หน้าแรกแกลเลอรี่

“ศอกฉาว” กรณีศึกษาที่ไม่อยากให้เกิด

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

20 มี.ค. 2565 04:15 น.

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาวงการฟุตบอลไทย “ฉาวไปทั่วโลก” กับเหตุการณ์ในฟุตบอลไทยลีก 3 รอบแชมเปียนส์ลีก นัดแรก ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ รังสิต เมื่อวันที่ 13 มี.ค. เมื่ออิศเรศ น้อยใจบุญ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นอดีตนักเตะของบางกอก เอฟซี เจตนาสับศอกใส่ศุภสัณฑ์ เรืองศุภนิมิตร นักเตะ ม.นอร์ทกรุงเทพ จนสลบคาสนาม และมีแผลฉกรรจ์บริเวณปากต้องเย็บหลายเข็ม รวมถึงมีรายงานว่าถึงขั้นกระดูกใบหน้าร้าวด้วย

ซึ่งเวลาต่อมาสโมสรฟุตบอลบางกอก เอฟซี ต้นสังกัดของแข้งโหดได้ออกแถลงการณ์ยกเลิกสัญญาทันที ในขณะที่ศุภสัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้บาดเจ็บก็เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับคู่กรณีในข้อหาทำร้ายร่างกาย ที่ สภ.ธัญบุรี

เรื่องนี้หลายฝ่ายอยากเห็นบทลงโทษจากฝั่งสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

ซึ่งตามกฎระเบียบ (เดิม) ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ระบุโทษกรณีที่ผู้เล่นถูกใบแดงเอาไว้ว่า 1.ใบแดงโดยตรงจากการเล่นนอกเกม (Violent Conduct) ครั้งที่ 1 #ถูกพักการแข่งขัน 2 นัด ปรับเงิน 20,000 บาท 2 ทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของผู้ถูกทำร้าย #ถูกพักการแข่งขัน 2 ถึง 4 นัด ปรับเงิน 60,000 บาท หรือทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส #ถูกพักการแข่งขัน 3 ถึง 5 นัด ปรับเงิน 80,000 บาท

โดยข้อ 2 จะพิจารณาตามการระบุของแพทย์และกฎหมายว่า #สาหัส หรือไม่

ส่วนการพิจารณาจำนวนแมตช์ที่พักการแข่งขันจะดูจากเจตนา ความรุนแรง และประวัติของนักเตะคนนั้นๆ ว่าเคยมีการทำผิดลักษณะนี้มาก่อนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ประธานคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ได้ออกมาเปิดเผยว่า เหตุการณ์นี้สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ

ฉะนั้นบทลงโทษจะหนักกว่าเดิม!!

“ผู้กระทำมีเจตนาที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดจรรยานักกีฬาอาชีพ คณะกรรมการวินัยมารยาทอาจจะไม่ลงโทษตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัยมารยาท แต่จะเสนอให้นายกสมาคมฯ พิจารณาลงโทษตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยจรรยานักกีฬาอาชีพและบุคลากรกีฬาอาชีพแทน ซึ่งจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนเป็นการเฉพาะ และมีบทลงโทษห้ามมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลที่สมาคมฯจัดขึ้น”

แน่นอนว่าถึงตอนนี้ทุกคนจับจ้องไปว่าโทษดังกล่าวจะถึงขั้นถูกแบนตลอดชีวิตเลยหรือไม่ ซึ่งล่าสุดขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ยังไม่ได้มีความชัดเจนจากสมาคมกีฬาฟุตบอลฯใดใดออกมา

ขณะเดียวกัน ในส่วนของคดีความซึ่งเป็นคดีอาญานั้น ก็คงต้องว่ากันไปตามกระบวนการ เพราะยอมความกันไม่ได้

ในอีกมุม นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมา การชก ต่อยในสนามไม่ได้เกิดขึ้นมานาน ห่างหายไปนานแล้ว ถือว่านักเตะส่วนใหญ่ปฏิบัติตัวเป็นมืออาชีพได้ดีมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไปถือเป็นกรณีศึกษาก็ว่าได้ ว่าเรามุ่งเน้นแต่การลงโทษ เน้นบท ลงโทษนักกีฬาอย่างเดียวหรือไม่ ในมุมของการปลูกฝัง สร้างทัศนคติที่ดี การเป็นนักกีฬาอาชีพที่ดี เราอาจจะหลงลืมกันไปหรือเปล่า

การที่นักกีฬาอาชีพคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ การอดทน อดกลั้น การควบคุมอารมณ์ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่า หากทำไม่ได้ ก็จะเป็นอย่างที่เห็น ดังนั้น อาจต้องมาเน้นการสร้างมุมมองในเชิงบวกกับยุวชน เยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้เพิ่มมากขึ้นควบคู่กันไป

ต่อข้อถามที่ว่า ความรุนแรงในเกมกีฬาที่ถึงขั้นเลือดตกยางออกควรจะจบแค่ในกฎกติกาที่กำหนดไว้ หรือต้องขยับออกนอกกรอบไปสู่ตัวบทกฎหมาย เลย รองผู้ว่าการ กกท.กล่าวต่อว่า ฟุตบอลอาชีพ มีบริษัท ไทยลีก ออกกฎควบคุม ลงโทษ อยู่แล้ว ตรงนี้ กกท.ไม่ขอก้าวล่วง เช่นเดียวกับ หากเกิดการทำร้ายร่างกายกัน ก็มีประมวลกฎหมายอาญา รองรับอยู่ ตรงนี้ กกท.ก็ไม่ไปก้าวล่วงเช่นกัน เรื่องเหล่านี้อยู่ที่มุมมองของผู้เสียหายว่าจะคิดเห็นอย่างไร เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน

“สิ่งที่ กกท.ทำได้ในเวลานี้คือการเข้าไปหารือกับสโมสรอาชีพ ในการส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรม ให้กับนักกีฬา เป็นสิ่งที่ กกท.จะต้องลงไปช่วยปลูกฝัง สร้างทัศนคติที่ดีให้เกิดขึ้น เพื่อจะได้เป็นรากฐานที่สำคัญให้กับกีฬาอาชีพในประเทศไทยต่อไป”
นายทนุเกียรติกล่าว

แม้วงการกีฬาบ้านเราจะก้าวเข้าสู่คำว่า “ระดับอาชีพ” มาพักใหญ่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านักกีฬาบางคนยังมีทัศนคติแบบเดิมๆ

“เรา” จะไม่สามารถก้าวไปถึงความสำเร็จแบบยั่งยืนได้

หากยังเกิดกรณีศึกษาที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ.