรก 54 วัน

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตัดสินใจหยุดการแข่งขันเลกแรกของศึกรีโว่ ไทยลีก 2024/25 ถึง 54 วัน ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางถึงระยะเวลา “หยุดพัก” ที่นานเกินไป เมื่อฟังจากเพียงแค่ตัวเลข โดยนับตั้งแต่หลังจบเกมเลกแรก วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ถึง 3 มกราคม 2568 ก่อนเปิดเลกสอง 1 วัน คือ วันที่ 4 มกราคม 2568

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูโปรแกรมไทยลีกอย่างละเอียด แท้จริงแล้วการหยุดรวมถึง 54 วัน มาจากอะไรบ้าง? และรวมกับช่วงเวลาไหนบ้าง? ที่การแข่งขันต้องหยุดพอดี

-ไทยลีก นัดสุดท้ายของเลกแรก วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567

-ฟีฟ่า เดย์ วันที่ 11-19 พฤศจิกายน 2567 *เป็นช่วงที่ลีกหยุดต่อเนื่องพอดี (รวม 9 วัน)

-ชิงแชมป์อาเซียน 2024 วันที่ 23 พฤศจิกายน-21 ธันวาคม 2567 *เป็นช่วงที่สมาคมตัดสินใจหยุดการแข่งขันไทยลีก (รวม 29 วัน)

-ฟุตบอลถ้วยรีโว่ คัพ รอบ 32 ทีมสุดท้าย วันที่ 25 ธันวาคม 2567 *ทีมไทยลีกเริ่มแข่งขันในรอบนี้

-ช่วงสิ้นปี วันที่ 26 ธันวาคม-3 มกราคม 2568 *เป็นช่วงที่ลีกหยุดปกติ (อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้น ยังมีคู่ตกค้าง 1 คู่ คือ บุรีรัมย์-บีจี วันที่ 28 ธันวาคม)

-เปิดเลกสอง วันที่ 4 มกราคม 2568

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อนับจากช่วงหลังจบเลกแรกไปจนถึงกลับมาแข่งขันในช่วงเลกสองกินระยะเวลานานถึง 54 วันพอดี

แต่หากดูจากโปรแกรมอย่างละเอียดแล้วนั้น การที่สมาคมหยุดรวมถึง 54 วัน มาจากฟีฟ่า เดย์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน รวม 9 วัน ที่ต้องหยุดอยู่แล้วต่อเนื่องพอดี หลังเกมเลกแรก, ชิงแชมป์อาเซียน 2024 รวม 29 วัน ที่สมาคมเลือกหยุดเอง และหยุดการแข่งขันในช่วงสิ้นปีตามปกติ ก่อนเปิดเลกสอง

อีกทั้งก็ไม่ใช่การหยุดยาวทั้งหมด เพราะ หลังจบชิงแชมป์อาเซียน 2024 ทีมไทยลีกก็ต้องกลับมาแข่งขันฟุตบอลถ้วย รีโว่ คัพ รอบ 32 ทีม วันที่ 25 ธันวาคม 2567 และยังมีคู่ตกค้าง ระหว่าง บุรีรัมย์-บีจี ปทุมฯ วันที่ 28 ธันวาคม 2567 ขณะที่เลกสองจะเปิดวันที่ 4 มกราคม 2568

@@@@@@@

ทันทีที่มีการประกาศไทม์ไลน์ฟุตบอล “ไทยลีก” ฤดูกาลใหม่ออกมา

หลายคนสงสัยกรณีการปิดพักลีกที่ยาวนานกว่าปกติ

ข้อความข้างบนคือคำอธิบาย พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่ได้รับแจ้งมาจาก บ.ไทยลีก

แฟนานุแฟนโปรดพิจารณากันตามสะดวก

แต่เท่าที่อ่านดูแล้ว เห็นว่าทั้งหมดทั้งมวล เป็นการเตรียมความพร้อม และให้ความสำคัญกับ “ทีมชาติไทย” ในการกรำศึกรายการต่างๆ

เหตุผลจึงน่าจะพออนุมานได้ว่า

“ทีมชาติไทย” = “ทีมของคนไทยทุกคน”.

พาวเวอร์บอมบ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “เรียงหน้าชน” เพิ่มเติม