หน้าแรกแกลเลอรี่

กว่า 3 เดือนแล้ว

เบี้ยหงาย

8 มี.ค. 2566 05:05 น.

จากจุดเริ่มที่มีการยื่นหนังสือร้องทุกข์การทำงานของผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งลงวันที่ 30 พ.ย. 2565 และทาง กกท.รับเรื่อง ซึ่งลงเลขรับหนังสือไว้ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 2565 ก่อนจะพัฒนามาสู่การแต่งตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีร้องเรียน เมื่อต้นเดือน ก.พ. ซึ่งมี มนตรี ไชยพันธุ์ อดีตรองผู้ว่าการ กกท.และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าการ กกท.เป็นประธาน

คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงก็มีการขมวดประเด็นข้อร้องเรียนออกเป็น 7 เรื่อง และทางหนึ่งคณะทำงานก็มีการออกหาข้อมูลเอง ทั้งพฤติกรรมการทำงานและเอกสาร อีกทางหนึ่งก็เปิดโอกาสให้ ผจก.กองทุน สุปราณี คุปตาสา ชี้แจงและส่งเอกสารประกอบคำชี้แจง

แต่ปรากฏว่าก็ไม่มีการชี้แจงต่อคณะทำงาน หรือส่งเอกสารใดๆมาให้

ขณะเดียวกัน ทางสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ หรือฟอนซา ก็มีการร้องเรียนการทำงานของผู้จัดการกองทุนเข้ามาอีก

ในเวลาไล่เรี่ยกัน หลังรอเอกสารจนครบกำหนด คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงจึงได้สรุปประเด็นตามข้อมูลและเอกสารที่รวบรวมมาได้เอง แจ้งผล พบว่าข้อร้องเรียนมีมูล การกีฬาแห่งประเทศไทย โดย ผู้ว่าการ กกท. ดร.ก้องศักด ยอดมณี จึงได้รวบข้อร้องเรียนทั้งของเดิม และของ “ฟอนซา” เข้ามาพิจารณาร่วมกัน

โดยผู้ว่าการ กกท.ลงนามเมื่อ 3 มี.ค. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฯ ซึ่งระบุอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558

ซึ่งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มี “บิ๊กแป๊ะ” ถิรชัย วุฒิธรรม เป็นประธาน พร้อมกรรมการรวม 7 คน น่าสนใจที่กรรมการชุดนี้มีมือกฎหมาย ทั้งมีประสบการณ์ด้านการสอบสวนอย่าง วินัย ดำรงค์มงคลกุล อดีตอธิบดีอัยการคดีพิเศษ พัชรางสุ์ ชัยวรมุขกุล อัยการ จ.สมุทรปราการ และ ณพงศ์ ศิริขันตยกุล อดีตรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งถือเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีทั้งเนื้อหาและระบบงานโดยตรง ที่สำคัญแต่ละท่านไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรเลย

จึงน่าจะเป็นที่ไว้วางใจ และเชื่อใจในความยุติธรรม ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งต่อผู้ถูกร้อง และกลไกในการตรวจสอบ

ขณะที่ผู้ถูกร้อง ถูกตรวจสอบ คือผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จนถึงตอนนี้ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ทำงานคู่กับ กกท. ที่ตั้งกรรมการมาสอบ และสมาคมกีฬาที่มีการร้องเรียนไปตามปกติ ยังไม่ได้ถือว่ามีความผิด อย่างวันอังคารที่ผ่านมา “ไทยรัฐ” พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ แต่ก็ได้รับแจ้งจากคนใกล้ชิดว่าเดินทางไปราชการที่สหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีผลต่อการปฏิบัติงานแต่อย่างไร

เรื่องนี้คาราคาซังกันมานาน หากนับเวลาตั้งแต่จุดเริ่มที่มีการร้องเรียนจนถึงวันนี้ก็กว่า 3 เดือนแล้ว กระบวนการสืบค้นหาข้อมูลมีมาต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่า แนวทางการทำงาน สอบสวนหาข้อเท็จจริง ที่มาถึงมือคณะกรรมการชุดปัจจุบันจะออกมาอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน และจะสรุปกันได้หรือไม่

ด้วยกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งก็คือขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม คงจะใช้ภาษิตทางกฎหมายเข้ามาจับได้เช่นกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความไม่ยุติธรรม”

ช้าไปก็ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกสังคมจับจ้อง แทนที่จะได้เคลียร์ตัวเองโดยเร็ว ทางหนึ่ง ช้าไปก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของระบบ ทั้งกฎหมาย กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคมนี้

หวังว่าจะสรุปกันได้ในกรรมการชุดนี้ และเป็นไปโดยไม่ชักช้า ด้วยผ่านมานานเกินไปแล้ว...

“เบี้ยหงาย”