พาวเวอร์บอมบ์
เป็นข่าวฮือฮาเมื่อวันก่อน เมื่อผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานข่าวเข้ามาเกี่ยวกับการประชุมติดตามการดำเนินงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ภายในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมี ผวจ.บุรีรัมย์ ธัชกร หัตถาธยากูล เป็นประธาน พร้อมหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดร่วมประชุม
นอกจากเรื่องของสถานการณ์ของโควิด-19 ในจังหวัดแล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวพันกับเรื่องกีฬาในการหารือด้วย และเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง
ที่ประชุมเห็นชอบให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เสนอชื่อจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลรอบคัดเลือกโซนเอเชีย กลุ่มจี รอบ 2 ซึ่งจะจัดการแข่งขันในระบบปิด โดยใช้มาตรการควบคุมโควิด–19 อย่างเข้มงวด ตั้งแต่ต้นทางและในตลอดระยะเวลาของการจัดการแข่งขัน
ยังมีการระบุว่า เอเอฟซีหรือสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย กำหนดให้การแข่งขันดังกล่าว ต้องเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย.2564 แต่เนื่องจากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายพื้นที่ จึงมีความจำเป็นต้องหาสนามกลางสำหรับการจัดแข่งขันช่วงระหว่าง 31 พ.ค. ถึง 15 มิ.ย. 2564 โดยสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ พิจารณาเห็นว่า จ.บุรีรัมย์ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
และเข้มงวด และจังหวัดมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด และมีโครงสร้างพื้นฐาน สนามบิน โรงแรมที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งยังเคยจัดฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่สนามของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มาแล้ว จึงเหมาะสมแก่การเสนอให้ใช้เป็นสนามกลางจัดฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย กลุ่มจี รอบ 2 ต่อไป
น่าสนใจที่ทางจังหวัดมีมติ “เห็นชอบ” ออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งจริงๆแล้วบุรีรัมย์ก็เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่มีความเหมาะสมยิ่งอย่างที่ว่าจริงๆ
และยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เมื่อสาธารณชน โดยเฉพาะแวดวงฟุตบอลบ้านเรา เพิ่งได้รับรู้ว่าเอเอฟซี หาสนามกลาง และสอบถามมายังประเทศ ไทย ก็เมื่อมีการ “เห็นชอบ” จากทางจังหวัดบุรีรัมย์ออกมานี่แหละ ซึ่งก็ย่อมอนุมานได้ว่ามีการสอบถาม พูดคุย และเสนอเรื่องไปให้ทางจังหวัดพิจารณา
แต่ก็น่าแปลกใจเมื่อปรากฏข้อมูลจากบุรีรัมย์ออกมา ได้มีการสอบถามไปยังเลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ พาทิศ ศุภะพงษ์ ซึ่งก็แจงว่า เป็นการเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า หากเอเอฟซีต้องการ ก็จะได้มีข้อมูลไปให้พิจารณาได้
และยังระบุด้วยว่า ตอนนี้เอเอฟซีส่งหนังสือมาเพื่อให้สื่อสารและตกลงกับทีมต่างๆในกลุ่มเดียวกันว่าจะเตะกันแบบเหย้าเยือนได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ก็มีแนวโน้มว่าจะหาสนามกลางจากชาติใดชาติหนึ่ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงพอสรุปได้ว่า เป็นการทำงานเชิงรุก เป็นการคาดการณ์ อ่านขาด และ เตรียมการเผื่อไว้ของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ซึ่งปักใจอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์
และการจะเป็นสนามกลางได้ ไม่ใช่มีแค่สนามเตะ ต้องใช้งบ ใช้คน ใช้เครือข่ายด้วยต้องได้รับแรงสนับสนุนทั้งจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย และหน่วยงานด้านสาธารณสุข
องค์ประกอบครบถ้วน ก็คงไม่ผิดไปจากนี้ หากประเทศไทยได้เป็นสนามกลาง คงไม่มีที่ไหนเหมาะสมกว่านี้อีกแล้ว...
“เบี้ยหงาย”