หน้าแรกแกลเลอรี่

อินไซด์ฟุตซอลเวิลด์คัพ...ลิทัวเนีย (9)

บี บางปะกง

11 ต.ค. 2564 06:00 น.

ท่านผู้อ่านคงได้เห็นข่าวที่นักฟุตซอลทีมชาติไทย ได้รับการอัดฉีดจากผู้สนับสนุนต่างๆ เป็นเงิน 2.9 ล้านบาท ไม่รวมกับที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่มีเงินรางวัลให้กรณีที่ทีมสามารถผ่านเข้ารอบ 16 ทีมได้ จำนวน 3 ล้านบาท รวมเป็นเงินเกือบ 6 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเฉลี่ยนักฟุตซอล 1 คน (จาก 16 คน) จะได้รับเงินเพียง 368,750 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเรามองถึงการที่นักฟุตซอลได้อุทิศเวลาในการฝึกซ้อม ในการแข่งขันหลายรายการ ทั้งทางการและเกมอุ่นเครื่อง จนผ่านเข้าไปแข่งขันฟุตซอลโลกได้ นับว่ายากเย็นระดับหนึ่งแล้ว 

ในกรณีรางวัลที่นักกีฬา ไม่ว่าบุคคล หรือทีมก็ตาม ที่สามารถผ่านการแข่งขันเข้าไปแข่งขันระดับโลก หรือระดับโอลิมปิกก็ตาม ผมขอเสนอให้ท่านผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ได้กรุณาแก้ไขกฎระเบียบในการให้รางวัลในขั้นต้นก่อน เช่น เมื่อบุคคล หรือทีม ผ่านการคัดได้เข้าแข่งขันโอลิมปิก หรือรายการระดับโลก นักกีฬาแต่ละบุคคลควรได้รับรางวัลเบื้องต้นไปก่อน ขอเสนอที่ 1 ล้านบาท เพราะสามารถทำให้ชื่อประเทศไทยเข้าไปอยู่ในระดับท็อป 32 ของโลก ในกีฬาประเภทนั้นๆ ถือได้ว่านำชื่อเสียงสู่ประเทศไทยเป็นอย่างมากแล้ว 

เพราะการให้ชื่อประเทศไทยให้ได้รับการกล่าวขานในระดับโลก หรือระดับนานาชาติ ประเทศไทยอาจต้องเสียเงินไปจำนวนหลายร้อยล้านบาททีเดียว ยกตัวอย่างการจัด World Expo 2020 ที่ Dubai เราต้องเสียค่าจัดสร้าง Thai Pavilion ไปเกือบ 900 ล้านบาท ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงเห็นด้วยกับผมนะครับ ที่จะช่วยกันเสนอให้มีการปรับกฎระเบียบให้นักกีฬาได้รับรางวัลไปก่อนเลย ไม่ต้องรอว่าต้องให้นักกีฬาได้เหรียญทอง/เงิน/ทองแดง เสียก่อนจึงจะได้รับรางวัล

เรามาวิเคราะห์ความสามารถของทีมฟุตซอลทีมชาติกันนะครับ หลังจากทีมสามารถรักษาระดับความเก่ง โดยสามารถผ่านการคัดเลือกเข้าไปแข่งฟุตซอลโลกได้เป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกันได้แล้ว ซึ่งต้องถือว่าทีมมีความสามารถที่ไม่ใช่ธรรมดานะครับ หลังจากนั้นทีมได้เตรียมตัวเพื่อเข้าแข่งขันฟุตซอลโลกที่ลิทัวเนีย และต้องอยู่ในสายซี ที่มี 2 ใน 4 ทีม (สุดท้ายได้เป็นแชมป์โลกและที่ 4) แต่ไทยก็ยังฝ่าฟันเข้ารอบ 16 ทีมจนได้ อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีไปแล้ว หากไม่มีฝีมือฝีเท้าที่ดีพอก็คงจะทำไม่ได้ ใช่มั้ยครับ

พอมาถึงรอบสอง 16 ทีม พบกับคาซัคสถาน ผมขอวิเคราะห์จากมุมมองของแพทย์ที่อยู่ในวงการฟุตบอล/วงการกีฬามาหลายสิบปี จะเห็นว่าทีมของเราไม่สามารถเอาลูกขึ้นไปเล่นในแดนของคู่ต่อสู้ได้มากนัก เพราะความแข็งแกร่งของตัวผู้เล่นที่เห็นจากสมรรถนะของร่างกายของนักกีฬาฟุตซอลคาซัคสถาน (ที่มีบราซิลแปลงสัญชาติมา 3 คน) ที่แสดงให้เห็นในการแข่งขันวันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการครองบอลไม่ให้ถูกแย่ง การปะทะ การแย่งลูกฟุตซอล การวิ่งแข่งในระหว่างการแข่งขัน ส่วนในเรื่องแท็กติก สูตรหรือลูกเล่นต่างๆ ที่นำมาใช้ เพื่อนำไปสู่การมีโอกาสยิงประตูได้มากครั้งกว่า รวมทั้งที่ผู้รักษาประตู (บราซิลแปลงสัญชาติ) ที่มีส่วนในการเล่นเกมบุก (ที่ไม่ใช่ power play) เกือบทุกครั้งที่ได้บอลมาเล่นในแดนของทีมไทย    

วิธีการเล่นต่างๆ เหล่านี้ คงถือรวมๆ กันว่าเป็นแท็กติกที่ต้องได้รับมาจากการสอน รวมทั้งการฝึกซ้อมจากโค้ชหรือผู้ฝึกสอน ตลอดจนทีมงานเช่น Fitness Trainer ที่มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้เล่นทุกคนมีระดับของฟิตเนสที่มากพอที่จะเล่นตามแท็กติกระดับสูงที่โค้ชนำมาฝึกซ้อมนั่นเอง  ซึ่งการที่ผมวิเคราะห์เช่นนี้ก็คงให้ความเห็นไปตามเนื้อผ้าที่เห็นจากการแข่งขันจริงๆ ทั้งนี้เพื่อให้เราได้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาทีมฟุตซอลของเราให้มีโอกาสในการเข้ารอบ 8 ทีม หรือในรอบรองชนะเลิศต่อไป เพราะในทางวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sports Science) หรือทางฟีฟ่าได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ (ความจริงมากกว่า 10 ปีแล้ว) ว่า Football Medicine (เวชศาสตร์ฟุตบอล) เราทราบดีอยู่แล้วว่า การนำวิทยาศาสตร์การกีฬา (เวชศาสตร์ฟุตบอล) มาใช้ในนักกีฬา ต้องใช้ หรือคำนึงในเรื่องอะไรบ้าง?

เราก็คงมาวิเคราะห์ในแต่ละเรื่อง เช่น 1.เรื่องโภชนาการทางการกีฬา (Sports Nutrition) เราก็ต้องมาวิเคราะห์ว่า เรานำมาใช้เต็มที่แล้วหรือยัง? 

2.เรื่องเกี่ยวกับ Fitness (Sports Physiology สรีรวิทยาทางการกีฬา) 

3.เรื่องเวชศาสตร์การกีฬา (Sports Medicine) เกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บและการรักษาการบาดเจ็บ 

4.นอกจากนี้ยังมีสาขาอื่นๆ อีก เช่น เรื่องจิตวิทยาทางการกีฬา เรื่องชีวกลศาสตร์ และเรื่องสปอร์ตเทคโนโลยี ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ผมมีความมั่นใจว่าเรายังไม่มีการนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน

ท่านผู้อ่านล่ะครับ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านเห็นด้วย หรือเห็นแตกต่าง ลองส่งความคิดเห็นมาให้คุณ บี บางปะกง ได้เลยนะครับ.   


นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์

ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ    

แพทย์ประจำทีมและ Medical Liaison Officer ประจำทีมฟุตซอลไทย 

ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกของฟีฟ่า ที่ประเทศลิทัวเนีย


-----------------------------------

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ “พี่หมอไพศาล” ครับ เรื่องเงินรางวัลอัดฉีดนักกีฬา ของทางภาครัฐ 

ซึ่งบ้านเราดูยังน้อยเกินไปจริงๆ เมื่อเทียบกับการเสียสละทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกซ้อม และแข่งขันนานหลายเดือน หรือบางคนเป็นแรมปีด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกีฬา “ฟุตซอล” ที่ยกระดับอัปเกรดไปสู่ระดับโลกมาเนิ่นนานถึง 2 ทศวรรษเข้าให้แล้ว

แต่เงินตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยของพวกเขา... ยังจิ๊บจ๊อย น้อยนิดซะเหลือเกิน

เมื่อเทียบกับความสำเร็จที่ได้รับ!!! 

- บี บางปะกง -