หน้าแรกแกลเลอรี่

ผู้บริหาร "ทรู" เปิดใจประเด็นร้อนลิขสิทธิ์บอลไทย สโมสรจะได้เงินหรือไม่

ไทยรัฐออนไลน์

21 ก.ค. 2563 18:30 น.

องอาจ ประภากมล หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น แจงประเด็นลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทย ยืนยัน ยังรักฟุตบอลไทย แต่บริษัทมีข้อตกลงร่วมกับสมาคมฯ ที่ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องปฏิบัติตาม

ประเด็นร้อนเรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทย ที่ทาง "ทรูวิชั่นส์" ยืนยันจะถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก ตามสัญญาเดิม คือ วันที่ 25 ตุลาคมนี้ ตามสัญญาเดิม แต่พร้อมขยายสัญญาจนถึงสิ้นปี ส่วนเงินค่าลิขสิทธิ์อาจจะไม่ได้ 800 ล้านบาท ตามที่เหลืออยู่ ทำให้สโมสรเริ่มมีความเห็นอยากให้ฟุตบอลไทยลีกแข่งขันให้จบภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้กระทบกับฟุตบอลไทยน้อยที่สุด 

นายองอาจ ประภากมล หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยถึงสิ่งต่างๆ กับทีมข่าวไทยรัฐทีวี/ไทยรัฐสปอร์ต ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

1. ทำไมทรูวิชั่นส์ ไม่ยอมถ่ายทอดสดให้จบฤดูกาลที่จะจบในปี 2564 ตามปฏิทินเดิม 

นายองอาจ กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากทางสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ว่าได้มีการกำหนดโปรแกรมแข่งขันออกมาใหม่ที่มีการเตะแบบข้ามปี ซึ่งเป็นมติที่ประชุมในวันที่ 14 เมษายน แต่ทางทรูวิชั่นส์ไม่ได้รับการติดต่อหรือมีส่วนร่วมในเรื่องนี้แต่อย่างใด ถึงแม้ในวันดังกล่าวจะมี นายขจร เจียรวนนท์ ประธานสโมสรทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด อยู่ในที่ประชุม รวมถึงมี นางสาวนันทนี วงศ์อำนิษฐกุล ผู้บริหารทรูวิชั่นส์ เป็นหนึ่งในสภากรรมการของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ แต่ทั้งคู่ไม่ได้เป็นผู้ประสานงานโดยตรง จึงไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ทางทรูวิชั่นส์ก็มองฟุตบอลไทยสามารถกลับมาแข่งขันให้จบได้ภายในปีนี้ แต่เมื่อมาถึงวันนี้ที่เวลากระชั้นชิด อันนี้ก็ต้องฝากสมาคมกีฬาฟุตบอลจัดการในเรื่องนี้

2. สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กล่าวว่า ได้ส่งมติการเลื่อนโปรแกรมให้ทรูวิชั่นส์รับทราบ ในวันที่ 8 พฤษภาคม  แต่ทางทรูวิชั่นส์ไม่ได้ตอบหนังสือกลับ กระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน เพราะเหตุใด

ทางทรูวิชั่นส์ ได้รับอีเมลฉบับดังกล่าวจากทางสมาคมฯ แต่แผนงานของทรูวิชั่นส์จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาในหลายภาคส่วน เพราะทรูวิชั่นส์เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หากจะมีการเปลี่ยนมติต่างๆ ต้องผ่านที่ประชุมบอร์ดบริหารหลายฝ่าย ซึ่งต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน ที่ผ่านมามีการประชุมภายในกันหลายรอบ และต้องใช้เวลาที่มากกว่า 14 วัน เพราะสิ่งที่ทรูวิชั่นส์ตัดสินใจจำเป็นต้องคิดรอบด้าน 

3. จริงหรือไม่ ที่ทรูวิชั่นส์ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไทยลีกปีหน้า จึงไม่ยินยอมที่จะขยายสัญญาถ่ายทอดสด ข้ามไปถึงปีหน้า

ประเด็นนี้ จริงๆ แล้วทางเราได้รับแจ้งจากสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ว่าจะไม่ได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีกในฤดูกาลต่อไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ทางทรูวิชั่นส์ไม่สามารถออกข่าวได้ เนื่องจากต้องให้เกียรติทางสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เป็นผู้ประกาศผู้ชนะการประมูลด้วยตัวเองตามมารยาท ทำให้ทางบริษัทเองต้องวางแผนล่วงหน้าเช่นกัน ที่จะหาโปรแกรมรายการต่างๆ มาให้กับลูกค้าของทรู ไม่เกี่ยวกับที่โดนตั้งข้อสงสัยของแฟนบอลที่ว่า เพราะ ทรู ไม่ได้ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในครั้งต่อไป จึงมีข้อเรียกร้องต่างๆ มากมาย  

4. สโมสรจะได้ค่าลิขสิทธิ์หรือไม่ 

อยู่ที่การเจรจากับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ อยู่ที่ว่าการแข่งขันในกรอบเวลาที่อยู่ในสัญญา จะเกิดการแข่งขันขึ้นกี่แมตช์ ถ้าแข่งขันได้ครบ ทรูวิชั่นส์ก็จ่ายครบ แต่ถ้าไม่ครบก็ต้องเป็นสิ่งที่ต้องมาพูดคุยกัน ต้องหารือกันรอบด้าน

ส่วนความเดือดร้อนของสโมสร ทางทรูก็ได้เห็นปัญหา แต่ขอชี้แจงว่าลิขสิทธิ์ที่ทรูจ่าย ทรูไม่ได้เป็นคนกำหนดว่าสโมสรแต่ละลีกจะได้ทีมละเท่าไร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสมาคมฯ เป็นสิทธิ์ที่สมาคมฯ จะนำเงินที่ได้รับไปบริหารจัดการ เพราะทรูได้จ่ายเงินไปตามสัญญา ส่วนอื่นๆ นั้นทรูไม่มีอำนาจตัดสินใจ

5. จุดยืนของทรูวิชั่นส์ ยังยืนยันตามสัญญาเดิมหรือไม่

ทรูวิชั่นส์ ยังยืนจุดยืนเดิม ที่จะถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีกจนถึง 25 ตุลาคม และยินดีที่จะเจรจา และขยายสัญญาถ่ายทอดสดให้จนไปถึง 31 ธันวาคม ส่วนที่ไม่สามารถถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีกข้ามปีนั้นก็เพราะว่า ทางทรูเองได้มีแผนงานในการนำรายการมาลงในผัง ในรูปแบบที่ทรูวิชั่นส์ จะไม้ได้ลิขสิทธิ์ในปี 2021 นั่นเอง

ไม่ใช่ว่าทรูวิชั่นส์ไม่ทำเพื่อฟุตบอลไทย เพราะหลังจากที่หมดสัญญา ทรูวิชั่นส์ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่ยื่นประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทย เพื่อจะสนับสนุนฟุตบอลไทยต่อ แต่เมื่อยื่นไปแล้วมีผู้ที่ให้มูลค่ามากกว่า ทางทรูก็พร้อมยอมรับ เพราะนั่นหมายความว่า สมาคมฯ จะได้รับเงินตรงส่วนนี้มากขึ้น มันเป็นเรื่องของธุรกิจ เมื่อไม่ใช่ผู้ชนะการประมูล ก็เข้าใจว่าสมาคมฯ ก็ต้องเลือกผู้ที่ให้ราคามากกว่า  

6. คิดว่าทั้งสองฝ่าย มีโอกาสหาข้อสรุปที่ลงตัวได้หรือไม่

คิดว่าทุกภาคส่วนจะต้องมีคนยอมเจ็บ ไม่ใช่แค่สมาคมฯ ที่ต้องเจ็บ ทางทรูวิชั่นส์เองก็ได้รับผลกระทบอย่างเช่น ในช่วงโควิด-19 ที่ไทยลีกเตะไม่ได้ ทางทรูวิชั่นส์ก็จำเป็นต้องไปซื้อคอนเทนต์เพิ่ม เรตติ้งทางหน้าจอก็หดหาย และสปอนเซอร์ที่หายไปก็น่าจะได้รับความเสียหายไม่น้อยไปกว่าภาคส่วนอื่นๆ

ถ้าทุกฝ่ายยอมถอยคนละก้าว ทุกฝ่ายยอมเจ็บคนละนิดคนละหน่อย ทุกอย่างก็น่าจะจบได้  
อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคมนี้ ทางทรูวิชั่นส์ ยืนยันว่า พร้อมที่จะเจรจาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด.