เบี้ยหงาย
เมื่อครั้งฟุตบอลโลก 2022 ก็มีกระแสต่อต้านกับการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดซึ่งแพงหูฉี่ ตอนแรก 1,600 ล้านบาท ก่อนจะขยับลงมาได้เหลือ 1,400 ล้านบาท ในตอนหลังที่มีการตกลงซื้อกันไป ส่วนกระบวนการทางภาษีก็มาว่ากันในเรื่องภายใน
การต้านครั้งนั้น แรงต้านหลักจากนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนในประเด็นที่ กสทช.ผู้ร่วมควัก จะเอาเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มาจ่าย
มาถึงกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา ซึ่งกำลังเจรจากันอยู่นี้ก็มีการต่อต้านออกมาอีก เที่ยวนี้เป็นประชาชนทั่วไป ที่เห็นว่าค่าลิขสิทธิ์ที่ขายให้กับประเทศไทย 28 ล้านบาทนั้นสูงกว่าชาติอื่นๆและสูงกว่าในอดีตมากมาย ซึ่งเดิมมีการเก็บเพียงค่าธรรมเนียม ไม่ได้มีการขายลิขสิทธิ์
การต้านทั้งสองเกมนี้มีทั้งเหมือนและต่าง เหมือนในเรื่องราคาที่เห็นว่า “สูง” ในบริบทของแต่ละเกม แม้ว่าฟุตบอลโลกกับซีเกมส์มีความต่าง ไม่ใช่แค่ต่างกันในเกม ความเป็นที่นิยม แต่ต่างกับอันเกี่ยวเนื่องกับการมี “นักกีฬาไทย” ร่วมแข่งขันด้วย
และแม้ว่าจะมีผู้คัดค้านไม่มากนัก แต่ก็ต้องรับฟัง หาเหตุ และทำความเข้าใจซึ่งกันและกันต่อไป
สิ่งที่เหมือนอีกอย่างของ 2 เกมนี้คือการอยู่ในกฎ “มัสต์แฮฟ” ของ กสทช.เช่นกัน
จากบทเรียนในฟุตบอลโลก กาตาร์ 2022 ที่เห็นชัดว่ากฎ “มัสต์แฮฟ” และ “มัสต์แครี่” เป็นปัญหาและจะต้องได้รับการแก้ไข แต่ก็ยังไม่ได้แก้ และส่งผลต่อกีฬาซีเกมส์ในครั้งนี้ด้วยระดับหนึ่ง
เที่ยวนี้ กสทช.มีการออกมาระบุกันชัดๆว่า การบังคับใช้ของกฎ “มัสต์แฮฟ” และ “มัสต์แครี่” จะเริ่มต้นก็ต่อเมื่อลิขสิทธิ์ถูกซื้อมาดำเนินการในประเทศไทย แต่หากไม่มีการซื้อเข้ามา กฎดังกล่าวก็ไม่ได้บังคับใช้ เท่ากับว่าซื้อลิขสิทธิ์ใน 7 กีฬาที่ระบุไว้มาเมื่อไหร่ก็จะเข้ากฎมัสต์แฮฟที่ต้องถ่ายทอดสดให้ได้รับชมกันตามช่องทางต่างๆที่กำหนดแบบฟรีๆ แต่ถ้าไม่ซื้อก็ไม่ได้ว่าอะไร
คือ ไม่ซื้อก็ไม่ผิด!
นั่นยิ่งต้องทำให้คิดถึงการออกกฎมัสต์แฮฟ เป็นการส่งเสริมให้คนได้ดูกีฬาดีๆ เป็นกำลังใจให้นักกีฬาไทย กระตุ้นให้นักกีฬาทีมชาติพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนให้หันมาเล่นและมุ่งพัฒนาตัวเองในด้านกีฬา หรือไม่ หรือตีกรอบไว้เพียง ถ้าดูฟรีกันไม่ได้ ถ้ายอมขาดทุนกันไม่ได้ ก็อย่าดูมันเลย
อะไรคือประโยชน์ อะไรคือโทษ อะไรคือความสมเหตุสมผล และใครคือผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ที่แท้จริง
หลังซีเกมส์เดือน พ.ค.ปีนี้ยังมีอีกหนึ่งกีฬาต่อเนื่องกัน ที่อยู่ในกฎมัสต์แฮฟ คือ กีฬาเอเชียนเกมส์ ที่เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะแข่งกัน 23 ก.ย. ถึง 8 ต.ค.
แต่เอเชียนเกมส์ครั้งนี้ ทาง กสทช.ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกับทาง กกท. ไว้ตั้งแต่เมื่อ 30 มิ.ย.2563 แล้ว ซึ่งลิขสิทธิ์กลุ่มนี้รวม 5 กีฬา เอเชียนเกมส์ หางโจว อยู่ในนี้ด้วย ซึ่ง กสทช.สนับสนุนจำนวน 240 ล้านบาท
ก็ไม่รู้ว่าจะมีประเด็นอะไรออกมาอีก
แต่ที่แน่ๆกฎมัสต์แฮฟและมัสต์แครี่ต้องมีการทบทวนโดยเร็วกันแล้ว ว่าจะเอาอย่างไรปล่อยช้าไม่มีอะไรที่เกิดประโยชน์เลย เจียดเวลากับเรื่องภายในมาเร่งแก้กันหน่อยเถอะ...
“เบี้ยหงาย”