ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ไวรัสโควิด-19 นอกจากส่งผลร้ายต่อสุขภาพแล้ว ยังสร้างความยับเยินไปทุกมิติ ไม่เว้นกระทั่งวงการกีฬา สำหรับบ้านเรา “ฟุตบอล” ถือว่าเป็นกีฬายอดนิยม มีการแข่งขันแบบลีกอาชีพอยู่ทั่วทุกตารางนิ้วของประเทศ
แต่เมื่อไวรัสนรกเข้ามาเยือนตั้งแต่ต้นปี ทุกอย่างต้องชะงักงันไปหมด บรรดาสปอนเซอร์ต่างก็ขอพักการอุดหนุนทีมกันไว้ก่อน ซึ่งสโมสรที่ได้รับผลกระทบเยอะสุด คงหนีไม่พ้นทีมจากไทยลีก 3 (T3)
ขณะที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ก็อยู่ในสภาวะถังแตก หลังจากทรูวิชั่นส์ยืนยันสิ้นสุดสัญญา 25 ต.ค. โดยจ่ายแค่งวดแรก 400 ล้านบาท และสงวนสิทธิ์ไม่จ่ายเงินในงวดที่เหลือ เพราะไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้นตามที่ระบุในสัญญา
ด้วยเหตุนี้ สมาคมลูกหนังเลยประชุมสโมสร T3 เพื่อสอบถามความสมัครใจพร้อมจะร่วมแข่งขันหรือไม่ เพราะตอนนี้ไม่มีเงินสนับสนุน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ส.ค. มีสโมสรตอบรับแข่งขัน 69 ทีม โดยสุราษฎร์ธานี เอฟซี กับ ตรัง เอฟซี 2 ทีมแดนใต้ ที่ตอนแรกไม่ส่งหนังสือ แต่สุดท้ายยืนยันเข้าร่วมการแข่งขัน
เมื่อสรุปจำนวนทีมแต่ละโซน ภาคเหนือ 11 ทีม, กรุงเทพฯและปริมณฑล 13 ทีม, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 ทีม, ภาคตะวันออก 12 ทีม, ภาคตะวันตก 12 ทีม และภาคใต้ 10 ทีม
ส่วน 7 ทีมที่ขอพัก คือ แอล.พี.ซี.แบงค็อก เอฟซี, พัทลุง เอฟซี, หาดใหญ่ ซิตี้, ยาลอ ซิตี้, ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด ชัยนาท ยูไนเต็ด และนครแม่สอด ยูไนเต็ด โดยทั้งหมดได้รับยกเว้นไม่ต้องไปเริ่มใหม่ในไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก ฤดูกาลหน้า แต่อาจได้รับเงินอุดหนุนน้อยกว่าทีมอื่นๆที่เข้าแข่งขัน
กราวกีฬาไทยรัฐได้สอบถามความเห็นผู้บริหารทีมใน T3 หลังจากที่ตอบรับร่วมฝ่าวิกฤติในครั้งนี้
“เก่ง” ชนะวิทย์ ฉายแสง ประธานสโมสร “ปลากัดนักสู้” ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี กล่าวว่า ทีมได้สอบถามความเห็นนักเตะทั้ง 26 คนของทีมแล้ว ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากมีเกมให้ลงแข่งขัน เราจึงตัดสินใจที่จะร่วมศึกในไทยลีก 3 ต่อไป อีกทั้งฟุตบอลไทยจะได้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องด้วย
แต่เราก็ได้เสนอสมาคมไปว่า ขอให้ปรับคิวแข่งขันให้มีความกระชับมากขึ้น เนื่องจากรอบเดิมใช้เวลาทั้งหมด 7 เดือน ซึ่งสโมสรที่ต้องจ่ายเงินเดือนนักเตะไปตลอดช่วงนั้นด้วย
หากสามารถลดระยะเวลาการแข่งขันลงบ้าง ไม่มากไม่น้อยเกินไป ก็จะช่วยให้สโมสรประหยัดเงิน และเชื่อว่าจะทำให้ทุกทีมพร้อมฝ่าฟันแข่งให้จบ เพื่อไปรอรับเงินอุดหนุนในฤดูกาลหน้า
นอกจากนี้ ในแมตช์พิเศษที่ระยอง สามารถจัดการแข่งขันให้ผู้ชมเข้ามาได้ 1 ใน 4 ของสนาม จึงหวังว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีการต่อยอดให้นำมาใช้กับไทยลีกได้ด้วย เพื่อสโมสรจะได้มีรายได้
เข้ามาบ้าง
ด้าน “บิ๊กแชมป์” กรวีร์ ปริศนานันทกุล รองประธาน บจก.ไทยลีก กล่าวว่า ดูจากจำนวนทีมที่ตอบรับ ทำให้การจัดแข่งขันคงยึดรูปแบบเดิม โดยในรอบโซนจะมีทั้งหมด 6 โซน เริ่ม ต.ค.63 จบในเดือน ก.พ.64
ส่วน 12 ทีมรอบแชมเปียนส์ลีก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ทีม แต่จะปรับให้กระชับขึ้น จากเดิมเตะเหย้า-เยือน จะเหลือเตะนัดเดียว ใครได้เป็นเจ้าบ้านก็จับสลาก จะทำให้จบในเดือน มี.ค.64 รวมแล้วใช้เวลา 6 เดือน
ส่วนกรณีที่สามารถแข่งขันไปจนจบฤดูกาลแล้วปีต่อไปจะกลับมาเป็นปกติหรือไม่นั้น บิ๊กแชมป์ ระบุ ตนหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ถ้าปีนี้ไม่มีแข่งขัน จะให้กลับมาเป็นปกติไม่ได้แน่นอน
นี่เป็นมุมมองที่สโมสรเรียกร้อง และท่าทีตอบรับของฝ่ายจัดการแข่งขัน
สถานการณ์นี้ทุกฝ่ายแย่กันไปหมด แต่ถ้าให้ยกเลิกไทยลีก 3 ผลกระทบจะตกแก่บุคลากรลูกหนังไทยเอง
นาทีนี้ต้องขอชื่นชมพร้อมเป็นกำลังใจทั้ง 69 ทีม
ที่ยอม “วัดใจ” ร่วมฝ่าฟันวิกฤติไปด้วยกัน.
พิสิฐ ภูตินันท์