หน้าแรกแกลเลอรี่

หาคำตอบ

เบี้ยหงาย

20 ก.พ. 2566 05:06 น.

อดีตประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ และปัจจุบันเป็นประธาน กิตติมศักดิ์คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ดูจะอดรนทนไม่ไหว ออกมาเป็นปากเสียง ให้กับสมาคมกีฬาต่างๆ โดยได้พูดกลางที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกไทย เมื่อวันก่อน ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ซึ่งท่านแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า รวมถึงการไม่ได้รับ การสนับสนุนงบประมาณจาก กกท. และกองทุนพัฒนา การกีฬาแห่งชาติ ส่งผลกระทบถึงสมาคมกีฬาต่างๆ

พล.อ.ยุทธศักดิ์ยังชี้ว่า เรื่องนี้ทำให้หลายสมาคมขาดความมั่นใจว่าในปี 2566 จะได้รับการสนับสนุนเงินจาก กกท.และกองทุนฯหรือไม่ และมากน้อยเท่าใด จึงไม่กล้าเสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพแข่งขัน รวมถึงไม่ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมชิงชัยในระดับนานาชาติหลายๆรายการ แต่กลับมีบางสมาคมได้รับการสนับสนุน งบหลายรายการ จนหลายสมาคมแคลงใจ และมองว่า เป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรม

ทั้งยังมีประเด็นที่สหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (อิฟมา) ที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนา การกีฬาแห่งชาติ โดยมีการเสนอเงินจำนวน 270 กว่าล้านบาทในปีที่แล้ว และปีนี้ขอรับการสนับสนุนอีก 300 ล้านบาท ซึ่งก็นับว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของ กองทุนฯ เพราะผู้ใช้เงินเป็นสหพันธ์กีฬา ไม่ใช่ผู้ที่มี สิทธิ์ใช้เงิน เรื่องนี้สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยหลายๆ สมาคมเกิดความแคลงใจเป็นอย่างมาก

ขณะที่ ผจก.กองทุนฯก็ได้ปฏิเสธถึงการสนับสนุนอิฟมาในการทำกิจกรรมต่างๆ และตัวเองก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ แต่เป็นเพียงผู้ที่นำเสนอการขอรับการสนับสนุนจากบอร์ดกองทุนฯ เท่านั้น อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้มากน้อยเพียงใด อยู่ที่คณะกรรมการบอร์ดกองทุนฯ ในการพิจารณา

นี่จึงไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน ด้วยเดิมทีบุคลิก ของอดีตประธานโอลิมปิกนั้น ท่านเป็นคนประนี ประนอม ดูจะไม่ชอบความขัดแย้งแต่อย่างไร ครั้งนี้ทำไมจึงทนไม่ไหว ยอมที่จะออกมา และดูจะถูกกระแทกหนักเสียด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็น “ปัญหา” และเป็นปัญหาที่หลายสมาคมกีฬาข้องใจจนต้องหยิบยกขึ้นมาพูดกัน

ถัดมามีความเห็นของคนมวยที่อยู่ในวงการมานานอย่าง “ทิม ศิษย์สองพี่น้อง” ทิมาธี ธรรมาชีวะ หัวหน้าค่ายมวยศิษย์สองพี่น้อง เป็นข่าวเผยแพร่ออกมา โดยพูดถึงเรื่องของ “กุนขแมร์” หรือมวยเขมร ที่มีการนำไปขยายผล โดยให้ความเห็นว่า กีฬาต่างๆ ในชาติสมาชิกซีเกมส์มีสิทธิเสนอกีฬาใดๆก็ได้ หรือไม่จัดกีฬาใดๆก็ได้ กุนขแมร์ไม่ได้เกี่ยวกับมวยไทย เป็นเพียงศิลปะป้องกันตัวชนิดหนึ่งของกัมพูชา หรือ เขมร แต่อิฟมาไปขยายวง ซึ่งที่จริงแล้วไม่มีสิทธิเลย เพราะไม่ใช่องค์กรในนามประเทศไทย แต่ทำให้เกิด ประเด็นตามที่เป็นข่าว อีกทั้งซีเกมส์เป็นกีฬาเพื่อความ สามัคคีของประเทศในภูมิภาค มวยไทยก็คือมวยไทย ไม่น่าไปเปรียบเทียบกับกีฬาของชาติใดเลย และมวยไทยไปไกลมากแล้ว ทั้งมวยอาชีพและสมัครเล่น ไปไกลกว่าที่จะไปสนใจกุนขแมร์ที่อยู่ในซีเกมส์

นี่คือมุมมองของคนมวยไทยที่น่าสนใจ และคงจะตรงใจกับอีกหลายคน

หลากหลายเรื่องที่เห็นและเป็นไปยามนี้ ไม่ว่า จะเป็นการออกมาพูดของทั้งสองท่านข้างต้น หรือก่อนหน้านี้ พล.อ.เกษม นภาสวัสดิ์ คุณครูของนายก รัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยแสดง ความเห็นในทิศทางที่คล้ายกัน รวมทั้งดราม่ากุนขแมร์ และยังมีเรื่องของความคลุมเครือในองค์กรมวยไทย ต่อเนื่องถึงบริษัทที่ทำธุรกิจมวยไทย ซึ่งใช้ชื่อพ้องกัน ถือสิทธิ์เป็นเจ้าของแบรนด์ซึ่งปรากฏโลโก้ในการทำกิจกรรมร่วมกับอิฟมาและกองทุนฯ

คลุมเครือทั้งชื่อที่ตั้งให้สอดคล้องกัน ตัวย่อภาษาอังกฤษก็ใช้ในลักษณะเดียวกัน สมาคมกับบริษัท ทำธุรกิจชื่อคล้ายกันหมด ตัวบุคคล ตัวกรรมการผู้มีอำนาจ บ้างก็มาทับซ้อนกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

ไม่เท่านั้น ยังมีบริษัทที่มีชื่อของคนใกล้ตัว ปรากฏขึ้นมาอีก ไปจดไว้เมื่อ มี.ค.2565 ไม่นานคงได้เปิดกันออกมา

ยิ่งคลุมเครือมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นบางสิ่ง บางอย่างที่โยงใยเป็นจุดเชื่อมกันอยู่ลอยขึ้นมาอย่างเด่นชัด

มวยไทยกับอิฟมา สิทธิแบ่งแยกและเกี่ยวพันกัน อย่างไร “มวยไทย” ที่เราๆท่านๆคนไทยทั้งประเทศหวงแหน ภาคภูมิใจมาช้านาน ความเชื่อของเราที่ว่า “มวยไทย” อยู่ในสายเลือดตั้งแต่เกิด เรามอบสิทธิ์นี้ ให้ใครตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือใครเป็นผู้มีสิทธิ์ ถือสิทธิ์สามารถส่งต่อมอบให้ใครก็ได้หรือ เคลียร์กันให้ชัด

คนไทยได้ความภูมิใจ ส่วนคนมวยไทยจริงๆ ในโครงข่ายต่างๆได้อะไร เห็นยังต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดกันอยู่เลย แล้วผลประโยชน์อันมากมายมหาศาลไหลไปตรงไหนบ้าง ต้องมีคำตอบ!

มวยไทยฝันหวานอยากมีแข่งในโอลิมปิก มวยไทยซอฟต์เพาเวอร์อันภาคภูมิกว่าจะไปถึง ตรงนั้น ทำความสะอาดกันเองก่อนดีไหม...

“เบี้ยหงาย”