หน้าแรกแกลเลอรี่

มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ

โจโจ้

5 ม.ค. 2567 05:09 น.

ตั้งแต่ขบวนการสรรหา “อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” สิ้นสุดจนได้ชื่อ “ผศ.ดร.วีระศักดิ์ วิศาลาภรณ์” เหลือแค่ขั้นตอนการโปรดเกล้าฯเท่านั้น

ถึงวันนี้ลองมานั่งนับนิ้วดูล่วงเลยมานานพอสมควร แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่จะประกาศอย่างเป็นรูปธรรมสักที เชื่อว่าชาวพลศึกษาหรือลูกพลบดีทั่วประเทศคงใจจดใจจ่อที่อยากเห็นกัปตัน ม.กีฬาแห่งชาติขึ้นมาแล้ว

กอปรกับวันก่อนได้มีการปันความคิดกับ “ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร” ในฐานะลูกพระพลบดีหรือชาวเขียวขาวเหลือง จึงได้ข้อคิดสำหรับนำไปสู่การส่งกระแสที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการโดยเฉพาะการสรรหาผู้นำคนใหม่ของสถาบันที่ทุกภาคส่วนคาดหวังและอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง

เมื่อกล่าวถึง ม.การกีฬาแห่งชาติ ต้องยอมรับว่านับแต่การก่อกำเนิดภายใต้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2562 เป็นต้นมาสถาบันแห่งนี้มีมิติหรือประเด็นที่ส่งผลให้สภากาแฟและแวดวงกีฬามีการกล่าวขานกันอย่างหลากหลาย

หนึ่งในมิติที่ถือว่าเป็นวังวนหรือหลุมดำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารจัดการเพื่อให้องค์กรก้าวเดินไปตามเจตจำนงของการจัดตั้งคือการสภามหาวิทยาลัยไม่สามารถสรรหาผู้บริหารสูงสุดหรืออธิการบดีให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและกรอบเวลาที่กำหนดได้

สำหรับแนวปฏิบัติตามหลักสากลนิยมของการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรขึ้นมาใหม่หนึ่งในกระบวนการที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปตามพันธกิจและวัตถุประสงค์คือการเดินเข้าสู่กระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด

แต่เมื่อส่องไปที่ ม.การกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันแห่งความหวังสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาตลอดจนต่อยอดและยกระดับการกีฬาของประเทศกลับพบว่าการสรรหากัปตันหรือผู้นำสูงสุดกลับไม่สามารถดำเนินการได้จนส่งผลให้เกิดกระแสดราม่าตามมาอย่างต่อเนื่อง

จากปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยอันเนื่องมาจากการไร้ซึ่งหลักธรรมาภิบาลสำหรับการบริหารจัดการ หากพิจารณาแล้วก็เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่คอยเกาะกินจนทำท่าว่าโรคร้ายนี้จะลุกลามและเอาไม่อยู่

การใช้ยาแรงเพื่อเยียวยาของ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ในฐานะเจ้ากระทรวงขณะนั้น จึงใช้อำนาจโดยออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 12 ก.ค.2566 ให้ ม.กีฬาแห่งชาติอยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคสช.ว่าด้วยธรรมาภิบาลหลังพบพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริต

เกี่ยวกับประเด็นนี้เพื่อขยายความหรือร่อนตะแกรงให้เห็นถึงที่มาของการใช้อำนาจ คสช.จนส่งผลให้มีคำสั่งยุติบทบาทของ “คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย” สืบเนื่องจากเจ้ากระทรวงเห็นว่าการบริหารจัดการของผู้บริหารในขณะนั้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและยังก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในที่ยากจะแก้ไขซึ่งสะสมมาอย่างยาวนาน

จากประกาศดังกล่าวรัฐมนตรีจึงออกคำสั่งที่ 53/2566 เพื่อแต่งตั้งคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยและรักษาการอธิการบดีเพื่อที่จะให้การบริหารจัดการเดินไปได้อย่างไม่ติดขัด

ต่อกรณีการได้มาซึ่งอธิการบดีหรือกัปตันองค์กรตามที่คณะบุคคลได้รับมอบอำนาจจากคำสั่งของเจ้ากระทรวงหากพิจารณาในหลักการและกรอบเวลาจะเห็นได้ว่าจากวันนั้นถึงวันนี้เมื่อส่องไปดูแล้วจะเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนด 180 วันก็ล่วงเลยมาพอสมควร

อย่างไรก็ตาม หากผู้ปฏิบัติหน้าที่สภามหาวิทยาลัยรวมทั้งเจ้ากระทรวงคนปัจจุบันตระหนักและให้ความสำคัญกับการเดินตามกฎเกณฑ์โดยเฉพาะการสรรหาอธิการบดีคนใหม่เมื่อวันเวลาล่วงเลยมาพอสมควรและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายและขัดต่อกฎหมายที่กำหนดคงจะถึงเวลาที่ผู้มีอำนาจจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

เพื่อให้ ม.การกีฬาแห่งชาติขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ให้เป็นไปตามเป้าประสงค์และเป็นที่พึ่งของสังคมกีฬาไทยสืบไป

หวังว่าปัญหาการได้มาซึ่งกัปตัน ม.การกีฬา แห่งชาติคงจะยุติในเร็ววัน และผู้ที่เหมาะกับการเป็นจอมทัพที่จะนำพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าคงจะเป็นผู้ที่เหมาะ และมีวิสัยทัศน์ที่ได้รับการยอมรับ อย่างแท้จริง.

โจโจ้

คลิกอ่านคอลัมน์ “เรียงหน้าชน” เพิ่มเติม