ไทยรัฐฉบับพิมพ์
กรณี “วีเออาร์” กลายเป็นเรื่องราวที่ทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ต้องออกข่าวชี้แจงรายวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
เริ่มต้นจากที่ ส.บอล เปิดทางให้สโมสร หากอยากจะใช้ VAR สามารถจ่ายเงิน 82,000 บาท/นัด ต่อมาออกข่าวใหม่ว่า จะยกเลิกการใช้ VAR แต่จะพิจารณาเป็นนัดสำคัญ แม้สโมสรจะพร้อมจ่ายเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการรวมตัวของ 3 บิ๊กทีมไทยลีก “การท่าเรือ-เมืองทอง-แบงค็อก” ประสานเสียงคัดค้าน จึงเปลี่ยนกลับมาให้สโมสรสามารถใช้วีเออาร์ได้อีกรอบ
กระทั่ง “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ซีอีโอ บมจ.เมืองไทยประกันภัย ได้ให้ตัวแทนส่งมอบเช็คบริจาค 16 ล้านบาท แก่สมาคมลูกหนัง โดยมีเป้าหมายให้ใช้จ่ายเกี่ยวกับ VAR ไทยลีก
แต่ท่าทีจาก ส.บอล คือการตอบกลับ บมจ.เมืองไทยประกันภัย ไปว่าเงิน 16 ล้านบาทเอามาใช้กับวีเออาร์ไม่ได้ เนื่องจากได้รับท้วงติงจากหน่วยงานที่ดูแลเทคโนโลยีตัวนี้ ที่ไม่ให้สโมสร หรือองค์กรภายนอก ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสิน
ก่อนที่ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกบอลไทย จะออกมายุติปัญหาดังกล่าว ด้วยการประกาศว่าจะหาแหล่งเงินมาใช้กับ VAR เอง โดยสโมสรไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
แต่สิ่งที่ร้อนปัญหา “วีเออาร์” ข้างต้นก็คือ 7 คำถามสำคัญที่ “มาดามแป้ง” ในฐานะตัวแทนสโมสร ต้องการคำตอบจากสมาคมลูกหนังไทย?
ประเด็นสำคัญคือการขอความชัดเจน “เรื่องเงินสนับสนุน” ที่จะให้กับสโมสรสมาชิก, “เรื่องลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด” ใครจะมารับหน้าที่ จะถ่ายจำนวนกี่แมตช์ เพื่อให้สโมสรวางแนวทางเดินต่อได้
ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สมาคมไม่ชี้แจงผลกระทบของ “ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด” ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 เม.ย. อันส่งผลต่อเงินสนับสนุนด้วย จึงเป็นที่มาว่าทำไมสโมสรสมาชิก จึงมีมติลง คะแนนให้ดำเนินการจัดการแข่งขันข้ามปี
รวมถึงการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับงบดุลและเงินคงเหลือ รวมถึงรายรับรายจ่ายของสมาคมในแต่ละปี (2560-2562) ในฐานะสโมสรสมาชิก จึงอยากขอให้สมาคมออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ชัดเจน
โดยให้มีการตรวจสอบจากบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความเป็นกลาง ได้มาตรฐานสากล เพื่อความสง่างามและแสดงความจริงใจของสมาคม
ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกสมาคม ได้ชี้แจงผ่านเพจ FAIR สรุปได้ว่า สมาคม กำลังดำเนินการเจรจาเพื่อหาผู้ถือลิขสิทธิ์รายใหม่ เพื่อนำเงินมาจัดสรรให้แก่ทีมสโมสรสมาชิก ซึ่งช่องทางการถ่ายทอดสดจำนวนนัดที่จะมีการแพร่ภาพ หากกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นจะแจ้งให้ทราบโดยเร็วต่อไป
สำหรับการตรวจสอบงบดุล กำไร-ขาดทุน รายรับ-รายจ่ายนั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลฯมีสถานะเป็นนิติบุคคล และได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.55 ตาม ม.68 และ ม.69 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นเอกสารที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
นอกจากนี้ สมาคมได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อชี้แจงงบดุลต่างๆ และได้ส่งเอกสารทั้งหมดให้แก่สโมสรสมาชิกก่อนการประชุม 30 วัน เป็นการเฉพาะ ซึ่งหากยังมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำชี้แจงจากทางสมาคมกีฬาฟุตบอลฯโดยตรงได้
ทั้งหมดทั้งมวล การชี้แจงเท่าที่ผ่านมาของทางฝั่งสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ดูเหมือนจะเป็นคำตอบเดิมๆ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนมากพอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามเหล่านี้ เป็นคำถามจากสโมสรสมาชิก ซึ่งเป็นผู้เดือดร้อนและได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น สมาคมควรต้องออกมาตอบคำถามให้สะเด็ดน้ำกว่านี้
ไม่เช่นนั้น มันก็ยัง “คาใจ” อยู่ดี.
พิสิฐ ภูตินันท์