ไทยรัฐออนไลน์
มีข่าวว่า จเด็จ มีลาภ และ หนึ่งฤทัย สระทองเวียน จ่อขึ้นคุมทีมชาติไทยซ้อม-อุ่นเครื่องชั่วคราว หลัง มาโน โพลกิง คุมทีมลุยซีเกมส์ 2021 สิ่งที่อาจเกิดขึ้นจากนี้คืออะไร
วันที่ 12 เม.ย. 65 หลังจากเมื่อวานที่ผ่านมา (11 เม.ย.) มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า มาโน โพลกิง จะมารับหน้าที่กุนซือทีมชาติไทย ชุดสู้ศึกซีเกมส์ 2021 ชั่วคราว โดย "ช้างศึก" อยู่กลุ่มบี ร่วมกับ มาเลเซีย, กัมพูชา, สิงคโปร์ และ ลาว เริ่มฟาดแข้ง 7-22 มิถุนายนนี้ โดยไม่ปลด "โค้ชโย่ง" วรวุธ ศรีมะฆะ และจะให้ไปคุมทีมลุยศึก ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย 2022 เดือนมิถุนายน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก
กระทั่งล่าสุดยังมีข่าวโหมออกมาอีกว่า จเด็จ มีลาภ และ หนึ่งฤทัย สระทองเวียน สองกุนซือดีกรีโปรไลเซนส์ที่เคยทำงานกับ "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ลํ่าซำ ผู้จัดการทีมชาติไทยชุดใหญ่และยู-23 มาก่อนหน้านี้ในฐานะ ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี และ ผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย จ่อรับหน้าที่กุมบังเหียน "ช้างศึก" ชุดใหญ่ซ้อมชั่วและจะลงฟาดแข้งเกมอุ่นเครื่อง 1 นัด ชั่วคราวในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ ทำให้แฟนบอลจำนวนมากออกมาตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเกิดระบบ "ครอบครัว" ในทีมชาติไทย ในแง่มุมที่ไม่เห็นด้วยอย่างมาก
ทีมข่าวไทยรัฐสปอร์ตขอวิเคราะห์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหากข่าวลือดังกล่าวกลายเป็นความจริง
โค้ชตัวจริงขาดความต่อเนื่องคุมทีม พาผลงานในชิงแชมป์เอเชียบู่
อย่างที่ทราบกัน ทีมชาติไทยชุดใหญ่และยู-23 มีโปรแกรมสำคัญในศึกชิงแชมป์เอเชีย ชุดใหญ่แข่งขันวันที่ 8-14 มิถุนายน (รอบคัดเลือก) ส่วนชุดยู-23 แข่งวันที่ 1-19 มิถุนายน (รอบสุดท้าย) ซึ่งโปรแกรมนับจากวันนี้ที่โค้ชตัวจริงของแต่ละชุดจะได้วัดฟอร์มนักเตะยามตนเองเป็นคนคุมข้างสนาม... ชุดใหญ่มีเพียง เกมอุ่นเครื่อง 3 นัด (21, 27 และ 31 พฤษภาคม) ส่วน ยู-23 คือช่วง 1 สัปดาห์ก่อนแข่งขันโดยจะเรียกเก็บตัวที่ 27 พฤษภาคม (แข่งนัดแรก 2 มิถุนายน)
เมื่อโค้ชตัวจริงอย่าง มาโน โพลกิง ที่ควรต้องคุมชุดใหญ่ตั้งแต่การเข้าเก็บตัววันแรก (16 พฤษภาคม) ก่อนลุยเกมนัดแรกอย่างเป็นทางการในชิงแชมป์เอเชีย วันที่ 8 มิถุนายน จะไม่สามารถโฟกัสกับ "ช้างศึก" ชุดใหญ่ได้เต็มที่จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม (หากไทยยู-23 เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศซีเกมส์)
เช่นเดียวกับ วรวุธ ศรีมะฆะ ที่จะห่างกับเด็กที่ปลุกปั้นมากับมือตั้งแต่ชิงแชมป์เอเชีย 2022 รอบคัดเลือกที่ประเทศมองโกเลีย และ ดูไบ คัพ 2022 จนไม่มีเวลาลงซ้อมอย่างเต็มที่ (อีกแล้ว) อาจส่งผลต่อฟอร์มในรายการสำคัญ (กว่า ซีเกมส์) อย่าง ยู-23 ชิงแชมป์เอเชียเช่นกัน อ้างอิงจากผลงานใน ซูซูกิ คัพ แม้ มาโน พาทีมคว้าแชมป์ได้ แต่นั่นคือรายการระดับอาเซียน แต่การมาแข่งในหนนี้ มีเพียง 3 เกมเพื่อตัดสินว่า ไทย จะดีพอเข้ารอบสุดท้ายชิงแชมป์เอเชียหรือไม่ ฉะนั้นจากนี้ไม่มีพื้นที่ให้ทีมที่มีข้อผิดพลาดได้แก้ตัวบ่อยๆ เช่นกันกับ ดูไบ คัพ ที่ต้องเจอคู่แข่งระดับเอเชีย "โค้ชโย่ง" มีเวลาคุมซ้อมเพียง 1 ชั่วโมงก่อนแข่งขัน จนจบรายการดังกล่าวไปด้วยการปราชัยทั้ง 3 เกม จบอันดับสุดท้าย เกรงว่าถ้า "เวลา" เตรียมตัวมีไม่มากเท่าทีมอื่น ผลงานที่ออกมาอาจไม่เป็นไปดั่งที่ต้องการ
ผลงานในซีเกมส์จะเป็นอย่างไรหาก มาโน ทำทีม
ต้องยอมรับว่า แม้ มาโน โพลกิง คือกุนซือที่คลุกคลีกับฟุตบอลไทยมานาน ขนาดการสอบโปร ไลเซนส์ สำหรับคุมทีมยังอบรมและจบหลักสูตรในไทย เขามีความเข้าใจฟุตบอลไทยเป็นอย่างดี แต่... ผลงานที่ผ่านมาเห็นประจักษ์แล้วว่า กุนซือรายนี้อยู่กับฟุตบอลระดับสโมสรชุดใหญ่มาตลอด การอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2011 มีเพียงปี 2013 ช่วงสั้นๆ เท่านั้น ที่เคยคุมทีมชาติไทย ยู-22 ลุยศึกชิงแชมป์เอเชีย แต่นั่นมันก็เกือบ 10 ปีที่แล้ว มาวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด มาโน อาจไปดูเกมไทยลีก และที่ผ่านมามีเรียกแข้งหน้าใหม่ติดทีมชาติไทยชุดใหญ่หลายราย แต่นักเตะชุดยู-23 (ที่เล่นได้) ที่ได้พิสูจน์ฟอร์มมากับมือน่าจะมีเพียงกฤษดา กาแมน, เอกนิษฐ์ ปัญญา และ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ที่มาเล่นในชุดใหญ่ ส่วนแข้งรายอื่นคงรู้จัก แต่ไม่ได้คุ้นเคยเท่า "โค้ชโย่ง" เเน่นอน ฉะนั้นการได้ตัวนักกีฬาไปแข่งซีเกมส์ในชุดไม่ฟูลทีมและที่เจ้าตัวไม่ได้สร้างขึ้นมากับมือ อาจพา ไทย ไม่ได้เฉิดฉายในการคว้าแชมป์หนนี้ก็เป็นไปได้
กระแสเก้าอี้ดนตรีเต็มโลกออนไลน์
จเด็จ มีลาภ และ หนึ่งฤทัย สระทองเวียน คือกุนซือคนคุ้นเคยของ "มาดามแป้ง" หากพูดถึงฟุตบอลหญิง ยังพอเข้าใจว่า อาจไม่มีโค้ชที่ฝีไม้ลายมือดีและมีความเข้าใจผู้หญิงด้วยกันดีเท่า "โค้ชหนึ่ง" ส่วนระดับสโมสรก็ยังพอทน เงื่อนไขการหาโค้ชที่เข้าใจทีมในเวลาจำกัดอาจเป็นสิ่งขัดขวางการตั้งโค้ชใหม่แกะกล่อง แต่ในเวทีทีมชาติทุกอย่างเปิดกว้าง แต่ทำไมยังเห็นโค้ชที่ดีพอที่จะใช้งานเพียง "จเด็จ" และ "หนึ่งฤทัย" จนมีคอมเมนต์ที่มีคีย์เวิร์ดสำคัญอย่างคำว่า "ครอบครัว" เป็นจำนวนมาก และจะมากกว่านี้อีกหากแต่งตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ
ซีเกมส์-ชิงแชมป์เอเชีย ควรโฟกัสรายการใดมากกว่า (แถม)
จริงๆ ฟุตบอลชายในซีเกมส์ไม่ควรถูกลดทอนคุณค่าความสำคัญ หากแข่งขันโดยไม่มีโปรแกรมใดๆ มาทับซ้อน แต่เมื่อมีการปรับกฎแข่งขันให้ใช้นักเตะรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ตั้งแต่ปี 2001 ผลการแข่งขันไม่ถูกคำนวณคะแนนจากฟีฟ่า และที่เพิ่มเข้ามาคือ โปรแกรมชนกับฟุตบอลในประเทศ ฉะนั้นถ้าลำดับความสำคัญเมื่อมาเทียบกับ ชิงแชมป์เอเชีย ที่ทั้งชุดใหญ่ และ ยู-23 จะแข่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ในช่วงฟีฟ่า เดย์ และเป็นรายการระดับเอเชีย มีคิดคะแนนฟีฟ่า แรงกิง (ชุดใหญ่) และเมื่อขยับโปรแกรมเพื่อเอื้อให้ทีมชุดซีเกมส์แล้ว ก็ยังเห็นว่า ขยับได้เพียงบางส่วน (ลีก คัพ และ ลีก) ขยายความด้วย 1 กรณีสำคัญ ถ้าสโมสรอย่าง ชลบุรี เอฟซี ส่งนักเตะ ยู-23 ไปเล่นซีเกมส์ที่ต้องแข่ง 6 นัด ใน 15 กลับถึงไทยอย่างเร็ววันที่ 23 พฤษภาคม จากนั้นแข่งรอบรองชนะเลิศ ลีก คัพ วันที่ 25 พฤษภาคม เท่ากับมีเวลาพักเพียง 2 วัน ยังไม่นับรวมอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น และ ช้าง เอฟเอคัพ ก็ยังชนโปรแกรมในรอบรองเเละชิงชนะเลิศของ ซีเกมส์ จึงสามารถบอกได้ตามหลักความจริงของช่วงเวลาที่ปรากฏออกมาว่า "ควรให้ความสำคัญ" กับ "ชิงแชมป์เอเชีย" เดือนมิถุนายนทั้งสองชุดมากกว่า "ซีเกมส์"
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทีมข่าวไทยรัฐสปอร์ตได้สอบถามความคืบหน้าถึงเรื่องดังกล่าว ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จเด็จ และ หนึ่งฤทัย จะมาคุมทีมชาติไทย ชุดใหญ่ ชั่วคราวหรือไม่ สุดท้ายคดีอาจพลิกก็เป็นได้ เพราะ มาโน ยังลังเล อาจปฏิเสธคุมไทยลุยซีเกมส์ เพราะ 50 รายชื่อที่เลือกมา ซึ่งลงทะเบียนได้ 17+3 (โควตาอายุเกิน) เจ้าตัวไม่ได้เป็นคนเลือกมา หากรับคุมแล้วผลงานไม่ดี ก็ไม่รู้จะเกิดอะไรในอนาคต.