บี บางปะกง
การมาทำหน้าที่แพทย์ประจำการแข่งขันรอบคัดเลือก นัดที่สอง ระหว่างญี่ปุ่นกับซาอุดีอาระเบีย ในฐานะ FIFA Medical and Doping Control Officer
ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูในสนามไซตามะ ที่มีแฟนบอลญี่ปุ่นเข้าไปชมได้เพียงไม่ถึง 1 ใน 4 ของสนามที่มีความจุ 63,700 ที่นั่งเพราะเป็นไปตามมาตรการป้องกันการระบาดโควิด-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่นนั่นเอง เพราะนัดนี้เป็นนัดสำคัญของญี่ปุ่นที่ต้องเอาชนะให้ได้ เพื่อจะทำให้ญี่ปุ่นมีแต้มไม่ห่างจากซาอุฯ
อย่างที่ผมกล่าวถึงความสามารถของญี่ปุ่นที่มีผู้เล่นทีมชาติส่วนใหญ่เล่นอยู่ในยุโรปที่เหนือกว่าทีมชาติจีนอย่างมาก เมื่อแมตช์ที่แล้วในวันที่เล่นกับซาอุดีอาระเบีย ดูจากความแข็งแกร่ง ความบึกบึน ตลอดจนทักษะบอลของทั้งสองทีม ผมเห็นว่าไม่ห่างชั้นกันมาก เหมาะสมที่ทั้งสองทีมในที่สุดแล้วจะได้ไปเล่นบอลโลกที่กาตาร์ปลายปีนี้ ซึ่งรวมแล้วก็อาจมีออสเตรเลียอีกทีมที่จะได้ไปเป็นทีมที่ 5
อีกสายหนึ่ง ทีมชาติอิหร่านและเกาหลีใต้เข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลกเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นในอนาคตท่านผู้อ่านไทยรัฐให้ตามดูทีมชาติไทยเวลาที่มีโอกาสแข่งขันกับ 5 ทีมนี้ ถือว่าเป็นทีมคู่เปรียบเทียบ (Bench Mark) ได้เลย หากทีมชาติไทยเล่นได้สูสีกับทุกทีมดังกล่าว ถือว่าทีมชาติไทยจะมีโอกาสไปฟุตบอลโลกเมื่อนั้น ผมให้เป็นข้อสังเกตในมุมมองส่วนตัวของผมคนเดียวนะครับ
สำหรับในสนามก็มีการนำเอาสีแสงและเสียงแบบคอนเสิร์ตมาใช้ ตั้งแต่ก่อนผู้เล่นจะเดินเข้าสนาม มีการดับไฟให้มืด มีแสงเสียงในสนามให้ชมกันก่อนสักประมาณ 3 นาที ก่อนที่จะเปิดไฟฟ้าสนามสว่างพึ่บ แล้วจึงให้ผู้เล่นเดินเข้าสู่สนาม นอกจากนี้ในช่วงพักครึ่งก็มี Mascot มาทำความสนุกสนาน เต้นไปทั่วสนาม เป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ บอลในสนามเป็นอย่างดี
ผมเองพอดีเดินไปเยี่ยมผู้ทำหน้าที่เปลสนาม ที่ฟีฟ่าในปัจจุบันถือว่าเป็น Medical team at sideline เพราะต้องมีความรู้ทางการแพทย์ในการที่จะไปเคลื่อนย้ายผู้เล่นที่บาดเจ็บอย่างถูกต้องทางการแพทย์ เพราะอาจมีอันตรายเพิ่มเติมจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ เช่นกรณีผู้เล่นที่มีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังส่วนคอ หรือส่วนหลังก็ตาม ในฟุตบอลโลกจะต้องมีแพทย์ประจำอยู่กับทีมข้างสนามเหล่านี้ด้วย
พร้อมกับมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญ เช่น เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ หรือ AED นั่นเอง ที่เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้น ทีมนี้ที่มีแพทย์พร้อม AED ต้องเข้าไปถึงที่เกิดเหตุภายในเวลา 2 นาที จะทำให้ผู้เล่นรอดชีวิตได้ทุกราย
จากสถิติที่ฟีฟ่าได้บันทึกเอาไว้เป็นสถิติที่สำคัญ ที่เจ้าภาพที่เป็นผู้จัดการแข่งขันจะต้องมีการฝึกซ้อม (Official Drill) การเคลื่อนย้ายนักฟุตบอล ในช่วงมีการฝึกซ้อมของทีมที่เข้าแข่งขันในสนามจริงทุกครั้ง แต่ในการแข่งขันที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ไม่พบว่ามีการฝึกซ้อมทีมเปลข้างสนาม และที่น่าสังเกตอีกด้านหนึ่งคือ เด็กที่มาทำหน้าที่เปลสนามมีเพียงหนึ่งคนในสี่คน ที่มีประสบการณ์ในการทำหน้าที่มาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าการจัดเปลสนามมาทำหน้าที่ครั้งนี้อาจจะเรียกว่ายังไม่เหมาะสม
ในการแข่งขันครั้งนี้ก็เหมือนนัดที่แล้ว คงมีการตรวจโด๊ปทีมละสองคนเหมือนทุกครั้ง โดยใช้วิธีสุ่ม จับสลากโดย Medicsl Department AFC โดยผมมีหน้าที่ส่งรายชื่อ Starting list ของทั้งสองทีมไปให้ และทาง AFC จะเลือกมาให้ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนที่ในเวลาปกติ ไม่มีเรื่องโควิด-19 จะมีการจับสลาก (หยิบเบอร์จากถุง) โดยต้องทำต่อหน้าตัวแทนของทั้งสองทีม เพื่อให้เกิดความยุติธรรม
โดยจะทำกันในช่วงพักครึ่ง ในห้อง Doping Control Room เก็บเบอร์ไว้ในซองจดหมาย และมาเปิดที่นาทีที่ 75 จึงจะทราบว่าผู้เล่นคนใดถูกจับตรวจโด๊ป หลังจากนั้นผมจะต้องมอบหมายให้ จนท.ที่เรียกว่า Chaperone ไปเป็นคนเชิญผู้เล่นแต่ละทีมที่ถูกมอบหมาย โดยคนที่มาทำหน้าที่เหล่านี้ต้องได้รับการอบรมว่า เขามีหน้าที่ไปเชิญผู้เล่นมาห้องตรวจโด๊ป เมื่อตอนผู้เล่นคนนั้นกำลังจะเดินออกจากสนาม ไม่อนุญาตให้เดินไปที่อื่นใด
ผู้ทำหน้าที่นี้จึงต้องรู้บทบาทตัวเอง และพึงระวังในการไปเชิญผู้เล่นทีมที่แพ้ในวันนั้น เพราะอาจจะหงุดหงิด และโมโหง่ายๆ เวลาทำหน้าที่ไปเชิญ แต่ในการทำหน้าที่ในแมตช์นี้เรียบร้อยดี ผู้เล่นที่มีประสบการณ์ ไม่มีหงุดหงิด รู้หน้าที่ ให้ความร่วมมือดีมาก เพราะทุกคนเคยถูกจับตรวจโด๊ปมากันคนละหลายครั้งแล้ว
สำหรับการเดินทางกลับประเทศไทยจะต้องทำอะไรบ้าง เอาไว้คราวหน้าเป็นตอนสุดท้ายนะครับ.
น.อ. (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์
---------------------
ประสบการณ์ตรงของ “พี่หมอไพศาล”
ในการทำหน้าที่ฝ่ายแพทย์ให้ฟีฟ่า ในฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ที่ญี่ปุ่น
ยังเหลือตอนสุดท้ายให้อ่านกันในคราวหน้าครับ!!!
- บี บางปะกง -