หน้าแรกแกลเลอรี่

งานหลักไปแล้ว

เบี้ยหงาย

16 มี.ค. 2566 05:09 น.

ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ซีเกมส์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศกัมพูชา จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันขึ้นระหว่างวันที่ 5-17 พ.ค.นี้ ดูจะมีประเด็นผุดขึ้นมากมาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็น “ประเด็น” เฉพาะกับประเทศไทย หรือเหล่าสมาชิกทั้งหลายด้วย

แต่ภาพที่ออกมาคล้ายกับว่ามีปฏิกิริยากับ ไทยแลนด์โดดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เค้าคิด เราคิด หรือต่างคนต่างคิด คิดกันทั้งคู่

จาก “กุนขแมร์” มวยเขมร เพิ่มมาอีกชนิด “กุน โบกาตอร์” ศิลปะการต่อสู้โบราณอีกแขนงหนึ่งของเขา ที่บรรจุเข้าแข่ง มาถึงเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ยังคาราคาซังกันอยู่

ก็ดูจะมากด้วยอารมณ์กันอยู่ไม่น้อย

หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ซีเกมส์ที่มีการบันทึกกันไว้ กัมพูชานั้นเคยจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 เมื่อปี 1963 หรือปี 2506 ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งกีฬาแหลมทองนั้น ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น “ซีเกมส์” ตั้งแต่ปี 1977 เป็นต้นมา และกีฬาแหลมทองครั้งนั้น สุดท้ายกัมพูชาก็ไม่จัดตามกำหนด เนื่องจากมีข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหารกับไทย ทำให้ถัดมาอีก 2 ปี มาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ปี 1965 ครั้งนั้นจึงนับเป็นกีฬาแหลมทองครั้งที่ 3

ก็คงจะเข้าใจได้ว่า กีฬาซีเกมส์ครั้งนี้มีความหมายกับกัมพูชามากมายเพียงไร การเป็นเจ้าภาพของเขาจึงทุ่มเทอย่างเต็มที่ และเมื่อมุ่งมั่นมาก ก็ย่อมคาดหวังไว้สูงมากไปโดยปริยาย

แต่กีฬา ก็ให้เป็นเรื่องของกีฬา อย่าให้กลายเป็นเรื่องอื่นเลย!

ว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ซีเกมส์ ที่เกี่ยวกับเราเต็มๆ ดีกว่า ไม่ว่าสุดท้ายจะเป็นราคาที่เท่าไหร่ จากตัวตั้งแรกที่ทางเจ้าภาพเสนอขาย 8 แสนเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 28 ล้านบาท โดยการกีฬาแห่งประเทศไทยกำลังเจรจาต่อรอง และวางกรอบต้องไม่ต่างกว่าเดิมมากนัก

ราคาไหน ราคานั้น เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เท่ากับว่า เวลานี้การซื้อลิขสิทธิ์กีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่อยู่ในกลุ่ม “มัสต์แฮฟ” ที่ กสทช.กำหนดไว้

การกีฬาแห่งประเทศไทยต้องเป็นเจ้าภาพทุกครั้ง ทุกเกม!!!

แถมมีการชี้ว่า หาก กกท.มีเอกชนเข้ามาสนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ ก็ต้องกระจายการถ่ายทอด ให้สิทธิกับผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์และแพลตฟอร์มอื่น ตามกฎมัสต์แฮฟด้วย

นั่นหมายถึง เมื่อมีการ “ซื้อ” ไม่ว่า กกท. ซื้ออย่างไร มีคนร่วมควักด้วยหรือไม่ ก็ต้องกระจายตามกฎมัสต์แฮฟ ผูกขาดจำกัดวงไม่ได้

ในทางตรงข้าม หากไม่มีการ “ซื้อ” ก็ไม่ได้ผิดระเบียบ ด้วยไม่มีข้อกำหนด

ต่อไปนี้ กีฬาที่อยู่ในข่าย “มัสต์แฮฟ” คนไทยจะได้ดูก็มีเพียงจากการซื้อของ กกท. เช่นนั้นใช่ไหม

เช่นเดียวกัน หากคนไทยไม่ได้ดู ก็เพราะ กกท. ไม่ซื้ออย่างนั้นหรือ

แล้ว กสทช. ผู้มีส่วนสำคัญกับการทำให้เกิดประเด็นที่คนไทยได้ดู หรือไม่ได้ดู กลับไม่ผูกพันอะไรเลย ทั้งในการ “ควักจ่าย” หรือการหามาซึ่งลิขสิทธิ์

นี่เป็นงานหลักของ กกท.ไปแล้วหรือ...

“เบี้ยหงาย”