หน้าแรกแกลเลอรี่

พระมหามงกุฎกับทีมชาติไทย

บี บางปะกง

28 ต.ค. 2564 05:08 น.

ตามที่สำนักงานต่อต้านการใช้สารกระตุ้นโลก (WADA) มีบทลงโทษวงการกีฬาของไทย เนื่องจากผิดกฎการใช้สารกระตุ้นเป็นเวลา 1 ปี มีผลให้ทุกประเภทกีฬาห้ามใช้ธงชาติของตนเองในการแข่งขัน ระดับชาติ

โดยแนวทางเบื้องต้นให้ใช้ธงสัญลักษณ์ของสมาคมกีฬาในประเทศตนเองแทนนั้น สำหรับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์คือ “ตราพระมหามงกุฎ” อยู่เหนือลูกฟุตบอล

ในประวัติศาสตร์ของทีมฟุตบอลชาติไทย นับแต่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ตราพระมหามงกุฎ” ให้เป็นเกียรติยศการรักชาติบนอกเสื้อเบื้องซ้ายของทีมชาติสยาม เมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2458 ก่อนเกิดเหตุการณ์ เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 จึงมีการเปลี่ยน ครั้งแรกเป็น “ธงไตรรงค์” ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงอีก 2 ครั้ง เป็น “ตราช้าง”

แต่สำหรับ “ตราพระมหามงกุฎ” นั้น มีปรากฏหลักฐานว่าเคยมีการพยายามของ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ นำกลับมาเฉพาะที่อยู่บนอกเสื้อ เบื้องซ้ายของทีมชาติไทย ไม่น้อยกว่า 6 ครั้ง

ครั้งแรก พ.ศ.2458-2473 คือปฐมบทของ “ตราพระมหามงกุฎ” เพียงตราเดียวบนอกเสื้อของนักฟุตบอลทีมชาติสยาม หรือทีมชาติไทย

ครั้งที่ 2 พ.ศ.2500-2502 นักฟุตบอลทีมชาติไทยสวมเสื้อที่มี “ตราพระมหามงกุฎ” ปรากฏอยู่ ในธงไตรรงค์ (แนวตั้ง)

ครั้งที่ 3 พ.ศ.2520 ทีมชาติไทยใส่เสื้อแดงขาว คอกลม ที่หน้าอกเสื้อจะมี “ตราพระมหามงกุฎ” อยู่ในวงกลมสีขาว ลงแข่งขันฟุตบอลซีเกมส์ ครั้งที่ 9 ประเทศมาเลเซีย ค.ศ.1977

ครั้งที่ 4 พ.ศ.2529 ในปีครบรอบ 70 ปี สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทีมชาติไทย ใส่เสื้อที่มี “ตราพระมหามงกุฎ” อยู่ในธงไตรรงค์ (แนวนอน)

ครั้งที่ 5 พ.ศ.2559 ในปีครบรอบ 100 ปี สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทีมชาติไทย ใส่เสื้อย้อนยุคลายแดงขาว มี “ตราพระมหามงกุฎ” เพียงสัญลักษณ์เดียวบนอกเสื้อเบื้องซ้าย ในฟุตบอลคิงส์คัพ ครั้งที่ 44

ครั้งที่ 6 พ.ศ.2560 มีการถวายฎีการัชกาลที่ 10 โดยกลุ่มรณรงค์ตราพระมหามงกุฎ จนมีผลให้ “ตราพระมหามงกุฎ” กลับคืนอกเสื้อทีมชาติไทย เป็นการถาวรตลอดไป แต่ยังปรากฏมีตราอื่นนอกเหนือจากฎีกาที่ยุติแล้ว

ดังนั้น การถูกลงโทษครั้งนี้ อาจเป็นครั้งที่ 7 ในประวัติศาสตร์ของทีมชาติไทยกับตราพระราชทาน “พระมหามงกุฎ” ที่เป็นธงสัญลักษณ์ของสมาคมกีฬา ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งนี้ มีความคลาดเคลื่อนตลอดมาว่าเป็นตราของสมาคมเท่านั้น แต่ความเป็นจริงตามหลักฐานแล้ว คือตราแรกที่ “พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม” ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่คณะฟุตบอลสยาม หรือทีมชาติไทย มาตั้งแต่ต้นเป็นปฐมสืบมากว่าศตวรรษ

กงล้ออาจย้อนกลับสู่ตำนาน 106 ปี ของทีมชาติไทยอีกครั้ง

จิรัฏฐ์ จันทะเสน

สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย

OOOOOO

บทความอันทรงคุณค่าของ พี่จิรัฏฐ์ จันทะเสน คือทางออกของทีมชาติไทย ในยามที่กำลังถูก WADA ห้ามใช้ธงไตรรงค์อยู่ ณ เวลานี้ครับ

ในฟุตบอล 23 ปี ชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก ที่มองโกเลีย ซึ่งทีมช้างศึกกำลังจะลงสนามนัดที่ 2 พบกับ สปป.ลาว

แทนที่เราจะให้ฝ่ายจัดชักธงสีเขียวของฟีฟ่าขึ้นไปแทนธงชาติไทย เปลี่ยนมาใช้ธง “ตราพระ มหามงกุฎ” มิดีกว่าหรือเช่นเดียวกับโลโก้ช้างอมงวง เอ๊ย! ช้างศึก บนหน้าอกก็เหมือนกัน

ทัวร์นาเมนต์ต่อไปคือ ซูซูกิคัพ เปลี่ยนมาใช้ ตราพระมหามงกุฎแทนซะเลย เผื่ออะไรๆมันจะดีขึ้นมาบ้าง!!!

บี บางปะกง