ไทยรัฐออนไลน์
4 ทีมในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 47 ซึ่งจะฟาดแข้งในวันที่ 5 และ 8 มิถุนายนนี้ ที่สนามช้าง อารีน่า จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย ทีมชาติไทย เจ้าภาพ, เวียดนาม คู่ปรับตัวฉกาจแห่งย่านอาเซียน, อินเดีย ที่เคยฝากรอยแค้นไว้ใน เอเชียนคัพ 2019 และ “คูราเซา” (???) ที่ตอบรับคำเชิญเป็นชาติสุดท้าย
ถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า “คูราเซา” คือ ประเทศอะไร? บนโลกนี้มีประเทศชื่อพิลึกพิลั่นแบบนี้ด้วยหรือ? แล้วอยู่ส่วนไหนของโลก? ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าสู่การแข่งขัน เราลองมาทำความรู้จักประเทศนี้กันสักหน่อย
คูราเซา เป็น 1 ใน 4 ประเทศองค์ประกอบของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นประเทศเกาะซึ่งประกอบด้วย เกาะคูราเซา กับ เกาะไกลน์คูราเซา (ไม่มีคนอาศัยอยู่) ตั้งอยู่ในหมู่เกาะเลสเซอร์แอนทิลลีส ทางตอนใต้ของทะเลแคริบเบียน ห่างจากชายฝั่งตอนเหนือของประเทศเวเนซุเอลาประมาณ 65 กิโลเมตร
ประเทศคูราเซา เป็นเกาะเล็กๆ มีพื้นที่เพียง 444 ตารางกิโลเมตร หรือเล็กกว่าประเทศไทยถึง 1,155 เท่า มีประชากร 160,450 คน หรือน้อยกว่าประเทศไทยถึง 436 เท่า มีเมืองหลวงชื่อว่า “วิลเลมสตัด” พื้นที่ทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ มีอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ การกลั่นน้ำมัน ซึ่งนำน้ำมันดิบมาจากเวเนซุเอลา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล
ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของ คูราเซา มีชื่อเรียกว่า “อาราวัค” ซึ่งบรรพบุรุษได้อพยพจากแผ่นดินใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้ มาตั้งรกรากเป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนการเข้ามาของชาวยุโรป เริ่มจากสเปนที่เดินเรือมาถึงคูราเซาในปี ค.ศ. 1499 และเริ่มตั้งถิ่นฐานในปี ค.ศ. 1527
ต่อมาบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์ได้เข้ามายึดครองคูราเซาในปี ค.ศ. 1634 ก่อนตกเป็นของอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1807–1815 หลังจากนั้นก็กลับไปเป็นของเนเธอร์แลนด์อีกครั้ง โดยรวมอยู่ในอาณานิคมคูราเซาและเขตสังกัด ระหว่างปี ค.ศ. 1815–1954
จากนั้น คูราเซา ถูกผนวกรวมกับดินแดนอื่น ๆ เช่น อารูบา, ซินต์มาร์เติน, ซาบา, โบแนเรอ แล้วเปลี่ยนฐานะโดยจัดตั้งเป็น “เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส” จนกระทั่งวันที่ 10 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2010 เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส ถูกยุบเลิก คูราเซา จึงกลายเป็นประเทศปกครองตนเองโดยตรงภายในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เช่นเดียวกับประเทศเนเธอร์แลนด์, อารูบา และ ซินต์มาร์เติน
ดังนั้น ภาษาราชการของ คูราเซา ในปัจจุบันคือ ภาษาดัตช์ แต่ก็ยังมีการใช้ภาษาปาเปียเมนตู (ภาษาพื้นเมือง) และภาษาอังกฤษด้วย
ว่ากันที่เรื่องของภาษา บางคนที่ค้นหาข้อมูลของประเทศนี้บนอินเทอร์เน็ตอาจสับสน เพราะนอกจากจะเจอชื่อประเทศว่า “คูราเซา” แล้ว ยังเจอชื่อประเทศว่า “กือราเซา” อีกด้วย จนเกิดเป็นปัญหาโลกแตกขึ้นมาอีกว่า ตกลงมันอ่านว่าอย่างไรกันแน่ ?
แม้ผู้เขียนอาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา หรือแตกฉานด้านภาษาต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง แต่หากดูจากประวัติศาสตร์ข้างต้น และภาษาราชการที่ประเทศนี้ใช้ ก็พอสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สามารถอ่านออกเสียงได้ทั้ง 2 แบบ ไม่มีอันไหนที่ผิด
“คูราเซา” จึงน่าจะเป็นการอ่านออกเสียงแบบอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลที่คนทั่วโลกใช้กัน โดยอ่านตามตัวสะกดที่ว่า “Curaçao”
ส่วน “กือราเซา” เป็นการอ่านออกเสียงตามภาษาดัตช์ อันเป็นภาษาราชการของประเทศนี้นั่นเอง ซึ่งจากการค้นหาคลิปเสียงต่างๆ ใน ยูทูบ หรือบนโลกออนไลน์ที่มีการเรียกชื่อประเทศนี้ เพื่อฟังว่าตกลงต้องออกเสียงอย่างไร ก็พบว่ามีทั้ง “คูราเซา” และ “กือราเซา”
แต่คนไทยอาจรู้สึกกระดากปากหากพูดชื่อประเทศนี้ว่า “กือราเซา” เพราะดันออกเสียงคล้ายกับคำว่า “กิ้งกือ” ซึ่งเป็นสัตว์ที่ให้ความรู้สึกน่าขยะแขยง จึงอาจมีผลทางจิตวิทยาที่เชื่อมโยงกับการรับรู้ของมนุษย์อยู่บ้าง ซึ่งการเรียกว่า “คูราเซา” อาจจะฟังดูดีกว่า แต่ถึงอย่างไร เราก็สามารถเรียกได้ทั้ง 2 แบบ ขึ้นอยู่กับผู้ที่นำไปใช้นั่นเอง
พูดถึงคนไทยกับคูราเซาแล้ว มีนักกีฬาอยู่ท่านหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่รู้จักประเทศคูราเซา นั่นคือ “เขาทราย แกแล็คซี่” อดีตแชมป์โลกขวัญใจชาวไทย รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท 115 ปอนด์ ของ สมาคมมวยโลก (WBA) ที่เป็นตำนานแชมป์โลกผู้ไม่เคยแพ้ใคร ตลอดเวลาที่ครองตำแหน่ง 7 ปี 2 เดือน 30 วัน
โดยหลังจากครองเข็มขัดครั้งแรก “เขาทราย” ก็สามารถป้องกันตำแหน่งได้ถึง 19 ครั้งติดต่อกันก่อนแขวนนวม นับเป็นสถิติโลกสูงสุดในรุ่น 115 ปอนด์ถึงปัจจุบัน ก่อนได้บรรจุชื่อในหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของ WBA ในฐานะนักชกที่ดีที่สุดตลอดกาลของพิกัดนี้
ในจำนวน 19 ครั้งที่ป้องกันแชมป์โลกนั้น “เขาทราย” เคยให้สัมภาษณ์กับ ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ว่า ไฟต์ที่ต้องจดจำมากที่สุด เป็นการเดินทางไปป้องกันแชมป์โลกในต่างแดนครั้งแรก กับ อิสราเอล กอนเตรรัส นักชกเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2529 ที่เขาต้องเดินทางข้ามโลกไปยัง “คูราเซา”
“เขาทราย” เล่าว่า 'การป้องกันแชมป์ในต่างประเทศครั้งแรก มันไกลมาก (เน้นเสียง) ลองไปหาแผนที่โลกดูได้เลย แทบหาไม่เจอ มันอยู่คนละซีกโลก ต้องเดินทางผ่านหลายรัฐของสหรัฐฯ ไมอามี, ฟลอริดา, นิวยอร์ก ผ่านไปหมด กว่าจะถึงเกาะ มันสุดยอดไหมล่ะ แต่ไปชนะกลับมา มันก็เลยประทับใจเรา ถือว่าเป็นการเดินทางที่ไกลที่สุด หลังจากนั้น ก็ไปแค่รอบเอเชีย ค่อยสบายใจหน่อย'
กลับมาเข้าเรื่องฟุตบอลกันดีกว่า แม้จะเป็นทีมที่ชื่อแปลกที่สุดในคิงส์คัพ ครั้งที่ 47 แต่ คูราเซา กลับเป็นทีมที่มีฟีฟ่าแรงกิงดีที่สุดในบรรดา 4 ทีม (ปัจจุบัน อันดับ 82 ของโลก) เป็นสมาชิกของ สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน (คอนคาเคฟ) เคยได้แชมป์แคริบเบียน คัพ เมื่อปี 2017 ด้วยการเอาชนะ จาเมกา 2-1 ในรอบชิงชนะเลิศ และเคยได้อันดับ 3 ศึกชิงแชมป์คอนคาเคฟ (ปัจจุบัน คือ คอนคาเคฟ โกลด์คัพ) ถึง 2 ครั้ง ในปี 1963 และ 1969 แต่ยังไม่เคยไปเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย
และด้วยความที่คูราเซามีความผูกพันทางสายเลือดกับเนเธอร์แลนด์อย่างลึกซึ้ง ในด้านของฟุตบอล คูราเซา ก็เคยได้กุนซือที่เป็นอดีตนักเตะชื่อดังเข้ามาคุมทีมเมื่อปี 2015-2016 นั่นคือ “พาทริค ไคลเวิร์ต” อดีตดาวยิงทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ที่เคยเล่นให้สโมสรชั้นนำอย่าง อาแจกซ์, เอซี มิลาน, บาร์เซโลนา, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, บาเลนเซีย, พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน และ ลีลล์ ซึ่ง “ลิดวินา” คุณแม่ของ ไคลเวิร์ต เกิดที่คูราเซานั่นเอง
ส่วนนักเตะทีมชาติคูราเซา ชุดปัจจุบัน ซึ่งมีการประกาศรายชื่อชุดคิงส์คัพ ครั้งที่ 47 เบื้องต้น 34 คน นำโดยนักเตะที่มีประสบการณ์ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เช่น คูโค มาร์ตินา กองหลังกัปตันทีมที่เคยเล่นกับ เซาแธมป์ตัน, เอฟเวอร์ตัน, สโต๊ค ซิตี้ ปัจจุบันถูก เฟเยนูร์ด ยืมตัวจาก เอฟเวอร์ตัน, เลอันโดร บาคูนา มิดฟิลด์จาก คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ที่เคยเล่นกับ แอสตัน วิลลา และ เรดดิง
นอกจากนี้ ผู้เล่นหลายรายก็ค้าแข้งในเอเรดิวิซี ลีกสูงสุดของเนเธอร์แลนด์ ทั้ง เอลอย รอม (พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน), ดาร์รีล ลัชมัน (พีอีซี ซโวลเล), เอลสัน ฮอย (เอดีโอ เดน ฮาก), แบรนด์ลีย์ คูวาส (เฮราเคิลส์ อัลเมโล), จาฟาร์ อารีอัส (เอฟซี เอมเมน) ซึ่งถือเป็นชุดใหญ่ที่ คูราเซา ใช้เตรียมความพร้อมก่อนสู้ศึกคอนคาเคฟ โกลด์คัพ 2019 รอบสุดท้าย ที่จะเปิดฉากหลังจบคิงส์คัพ ในวันที่ 15 มิถุนายน
แต่สำหรับนักดื่ม เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จัก “คูราเซา” ก่อนที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะเชิญมาร่วมศึกคิงส์คัพหนนี้เสียอีก เพราะว่า “คูราเซา” เป็นเหล้าชนิดหนึ่งที่กลั่นและตกแต่งกลิ่นรสจากเปลือกส้ม ลาราอาส (Larahas) ตากแห้ง ซึ่งส้มชนิดนี้สามารถปลูกได้ดีบนเกาะคูราเซา จนเป็นที่มาของชื่อเหล้าชนิดนี้ แต่คนบนเกาะจะออกเสียงก้ำกึ่งระหว่าง “คูราโซ” กับ “คูราเซา” ซึ่งประเภทที่นิยมเป็นอันดับ 1 คือ “บลู คูราเซา” ที่ใช้เป็นส่วนผสมของค็อกเทลกว่า 300 ชนิด เนื่องจากให้สีสันเป็นสีฟ้าดูสวยงาม
ชัชวาล กมลไมตรีจิตต์ (เรียบเรียง)