หน้าแรกแกลเลอรี่

ผลสำรวจความคิดเห็น "ปรากฏการณ์ฟุตบอลไทย ปัญหา ทางออก"

ไทยรัฐออนไลน์

9 ก.ค. 2566 15:20 น.

รายงานผลการสำรวจความคิดเห็น เรื่อง "ปรากฏการณ์ฟุตบอลไทย ปัญหา ทางออก" พบปัญหาส่งผลต่อความสำเร็จฟุตบอลไทย คือ การบริหารจัดการ

จากปรากฏการณ์ หรือกระแสที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยในหลากหลายมิติมาอย่างต่อเนื่องนั้น เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม และสะท้อนมุมองของแฟนกีฬาชาวไทย KBU SPORT POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง “ปรากฏการณ์ฟุตบอลไทย ปัญหา ทางออก” 

สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2566 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไป และผู้ที่ติดตามข่าวสารทางการกีฬา ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,128 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 682 คน คิดเป็นร้อยละ 60.47 เพศหญิง 446 คน คิดเป็นร้อยละ 39.53 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ โดยภาพรวมพบว่า

ความสนใจในการติดตามความเคลื่อนไหวของวงการฟุตบอลไทย  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 47.03 ติดตามอย่างต่อเนื่อง รองลงมาร้อยละ 39.68 ติดตามเป็นครั้งคราว และร้อยละ 13.29 ไม่ได้ติดตาม

พัฒนาการโดยรวมของวงการฟุตบอลไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.09 คงเดิม รองลงมาร้อยละ 27.57 แย่ลง ร้อยละ 20.11 ดีขึ้น  ร้อยละ 9.23 ไม่แน่ใจ

ปัญหาที่ส่งผลต่อความสำเร็จของวงการฟุตบอลไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 27.35 ปัญหาการบริหารจัดการ รองลงมาร้อยละ 23.43 ปัญหางบประมาณและสิทธิประโยชน์ ร้อยละ 21.93 ปัญหาการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกภายในประเทศ ร้อยละ 14.05 ปัญหาการสนับสนุนจากภาครัฐ ร้อยละ 8.22 ปัญหาการมีส่วนร่วมของสโมสรสมาชิก และอื่นๆ ร้อยละ 5.02 

แนวทางการพัฒนาและยกระดับวงการฟุตบอลไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 36.11 แสวงหาผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และเข้าใจบริบทการบริหารจัดการฟุตบอลสมัยใหม่ รองลงมาร้อยละ 24.86 กำหนดแผนกลยุทธ์การพัฒนาอย่างเป็นระบบ ร้อยละ 14.55 พัฒนาและยกระดับการแข่งขันฟุตบอลลีกสู่มาตรฐานสากล ร้อยละ 12.39 สร้างและพัฒนาทีมชาติอย่างเป็นระบบ ร้อยละ 8.69 สร้างการมีส่วนร่วมและเครือข่ายด้านงบประมาณและสิทธิประโยชน์ และอื่นๆ ร้อยละ 3.40 

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ในฐานะที่ฟุตบอลเป็นกีฬามหาชนและประชาชนสามารถเข้าถึง และนิยมเล่นกันทั่วไปนั้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความสนใจและติดตามต่อปรากฏการณ์ หรือบริบทที่เกิดขึ้นกับวงการลูกหนังไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากพิจารณาถึงพัฒนาการของฟุตบอลไทยตลอดจนปัญหาและทางออกที่กลุ่มตัวอย่างสะท้อนออกมานั้น หากองค์กรหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตระหนักและให้ความสำคัญในการกำหนดแผนกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา หรือยกระดับวงการฟุตบอลไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นระบบและยั่งยืนก็จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในหลากหลายมิติให้กับวงการกีฬาไทย รวมทั้งสังคมและประเทศชาติได้ในระดับหนึ่ง.