ฟ้าคำราม
วิ่งรอบโลกปั่นทั่วไทย วันนี้มีความรู้ดีๆ มาฝากเช่นเคย เพจ วิ่งไหนกัน ปั่นไหนดี บอกไว้ ถึงใครที่ชอบลงแข่งวิ่ง ปั่น ไตร การใช้ร่างกายแบบโหดๆ จะทำให้อ่อนล้า และยังทำให้ร่างกาย ขาดโซเดียมได้ ซึ่งมีรายงานว่า นักวิ่งมาราธอนหลายรายแล้ว ที่ประสบภาวะโซเดียมในเลือดต่ำอย่างรุนแรง เกิดภาวะสมองบวม หมดสติ โคม่า และเสียชีวิต จึงอยากชวนทุกคนมารู้จัก ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) เกิดได้อย่างไร? ป้องกันได้ไหม? ไปดูกัน
ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ เกิดได้อย่างไร? กินน้ำเปล่าชดเชยการเสียเหงื่อเพียงอย่างเดียว นักกีฬาสาย Endurance เช่น นักวิ่งที่วิ่งนานกว่า 4 ชั่วโมง, นักไตรกีฬาที่ออกกำลังนานกว่า 9-13 ชั่วโมง นักวิ่งที่วิ่งเพซช้า จะมีโอกาสเกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำบ่อยกว่านักวิ่งเพซเร็ว เพราะมีโอกาสกินน้ำบ่อยกว่า
ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ป้องกันได้ไหม? ป้องกันได้ด้วยการชดเชยเกลือโซเดียม กรณีที่ออกกำลังกายสั้นๆ เช่น ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง การกินน้ำเกลือแร่หลังการออกกำลังกายก็เพียงพอ แต่ถ้าออกกำลังกายมากกว่า 2 ชั่วโมง หรือมากกว่า 3-4 ชั่วโมงขึ้นไป ต้องชดเชยเกลือโซเดียมระหว่างออกกำลังกายด้วย โดยคำนวณจากการเสียเหงื่อ 1 ลิตร/ชั่วโมง เราจะเสียโซเดียม 1-5 กรัม/ชั่วโมง ในน้ำเกลือแร่ 1 ขวด (250ml) จึงอาจจะไม่พอต่อการออกกำลังกายที่มากกว่า 2 ชั่วโมง ฉะนั้นอาจต้องทานวิตามิน Salt Tablet ซึ่งใน 1 เม็ดมีโซเดียม 600 กรัม (Salt Tablet มีขายตามร้านขายยาหรือในโรงพยาบาล)
สำคัญมากที่สุดคือ กินน้ำให้เพียงพอก่อน แล้วจึงกินเกลือโซเดียมชดเชย เพราะถ้าดื่มน้ำเกลือแร่โดยไม่กินน้ำเปล่า จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำคืนมาในสัดส่วนต่ำกว่าการได้รับเกลือโซเดียม ทำให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดสูงได้ เรียบเรียงจาก https://www.vrunvride.com/vitamins-for-running-cycling.../
กิจกรรมเดิน-วิ่ง วันโอโซนสากล “Walk & Run for Ozone and Climate 2050 Net zero” กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมจัดใน 4 จังหวัด กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ วันที่ 7 ต.ค. ที่ท่าเรือหาดปากเมง จังหวัดตรัง, วันที่ 4 พ.ย. ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี, วันที่ 18 พ.ย. ที่ปางช้างแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 16 ธ.ค. ที่สวนเบญจกิติ (สวนโรงงานยาสูบ) กทม. เชิญชวนผู้สนใจร่วมวิ่งได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก กรมอุตสาหกรรม
ฟ้าคำราม
socialfox@hotmail.com