บี บางปะกง
'หมอกีฬา' เตือนภัย...ฮีตสโตรก
สืบเนื่องจากข่าวการเสียชีวิตของ คุณชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม จากภาวะฮีตสโตรก (Heat Stroke) ใน นสพ.และสื่อต่างๆ เมื่อวานนี้ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติมิตรของท่าน ในการสูญเสียบุคคลซึ่งเป็นที่รักในครั้งนี้ด้วย
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้น ยังไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการออกมา มีเพียงการรายงานข่าวเพียงสั้นๆ ว่า เสียชีวิตจากฮีตสโตรก และยังรายงานข่าวจาก คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รมต.สาธารณสุข อย่างสั้นๆ อีกว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากหัวใจวาย
ผมจึงขออนุญาตเรียนให้ คุณบี และแฟนๆ คอลัมน์ของคุณบี ให้เป็นความรู้ไว้แบบกว้างๆ โดยจะใช้หัวข้อเรื่องว่า การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันจากการเล่นกีฬา (Sudden Death in Sports) เพราะถือว่าการแข่งรถก็เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง
แต่เพื่อให้สอดคล้องกับที่จั่วหัวเรื่องเอาไว้ และคนส่วนใหญ่รับรู้ และพูดกันถึงเรื่องฮีตสโตรกกันมากในขณะนี้ ผมขอให้ความรู้เกี่ยวกับฮีตสโตรกไว้คร่าวๆ ดังนี้ครับ
ภาวะฮีตสโตรก หมายถึงภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส (104 องศาฟาเรนไฮต์) และระบบการปรับลดอุณหภูมิภายในร่างกายในขณะนั้นไม่ทำงาน ทำให้อุณหภูมิสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใน 10-15 นาที มีผลทำให้อวัยวะสำคัญต่างๆ ทำงานไม่ได้ตามปกติติดต่อกัน ภายหลังที่อุณหภูมิสูงขึ้นมากๆ เช่น สมอง หัวใจ ไตทำงานผิดปกติ จึงมีผลทำให้เกิดอาการที่แสดงว่าสมองทำงานผิดปกติ เช่น สติสัมปชัญญะผิดปกติถึงขนาดหมดสติได้ มีอาการสมองสับสน พูดจาไม่เป็นคำ มีอาการชักเกร็ง ร่างกายมีไข้สูง ผิวหนังอาจจะแห้ง ระบบการถ่ายเทความร้อนของร่างกายด้วยการขับเหงื่ออาจสูญเสียไป
ฮีตสโตรก มักเกิดในผู้ที่มีกิจกรรมทางกายที่ต้องออกแรงมากๆ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด เช่น ในประเทศไทย ที่พวกเรากำลังประสบกันอยู่ในขณะนี้
รวมทั้งสภาพร่างกายของผู้ที่เป็น ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม เช่น ไม่ได้ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทั้งก่อนที่จะมีกิจกรรม หรือขณะมีกิจกรรม อาจไม่ได้มีการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ หรือเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่ร่างกายอาจไม่ได้สมบูรณ์แข็งแรง ก็อาจทำให้เกิดมีอาการรุนแรงในครั้งนั้นได้
การรักษาเบื้องต้น หากเราสงสัยว่าเป็นภาวะฮีตสโตรก คือ
1. การนำตัวเข้าไปในพื้นที่ร่ม ไม่โดนแดด มีการถ่ายเทความร้อนที่ดี อาจมีการพัดลมเป่า ให้การไหลเวียนอากาศในพื้นที่นั้นดีขึ้น
2. ให้นำผู้ที่สงสัยว่าจะมีอาการ นอนราบ และยกปลายเท้าให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของส่วนเท้า ปลายขา และน่อง ให้ไปสู่ลำตัว ศีรษะ และสมองให้มากยิ่งขึ้น จะช่วยให้อวัยวะสำคัญๆ เช่น หัวใจ สมอง มีการทำงานที่ดีขึ้นได้
3. การลดอุณหภูมิของแกนกลางของร่างกาย (Body Core Themperature) ด้วยการถอดเสื้อผ้าที่อาจห่อหุ้มร่างกาย และทำให้การถ่ายเทความร้อนในร่างกายออกได้ไม่ดี เอาผ้าชุบน้ำเย็นธรรมดา หรือน้ำที่ผสมน้ำแข็งก็ได้ เช็ดให้ทั่วตัว โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ และขาหนีบ ซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิความร้อนในร่างกายให้ลดลงได้มากขึ้น
4. มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการนำร่างกายลงไปแช่ในภาชนะที่ใส่น้ำขนาดใหญ่ ที่สามารถเอาตัวลงไปแช่ทั้งตัวได้เลย ก็จะช่วยทำให้สามารถลดอุณหภูมิแกนกลางในร่างกาย ให้ลดลงได้รวดเร็วขึ้นกว่าการใช้ผ่าเย็นเช็ด แต่มีข้อพึงระวังในกรณีที่ผู้ป่วยที่อาจมีความรุนแรง ที่อาจหมดสติ หรือในกลุ่มที่อาจต้องการการช่วยชีวิต ที่ต้องติดตามการเต้นของหัวใจ หรือในรายที่ต้องใช้เครื่องกระตุกหัวใจ เพราะหากร่างกายอยู่ในน้ำ การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวอาจทำไม่ได้ หรืออาจมีอันตรายเกิดขึ้นได้
5. มีคำแนะนำเรื่องการใช้ยาแอสไพริน หรือพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ อาจจะไม่ได้ผล สู้การใช้ผ้าเย็นเช็ดตัว หรือการแช่ทั้งตัวไม่ได้
6. หากให้การรักษาเบื้องต้นได้ดีพอสมควรแล้ว การเคลื่อนย้ายต่อไปยัง รพ. เพื่อส่งต่อให้แพทย์และทีมงานใน รพ.ที่มีความพร้อม ก็จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
7. การสูญเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากฮีตสโตรกมักพบได้ไม่บ่อย โดยเฉพาะกรณีในผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาเรื่องหัวใจมาก่อน เพราะผลส่วนใหญ่ที่เกิดกับสมองนั้น หากมีการสูญเสียการทำงานของสมองเป็นหลัก แต่หัวใจยังทำงานได้ดีอยู่ ผู้ป่วยมักไม่เสียชีวิตทันที เราสามารถพบเห็นกรณีฮีตสโตรกที่ไม่เสียชีวิต ต้องรักษาปัญหาเรื่องไต เรื่องระบบการหายใจ และการฟื้นฟูการทำงานของสมอง ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน
สำหรับการป้องกันภาวะฮีตสโตรกไม่ให้เกิดขึ้น มีดังนี้
1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากๆ ในที่ๆ มีอากาศร้อน มีความชื้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจจะไม่ค่อยมีการหมุนเวียนของอากาศที่มากพอ
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอสม่ำเสมอเป็นประจำ โดยใช้หลักดังนี้ ทุกครั้งที่ไปปัสสาวะ ให้ดูว่าสีปัสสาวะไม่เหลืองเข้ม สีค่อนข้างไปทางใส แสดงว่าน้ำในร่างกายช่วงนั้นมีความเพียงพอ และหากมีโปรแกรมที่จะออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง จะมีการใช้แรงจากร่างกายมากๆ เราอาจต้องเตรียมตัวดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ ก่อนไปร่วมกิจกรรม 3-4 ชั่วโมง ด้วยการรับประทานน้ำ จนทำให้ปัสสาวะมีสีค่อนข้างใส ก็จะมีส่วนในการป้องกันฮีตสโตรกได้
3. ระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม ก็ควรดื่มน้ำเพิ่มเติมเข้าไปเป็นระยะๆ ก็สามารถช่วยป้องกันฮีตสโตรกได้
4. เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มีการระบายอากาศได้ดี ก็มีความสำคัญ
5. หลายๆ ท่าน หรือแฟนฟุตบอล คงเคยได้ยินคำว่า Cooling Break ในการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งเริ่มครั้งแรกในการแข่งขันฟุตบอลของกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง 10 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งต่อมามีการเขียนไว้ในระเบียบการแข่งขันของฟีฟ่าเลยว่า ต้องมีการใช้เครื่องมือการวัดอุณหภูมิสัมพัทธ์ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า WBGT World Bulb Glove Thermometer เป็นการวัดทั้งอุณหภูมิ ความชื้น กระแสลม โดยให้แพทย์ผู้ทำหน้าที่ในการแข่งขัน ใช้เครื่อง WBGT ไปวัดที่กลางสนามตรงจุดเขี่ยลูกบอล ในนาทีที่ 60 และ 90 ก่อนการแข่งขันจะเริ่ม หากวัดได้ 32 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า กรรมการจะต้องจัดให้มี Cooling Break 3 นาที (นาทีที่ 30 และนาทีที่ 75) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันฮีตสโตรกให้กับนักฟุตบอล รวมทั้งผู้ตัดสินด้วย ที่มีโอกาสเกิดได้เช่นกัน
6. สำหรับผู้ที่มีหน้าที่จัดการแข่งขันกีฬา หรือกิจกรรมกลางแจ้ง ที่มีคนมาร่วมมากๆ ควรมีมาตรการการป้องกันในเรื่องเหล่านี้ร่วมด้วย เพราะในหลายๆ ครั้งที่มีข่าวว่า ผู้จัดเตรียมน้ำดื่มไว้ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้เข้าแข่งขัน หรืออาจจัดจุดบริการน้ำให้ไม่เหมาะสม
7. สำหรับทีมบริการทางการแพทย์และกรณีฉุกเฉิน มีความสำคัญค่อนข้างมาก แต่เป็นสิ่งที่ผู้จัดการแข่งขันมักจะไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร บางครั้งเพียงแต่ให้มีชุดปฐมพยาบาลเท่านั้น แต่องค์ประกอบของบุคลากรและอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ไม่มีการฝึกซ้อม หรือ Drill จำลองสถานการณ์ เนื่องจากการเกิดเหตุรุนแรงมีไม่บ่อย จึงมักมีการละเลยกันบ่อยๆ แต่เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน เมื่อมีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้น ก็จะลุกขึ้นมาตื่นตัวกันครั้งหนึ่ง
ผมขออนุญาตผัดเอาเรื่อง Sudden Death จากกรณีสาเหตุจากเรื่องหัวใจ เอาไว้ในข้อเขียนครั้งต่อไปนะครับคุณบี
นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์
อากาศที่ร้อนตับแลบของบ้านเราในเวลานี้
ต้องขอบคุณบทความอันทรงคุณค่าของ พี่หมอไพศาล จันทรทิทักษ์
ประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย
ที่มอบให้แฟนๆ “ไทยรัฐสปอร์ต” โดยเฉพาะ
เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ถึง ภาวะฮีตสโตรก (Heat Stroke)
ก่อนที่มหันตภัยอันน่ากลัว จะสร้างความสูญเสีย
ให้กับทุกท่าน...อย่างคาดไม่ถึง !!!
- บี บางปะกง -
joggingboy_be@yahoo.com