หน้าแรกแกลเลอรี่

ความเชื่อผิดๆ

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

11 ก.ค. 2566 05:19 น.

คำถามคาใจหลายๆคน โดยเฉพาะที่ใช้เป็นข้ออ้าง ในการที่ไม่ออกไปวิ่ง เพจ “วิ่งไหนกัน ปั่นไหนดี” มีคำตอบมาให้ อ่านเสร็จแล้ว รีบหยิบรองเท้าได้เลยครับ

วิ่งออกกำลังกาย ไม่ดีกับ “ข้อเข่า” จริงไหม?

จริงอยู่ที่การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกสูง สามารถสร้างความตึงเครียด และอาการบาดเจ็บให้ข้อต่อได้ โดยในแต่ละครั้งที่เท้าแตะลงพื้น เราจะต้องแบกรับแรงกระแทกที่มีค่าเป็น 2-3 เท่าจากน้ำหนักตัวของเราเอง จึงก็ไม่แปลกถ้าคนนอกวงการจะเชื่อว่า การวิ่งไม่ดีต่อข้อต่อและเข่าจริงๆ

แต่เมื่อมาเจาะลึกกันในทางวิทยาศาสตร์ กลับพบว่า มันเป็นคนละเรื่องกับความเชื่อของใครหลายคนเลยล่ะครับ

มีงานวิจัยมากมายที่ทำการเปรียบเทียบระหว่าง อาสาสมัครที่เป็นนักวิ่งและเป็นคนทั่วไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และมีการพบหลักฐานเรื่องการวิ่งทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม หรือต้องไปผ่าตัดใส่เข่าเทียมน้อยมากๆ

นักวิจัยบางคนก็สามารถวิจัยไปได้ไกลถึงขั้นค้นพบว่า การวิ่งเนี่ยแหละ คือสิ่งจำเป็นในการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม และปัญหาเรื่องข้อต่อต่างๆ

#งานวิจัยที่ 1

มีการวิจัยจากกลุ่มชายหญิง 5 คน ซึ่งอยู่ในวัย 40 (โดยมีค่า BMI เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 25.9) โดยทุกคนจะต้องซ้อมวิ่งมาราธอน 6 เดือน แต่ละสัปดาห์จะมีระยะทางการวิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 32 กิโลเมตร และเมื่อสิ้นสุดการวิจัยทุกคนก็ได้เข้าร่วมแข่งงานวิ่งมาราธอนจนถึงเส้นชัย เพื่อวัดผลกระทบที่การวิ่งมีต่อกระดูกอ่อนหัวเข่า ความหนา และปริมาณของกระดูกอ่อน

โดยอาสาสมัครจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งก่อนและหลังการวิจัย โดยใช้เครื่อง MRI และก็ไม่พบอาการบาดเจ็บอะไรแต่อย่างใด โดยสภาพเข่าของอาสาสมัครไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการฝึกซ้อมและลงแข่ง แถมยังได้ข้อสรุปว่า อาสาสมัครมีความเสี่ยงเป็นโรคไขข้อน้อยลงกว่าเดิมอีกด้วย

#งานวิจัยที่ 2

ผลการวิจัยพบว่า การวิ่งนั้นมีความปลอดภัยกับข้อต่อ มากกว่าการเดินเสียอีก!! โดยการวิจัยได้เฝ้าดูข้อมูลการผ่าตัดสะโพกของนักวิ่ง 74,752 คน และนักเดินอีก 14,625 คน โดยใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 6 ปี และพบว่าการวิ่งไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการมีปัญหาเรื่องข้อต่อเลย แม้แต่กับคนที่ลงแข่งมาราธอนเป็นประจำก็ตาม

#งานวิจัยที่ 3

นักวิจัยยังพบว่า การวิ่งยังช่วยลดอาการอักเสบในหัวเข่าอีกด้วย โดยทำการประเมินของเหลวในหัวเข่าจากกลุ่มชายหญิงสุขภาพดี อายุระหว่าง 18-35 ปี ทั้งช่วงก่อนและหลังการวิ่งบนลู่วิ่ง 30 นาที

นักวิจัยยังใช้วิธีการตรวจเลือด เพื่อวัดค่าอาการอักเสบอีกด้วย โดยในตอนแรกคิดว่า ค่าอาการอักเสบมันจะเพิ่มขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้าม เพราะว่ามันกลับลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการวิ่งช่วยลดอาการอักเสบโดยรวมของข้อต่อให้น้อยลงได้

นี่ไม่เพียงแต่ช่วยพิสูจน์ว่า การวิ่งไม่ได้ส่งผลเสียต่อหัวเข่า แต่ยังพบว่าการวิ่งนี่แหละ ที่ช่วยให้เข่าเราดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว อย่าลืมถามหมอก่อนนะครับ เพื่อความปลอดภัย.

ยุบสภา