หน้าแรกแกลเลอรี่

ทิศทาง มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ

โจโจ้

3 มี.ค. 2566 04:35 น.

หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติอยู่ภายใต้คำสั่ง ของ หัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ หรือ “คสช.” เพื่อจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาที่หมักหมมและที่เรื้อรังในสถาบันแห่งนี้ มานานวัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะออกประกาศฉบับนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าภายหลังที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2562 จะประกาศใช้ สถาบันดังกล่าวยังไม่สามารถก้าวหรือเดินไปสู่ทิศทางที่กำหนดตามพระราชบัญญัติได้มากนัก

โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการที่ว่าด้วยการได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยรวมทั้งกัปตันหรืออธิการบดีที่จะเป็นจอมทัพนำขุนศึกเพื่อการขับเคลื่อนให้สถาบันบรรลุตามเป้าประสงค์

ย้อนกลับมาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้จะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือการแก้ไขปัญหาต่างๆที่สะสมและยังหาข้อยุติไม่ได้

จากประกาศดังกล่าวดูเหมือนว่าเวลานี้ ม.การกีฬาแห่งชาติเปรียบเสมือนคนไข้ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หรือหากมองอีกด้านหนึ่งก็คือการยึดอำนาจของสภามหาวิทยาลัยให้กลับเข้าสู่การแก้ไขและอยู่ภายใต้ข้อบังคับของคำสั่งหัวหน้า คสช.นั่นเอง

ที่น่าสนใจตามมาภายหลังการยึดอำนาจกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยปลัดกระทรวงแจ้งคำสั่งกระทรวงฯที่ 57/2566 เรื่องให้ผู้ดำรงตำแหน่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่และแต่งตั้งบุคคลให้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ

คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ แทนสภามหาวิทยาลัยมีจำนวน 9 คน โดยมี “พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ” เป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะบุคคลดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแต่งตั้งให้ “นายวิษณุ ไล่ชะพิษ” ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีอีกตำแหน่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากส่องไปดูรายนามของคณะกรรมการทั้ง 9 คนวันนี้ คงไม่สามารถจะชี้ชัดว่าแต่ละท่านมีประสบการณ์ด้านการบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษามากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ากว่าจะคลอดออกมาได้กระทรวงคงมีการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ

จากนี้ไปสิ่งที่คอกีฬาและคนในแวดวงการศึกษาต้องจับตาระยะเวลา 180 วัน ที่คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการสะสางปัญหาต่างๆตามที่ได้รับมอบหมายการเปลี่ยนแปลงหรือทิศทางของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้จะเดินไปตามที่พระราชบัญญัติกำหนดมากน้อยแค่ไหน

หนึ่งในมิติของความท้าทายของคณะกรรมการตลอดจนผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีคือการให้ได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งอธิการบดีที่พร้อมจะขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความต่างจากสถาบันการพลศึกษาดังในอดีต

ยิ่งไปกว่านั้นเชื่อว่าผู้มีสายเลือด “เขียว ขาว เหลือง” หรือชาวพลศึกษา ทั่วประเทศในฐานะผู้มีส่วนสำคัญกับการสร้างเกียรติภูมิและวาดประวัติ ศาสตร์อันงดงามจากอดีตที่มีการส่งต่อถึงยุคปัจจุบันคงไม่อยากจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ม.การกีฬาแห่งชาติ ก็คือเหล้าเก่าในขวดใหม่” อีกต่อไป

ดังนั้นทิศทางอนาคตของสถาบันแห่งนี้จะก้าวข้ามหลุมดำหรือวังวนของปัญหาอันเนื่องมาจากคณะบุคคลหรือจะด้วยเหตุใดก็ตาม จากนี้ไปคงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการทั้งหมดว่าจะวางรากฐานเพื่อนำไปสู่แสงสว่างที่คนทั้งมวลคาดหวังได้หรือไม่อย่างไร.

โจโจ้