หน้าแรกแกลเลอรี่

จุดตัดสินใจ

เบี้ยหงาย

3 พ.ค. 2566 05:10 น.

กำลังจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค. ชี้ชะตาประเทศไทย โพลไหนว่าอย่างไร ใครเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือคิดเห็นเป็นประการใดก็ว่ากันตามสะดวก เมื่อวันแห่งความเท่าเทียมวนมาถึงอีกครั้ง จงใช้สิทธิความเป็นคนไทย 1 เสียง 1 สิทธิ กาบัตร 2 ใบ เลือกคนกับเลือกพรรค เหมือนกันหรือต่างกันก็แล้วแต่ใจเลย

ลองกดดูควานหานโยบายกีฬา ตอนนี้ที่มีชัดๆและละเอียดยิบก็ต้องพรรคก้าวไกล ออกมา 5 มิติ พยายามให้ครอบคลุมในทุกๆด้าน ออกเชิงวิชาการ มีรายละเอียดมากมาย ที่เห็นมี “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์ของพรรคออกมาพูดบ้าง แต่คงไม่มีเวลาอธิบายกันได้ครบถ้วน ด้วยเนื้อหาเยอะ รวมทั้งสื่อเองจะสรุปก็อาจไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ลองไปหาอ่านและทำความเข้าใจกันดูน่าสนใจดี

ส่วนที่มานั่งแถลงแบบทยอยออกมา 3 ประเด็นแล้ว ก็พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดฯ ในฐานะ ปธ.ที่ปรึกษานโยบายด้านกีฬา มาแจกแจง เริ่มจากการปัดฝุ่นของเก่า 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ มาถึงเรื่องฟุตบอลและมวยไทย รายละเอียดลองหาอ่านกันดูไม่ยาก

ฝั่งของพรรคชาติพัฒนากล้า ทางโฆษกพรรค “วิว” เยาวภา บุรพลชัย อดีตนักเทควันโดทีมชาติไทย ทำความเข้าใจ เสนออยู่หลายประเด็นอย่าง 1 ตำบล 1 ศูนย์กีฬา, ลดหย่อนภาษีเพื่อดึงเอกชนเข้ามาสนับสนุนกีฬา ฯลฯ

ยังมีพรรคเพื่อชาติ ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเอง ก็มีพูดถึงเรื่องการพัฒนาด้านกีฬาควบไปกับการศึกษาเพื่อให้เด็กๆเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ยิน “บังมาด” สามารถ มะลูลีม ประธานคณะกรรมการนโยบายกีฬาของพรรค มีการเสนอตั้งกรมสวัสดิการนักกีฬา, สนับสนุนกีฬาคนพิการและอาวุโส ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม คอกีฬาหรือผู้ที่สนใจและใคร่อยากรู้ว่าพรรคไหนมีนโยบายด้านกีฬาหรือไม่อย่างไร ยุคสมัยนี้สามารถคลิกหาอ่านได้โดยง่าย เพื่อประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติมจากนโยบายด้านอื่นๆ

เวลายังมีอยู่ ศึกษากันไว้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ อย่างน้อยหากคนหรือพรรคที่เราเลือกเข้ามารับผิดชอบส่วนนี้ จะได้พิสูจน์กันว่าทำได้ และทำตามนโยบายหรือไม่ หรือแค่โม้ไว้เล่นๆเท่านั้น

รวมทั้งในทางกลับกัน หากเรายังไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟังหรือไม่ได้เห็น นโยบายของพรรคไหนที่โดนใจ ก็ยังสามารถศึกษาจากอดีต

อดีตที่วันหน้าก็อาจหมายรวมได้ทั้งอดีตเมื่อวันวานและรวมถึงปัจจุบันในวันนี้ที่จะเป็นอดีตในวันต่อๆไป ว่า วันที่ตัวละครเหล่านั้น ซึ่งยังอยากมาทำอีก และหวังจะมีบทบาทต่อไป เขาหรือท่านเหล่านั้น รวมถึงบริวารแวดล้อม เคยแสดงบทบาทไว้อย่างไร สร้างความเชื่อมั่น สร้างความพออกพอใจ หรือตรงกันข้าม สร้างความตกต่ำ ไร้ประสิทธิภาพ นำมาซึ่งความท้อแท้สิ้นหวังไว้ จนเอือมระอา

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็อาจนำมาเป็นจุดตัดสินใจกันได้

ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือเรื่องเลว ล้วนนำมาเป็นข้อมูลเพื่ออนาคตได้ทั้งนั้น!

14 พ.ค.2566 วันแห่งความเท่าเทียม วันที่คนไทยทุกผู้นามมีอำนาจสูงสุดโดยเสมอหน้ากัน จงใช้มันตัดสินอนาคต และกาบัตรเลือกด้วยมือของเรา...

“เบี้ยหงาย”