หน้าแรกแกลเลอรี่

ตราพระมหามงกุฎ...เกียรติยศการรักชาติ (2)

บี บางปะกง

1 พ.ย. 2564 09:01 น.

(ต่อตอนที่แล้ว) ในรัชสมัย “พระผู้พระราชทานกำเนิดฟุตบอลสยาม” รัชกาลที่ 6 นั้น ทีมชาติสยามจะสวมเสื้อสีแดงคาดขาว และมี “ตราพระมหามงกุฎ” ที่อกเสื้อด้านซ้าย สำหรับการลงแข่งขันระหว่างชาติ ผลปรากฏว่าไม่เคยปราชัยให้แก่ชนชาวต่างชาติ แม้แต่นัดเดียว

นอกจากนี้ ทีมชาติสยามยังสามารถชนะเลิศรายการต่าง ๆ อาทิ ถ้วยราชกรีฑาสโมสร (พฤศจิกายน 2458), ถ้วยทองหลวง (ธันวาคม 2458) และถ้วยปอลลาร์ด (มกราคม 2458 การแข่งขันระหว่าง ทีมสยาม, ทีมอังกฤษ และทีมสกอตแลนด์) ซึ่งเกียรติภูมิดังกล่าวของทีมฟุตบอลชาติไทย มีการนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระหว่าง พ.ศ. 2458 - พ.ศ. 2459 (วันที่ 1 เมษายน คือวันขึ้นปีใหม่ หรือ พ.ศ. ใหม่ของสยามประเทศ)

“...วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2458 การแข่งขันฟุตบอลสำหรับถ้วยปอลลาร์ด ณ สนามราชกรีฑาสโมสร รอบสุดท้าย ระหว่าง คณะฟุตบอลสยาม ชนะ คณะชาวอังกฤษ เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานถ้วยปอลลาร์ด ให้แก่ผู้เล่นฝ่ายคณะฟุตบอลสยาม…”

ภายหลังเดือนธันวาคม 2459 รัชกาลที่ 6 จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ก่อตั้ง “ทีมในหลวง” ขึ้น โดยการคัดเลือกบรรดานักเลงฟุตบอลรายการถ้วยทองหลวงหรือถ้วยทองนักรบ เพื่อลงเล่นกับชาวตะวันตก สำหรับรายการที่มิใช่การแข่งขันระหว่างชาติ กล่าวกันว่า คือกศุโลบายในการรักษาเกียรติภูมิของทีมชาติไทย นั้นเอง

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสรรคตแล้ว ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 คณะฟุตบอลแห่งสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังคงใช้ “ตราพระมหามงกุฎ” เป็นสัญญลักษณ์บนเสื้อทีมชาติ โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างชาตินอกประเทศครั้งแรกของทีมชาติสยาม คือเดือนเมษายน พ.ศ. 2473 การเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศส ณ เมืองไซง่อน ประเทศเวียดนาม นัยว่าเป็นการทดสอบฝีเท้าเพื่อเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลตามคำเชิญของฟีฟ่า

แต่ในที่สุดต้องยกเลิก เนื่องจากต้องใช้เงินแผ่นดินเป็นจำนวนมากและการเดินทางไปทวีปอเมริกาใต้ ยังต้องเดินทางด้วยเรือเป็นเวลาแรมเดือน ทำให้ทีมชาติสยามจึงมิได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งแรก (ค.ศ. 1930) ณ ประเทศอุรุกวัย

ภายหลังคณะราษฎร์ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ทีมชาติไทยจึงเปลี่ยนไปใช้ “ธงไตรรงค์” (รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานให้เป็นธงประจำชาติเมื่อ พ.ศ. 2460) แทน “ตราพระมหามงกุฎ” ตามสถานการณ์ของบ้านเมือง

ปัจจุบัน ตราพระราชทาน “พระมหามงกุฎ” มีอายุกว่า 92 ปี เยาวชนคนไทยรุ่นใหม่อาจจะยังไม่เคยเห็นสัญลักษณ์ดังกล่าวบนเสื้อขุนศึกนักเตะธงไตรรงค์อีกเลย เนื่องจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ใช้ตราที่ชนะเลิศการประกวด เมื่อ พ.ศ. 2545 เป็นสัญลักษณ์บนเสื้อทีมชาติไทย แต่ทว่าความขลังและศรัทธาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย กับปฐมบทประวัติศาสตร์ “ตราพระมหามงกุฎ”

ในขณะที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศอังกฤษ ยังคงใช้ “ตราสิงโต” ที่แสดงถึงเอกภาพ และความสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียว โดยมีที่มาจากสถาบันสูงสุด นอกจากแสดงถึงการสืบทอดเจตนารมณ์ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของแผ่นดิน

อดีตที่ผ่านมา ทีมชาติไทยเคยมีตราพระราชทานจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงถึงการรักชาติ เช่นเดียวกับทีมชาติอังกฤษ

คงจะเป็นการดีหากในปีมหามงคล โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะได้นำตราแห่งเกียรติภูมิทีมชาติไทย “ตราพระมหามงกุฎ” กลับมาอยู่บนหน้าอกเสื้อนักฟุตบอลทีมชาติไทยอีกครั้ง ในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 38 รายการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติเพื่อร่วมฉลองพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม”

และสมดังพระราชประสงค์ของ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ล้นเกล้า ฯ ของวงการฟุตบอลเมืองไทย.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน

สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย

ขอบคุณบทความอันทรงคุณค่าที่พี่ ‘จิรัฏฐ์ จันทะเสน’ นายกสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย อนุญาตให้ผมนำมาลงในพื้นที่ “SportInsider“ตรงนี้

อยากฝากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ของสมาคมลูกหนังบ้านเราอีกสักครั้งครับว่า

ตราแห่งเกียรติภูมิทีมชาติไทย“ตราพระมหามงกุฎ”

สมควรอย่างยิ่งจะนำกลับมาอยู่บนหน้าอกเสื้อทีมชาติอีกครั้ง

อย่างถาวร !!!


- บี บางปะกง -