ไทยรัฐฉบับพิมพ์
เข้าสู่ช่วงเวลา “ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่”
ห้วงเวลาแห่งความสุข หลายคนคงจะมีการตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ที่จะทำในปีที่กำลังจะมาถึงเอาไว้
ถ้าหนึ่งในนั้นคือ “การลดน้ำหนัก”
แต่ที่ผ่านมาพยายามแล้วยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
ลองนำเคล็ดลับที่เพจ “วิ่งไหนกัน ปั่นไหนดี” แนะนำเอาไว้ ไปปรับใช้กันดู
เพราะเป้าหมายมีไว้พุ่งชน ขอให้ทุกคนโชคดีปีใหม่...ครับ
การวิ่งช่วยลดน้ำหนักได้จริงครับ แต่ที่หลายคนวิ่งแล้วน้ำหนักไม่ลด อาจจะเพราะเผลอทำพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ก็ได้
1.กินอาหารมากกว่าแคลอรีที่เผาผลาญไป
เวลาวิ่งร่างกายจะเผาผลาญแคลอรีจำนวนมาก ซึ่งก็จะทำให้เรารู้สึกหิวมากด้วยเช่นกัน และมันอาจนำไปสู่การกินที่มากเกินไป จนส่งผลให้ปริมาณแคลอรีที่ร่างกายเผาผลาญไปกับแคลอรีจากอาหารที่รับเข้าไปใหม่ ไม่สมดุล! นั่นคือสาเหตุที่ทำให้วิ่งเท่าไหร่ น้ำหนักก็ไม่ลดสักที
2.วิ่งด้วยความเร็วหรือระยะเวลาเท่าเดิม
“การวิ่งอย่างช้าๆด้วยความเร็วคงที่ หมายถึง การเผาผลาญแคลอรีที่ช้าและคงที่ด้วยเช่นกัน” เราอาจสังเกตเห็นว่าน้ำหนักลดลงบ้าง เมื่อเริ่มโปรแกรมฝึกวิ่งในช่วงแรก แต่เมื่อฝึกไปสักระยะหนึ่งร่างกายจะเคยชินกับจังหวะการวิ่งนั้น หรือเคยชินกับระยะเวลาในการวิ่ง ทำให้การลดน้ำหนักไม่ต่อเนื่องและไม่ได้ผลเท่าที่ควร
3.ไม่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกาย
การวิ่งเป็นวิธีที่ดีในการลดน้ำหนักก็จริง แต่การออกกำลังกายที่สมดุลจะช่วยให้เห็นผลลัพธ์ได้เร็วขึ้น และช่วยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บด้วย ซึ่งการฝึกความแข็งแกร่ง (strength training) ก็ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและช่วยเผาผลาญแคลอรีได้เร็วขึ้นเช่นกัน
4.ไม่มีวันพักฟื้นร่างกาย
การออกกำลังกายและการทานอาหารเป็นส่วนสำคัญของการลดน้ำหนักก็จริง แต่การพักฟื้นร่างกายก็มีความสำคัญพอกัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะได้พักผ่อน และได้รับการเยียวยาจากการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อและลดการอักเสบ โดยการพักเพื่อฟื้นตัวในที่นี้หมายถึงการนอนหลับให้เพียงพอ การรักษาระดับความชุ่มชื้น และการเติมพลังงานให้ร่างกายอย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการลดน้ำหนัก และมีผลต่อกระบวนการเผาผลาญทั้งนั้น
5.มีน้ำหนักตัวที่ดีอยู่แล้ว
ถ้าเพื่อนๆมีเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายที่ดีอยู่แล้ว ก็อาจพบว่าการลดน้ำหนัก (โดยเฉพาะการลดไขมัน) ทำได้ยาก เพราะในความเป็นจริงไขมันในร่างกายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับกระบวนการที่สำคัญ เช่น การควบคุมฮอร์โมน และการรักษาสภาวะสมดุล รวมถึงกลไกการอยู่รอดขั้นพื้นฐาน เช่น อุณหภูมิของร่างกายและระดับสารเคมี นอกจากนี้ไขมันยังทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะและรองรับข้อต่อต่างๆอีกด้วย
และถ้ากระบวนการในร่างกายมองว่า ปริมาณไขมันในร่างกาย ณ ปัจจุบันเพียงพอแล้ว ร่างกายก็อาจปรับอัตราการเผาผลาญเพื่อ “ประหยัดการสูญเสียพลังงานและรักษามวลกาย” ซึ่งจะส่งผลให้การลดน้ำหนักเป็นไปได้ช้าหรือหยุดไปชั่วคราวนั่นเองครับ.
ยุบสภา