หน้าแรกแกลเลอรี่

มรดกกีฬา

ฟ้าคำราม

9 พ.ค. 2566 05:07 น.

ยังคงอยู่ในช่วงเวลาของมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา แน่นอนว่าที่ผ่านมาเราๆท่านๆคงจะคุ้นชินกับชื่อสนามกีฬาแห่งชาติ มรดก เตโช กันเป็นส่วนใหญ่

มรดก เตโช หรือสนามกีฬาที่สื่อถึงการเป็นมรดกอันทรงพลัง พร้อมที่จะสืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานของกัมพูชา

เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2017 และแล้วเสร็จเมื่อปี 2021 โดยตั้งอยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองพนมเปญประมาณ 20 กิโลเมตร

ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า กัมพูชาก็มีอีกสนามคือโอลิมปิก สเตเดียม ที่ใช้จัดกีฬามาช้านาน

และใน “คัมโบเดีย 2023” ครั้งนี้ ก็มีการจัดกีฬาฟุตบอล รวมถึงจัดกีฬาอีกหลายชนิดในยิมเนเซียมรอบๆด้วย

โอลิมปิก สเตเดียม ตั้งอยู่กลางกรุงพนมเปญ ภายใต้การออกแบบในรูปแบบที่ทันสมัย ของวรรณ โมลีวรรณ สถาปนิกชื่อดังที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบสถานที่สำคัญของกัมพูชามากมาย

แรกทีเดียวสนามนี้ทางกัมพูชาตั้งใจจะใช้จัดกีฬาแหลมทอง หรือในชื่อปัจจุบันกีฬาซีเกมส์ ในปี 1963

แต่ด้วยปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ต้องพับแผนดังกล่าวไปอย่างน่าเสียดาย

ทว่า โอลิมปิก สเตเดียม ก็ยังใช้จัดกีฬาอื่นๆ เรื่อยมา เริ่มงานแรกในอีก 3 ปีถัดมากับการแข่งขันกีฬาของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาใหม่ และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

รวมถึงยังถูกเลือกให้เป็นสังเวียนฟาดแข้งฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างเกาหลีเหนือและ ออสเตรเลียที่ใช้กัมพูชาเป็นสนามกลาง เตะทั้งเหย้าเยือน

ด้วยเพราะตอนนั้นคู่ดวลเกือกต่างก็มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ประกอบกับโสมแดงไม่มีสนามมาตรฐาน และออสเตรเลียมีความเข้มงวดเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง

จึงต้องหาจุดกึ่งกลางกัน ก่อนมาลงตัวที่กัมพูชา ที่เป็นมิตรกับทุกชาติในที่สุด

จากนั้นโอลิมปิก สเตเดียม ถูกใช้งานมาตลอด มีการพัฒนาอาคารภายในสนามเมื่อปี 2000 และสำหรับซีเกมส์ครั้งนี้มีการปรับปรุงภาพลักษณ์สนามเพิ่มเติม

มีการติดตั้งที่นั่งบนอัฒจันทร์ในสนามฟุตบอล ลดความจุเหลือ 30,000 ที่นั่ง

เหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ของสนามกีฬาในกัมพูชา

ทั้งโอลิมปิก สเตเดียม ที่มีอยู่แล้ว และมรดก เตโชที่สร้างขึ้นมาใหม่

ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกล้ำค่าที่มีความสำคัญต่อวงการกีฬากัมพูชา

เป็นอย่างยิ่ง...

ฟ้าคำราม