ไทยรัฐฉบับพิมพ์
เจอวิกฤติกันถ้วนหน้า หลังเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เข้ามารุกรานโลกของเราตั้งแต่เมื่อตอนต้นปี 2020 ทำเอาทุกมิติได้รับผลกระทบ ชนิดยับเยิน ไม่เว้นแม้แต่ในวงการกีฬา ที่ทุกรายการมีอันต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปไม่มีกำหนด หรืออย่างหนักสุดก็ต้องจำใจยกเลิกการแข่งขันไปเลยก็มี
ย้อนกลับมาดูฟุตบอลไทยลีกของบ้านเรา ซึ่งถือว่าเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศ ก็ได้รับบาดเจ็บจากพิษของไวรัสโคโรนาเช่นกัน
หลังฟาดแข้งไปเพียง 4 นัด เมื่อเดือน มี.ค. สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็ตัดสินใจเลื่อนเกมแข่งขันออกไปทั้งหมด
จนในที่สุดเมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมา นั่นก็หมายความว่า การฟาดแข้งฟุตบอลลีกของเราจำเป็นที่จะต้องหยุดลงโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้วางแนวทางคัมแบ็กของศึกลูกหนังไทยลีกไว้หลากหลายแนวทาง ทั้งการกลับมาเริ่มเดือน มิ.ย., ก.ค. และ ส.ค. พร้อมข้อจำกัดต่างๆ ที่อาจต้องตัดรายการ
บอลถ้วย หรือการเตะเลกเดียว
แต่ผ่านไปไม่นาน ประมุขบอลไทยก็ได้ผุดอีกแนวคิดหนึ่ง คือให้ไทยลีกกลับมาเริ่มเดือน ก.ย. แล้วเตะแบบข้ามปี ไปปิดฤดูกาลในเดือน พ.ค. ปีถัดไป เสมอเหมือนลีกยักษ์ใหญ่ในยุโรป
บิ๊กอ๊อดกล่าวว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในความคิดมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมาโปรแกรมแข่งขันของเราต้องเตะกันช่วงหน้าฝน ซึ่งทำให้มีปัญหามากมาย ทั้งเรื่องของสภาพสนามและนักเตะบาดเจ็บง่าย รวมไปถึงแฟนบอลก็เดินทางลำบาก
ในขณะเดียวกัน หากเราไปเริ่มต้นฤดูกาลในเดือน ก.ย. จะทำให้ตลาดซื้อขายนักเตะสอดคล้องกับทวีปยุโรป ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้สโมสรเจรจาดึงนักกีฬา-โค้ช ที่มีคุณภาพมาไทยลีกมากขึ้นด้วย
เมื่อมีโควิด-19 เข้ามา เลยจะใช้ช่วงเวลานี้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการปรับคิวเตะไทยลีก มาเล่นข้ามปี แล้วหนีหน้าฝนเสียเลย
แต่ก็ยอมรับว่า หากย้ายโปรแกรมแข่งขันทั้งหมดดังกล่าว เราก็มีงานที่จะต้องแก้ไขและปรับระบบในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องหลายเรื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทับซ้อนกับโปรแกรมศึกชิงแชมป์อาเซียน หรือ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ในช่วงปลายปี รวมถึงเรื่องสัญญาต่างๆกับทั้งสปอนเซอร์และผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด เป็นต้น
แต่ตนเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์
จนมาเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ในที่ประชุมใหญ่ไทยลีก บรรดาสโมสรก็มีมติเอกฉันท์ให้ไทยลีกทุกระดับกลับมาเตะในเดือน ก.ย. และให้จบในเดือน พ.ค.ของปีถัดไป
พร้อมกับให้ใช้ปฏิทินนี้ในการแข่งขันฤดูกาลต่อๆไป
ส่วนที่โปรแกรมเตะข้ามปีต้องทับซ้อนกับศึกชิงแชมป์อาเซียนที่จัดทุกๆ 2 ปีนั้น พาทิศ ศุภะพงษ์ รักษาการเลขาธิการสมาคมฯ ยืนยันว่า คงต้องให้ความสำคัญกับเกมลีกเป็นหลัก แต่โปรแกรมจะเว้นช่วงปฏิทินตามฟีฟ่าเดย์เอาไว้ตามเดิม
สำหรับกราวกีฬาไทยรัฐเองเห็นว่า ไทยลีกหลายแมตช์ที่ผ่านมาในช่วงฤดูฝน หากมีฝนตกหนักระหว่างเกม ถ้าไม่เลื่อนแข่งก็เตะต่อด้วยสภาพสนามที่ไม่เอื้ออำนวย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ถือว่าหนีอุปสรรคที่เจอกันมาตลอดได้
อย่างไรก็ตาม โปรแกรมใหม่อาจไม่สอดคล้องกับเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ที่เริ่มแข่งต้นปีและจะมาชนกับไทยลีกเลก 2 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงไคลแมกซ์พอดิบพอดี บางทีอาจทำให้สโมสรต้องเลือกทำผลงานในรายการใดรายการหนึ่งหรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้เรายังต้องมาลุ้นด้วยว่า บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่จะปล่อยตัวผู้เล่นหลักมาช่วยทีมชาติไทย ลุยศึกชิงแชมป์อาเซียนในช่วงปลายปีด้วยหรือไม่
นี่คงคือคำถามที่ดังที่สุดจากแฟนบอลต่อจากนี้
สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และบริษัท ไทยลีก จำกัด ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า
การปรับเปลี่ยนโปรแกรมครั้งนี้เป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้จริงๆ.
พิสิฐ ภูตินันท์ เรื่อง