ไทยรัฐฉบับพิมพ์
จากเดิมที่อยู่แต่หลังไมค์ พูดกันเองแบบปากต่อปากสนทนากันระหว่างสมาคมกีฬาด้วยกันเอง มาร่วม 2 ปี
ก่อนที่บรรดาผู้บริหารสมาคมกีฬาหลายแห่ง จะค่อยๆหมดความอดทน มาระเบิดอารมณ์ ระบายความในใจพร้อมกันในการประชุมสรุปผลการดำเนินงาน ประจำปี 2565 และแผนดำเนินการประจำปี 2566 ตามยุทธศาสตร์สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดโดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่โรงแรมแกรนด์ โฟร์วิง คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565
ถึงปัญหาที่ได้รับจากการทำงานของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ!!!ตอนนั้นมีหลายประเด็น ทั้งเรื่องเงินค้างจ่าย ที่สมาคมกีฬาได้รับผลกระทบ จนเรียกกันติดปากว่า เงินค้างท่อ เพราะบางสมาคมใช้เวลานานกว่าจะได้รับ หรือเวลาผ่านไปนานมาก บางสมาคมยังไม่ได้ก็มี หรือจะเป็นการจัดสรรงบให้สมาคมกีฬาไม่เป็นธรรม ก็เป็นหัวข้อที่อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
จนล่าสุด ปัญหาการทำงานของกองทุนฯถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้ง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากมีผู้ร้องทุกข์ ทำหนังสือถึงผู้ว่าการ กกท. ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ว่า ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ ขอให้ผู้ว่าการ กกท. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อร้องเรียน ซึ่งมีทั้งหมด 11 ข้อ และระงับการทำหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ เพื่อไม่ให้ความเสียหายและความขัดแย้งลุกลาม
หลักๆก็เป็นเรื่องการจัดสรรงบที่ไม่เป็นธรรม มีการเอื้อพวกพ้อง หลายชนิดกีฬา โดยเฉพาะอิฟมา ได้รับงบประมาณด้านมวยไทย ไปมากเกินจริงเป็นต้น
จากนั้น ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. รับเรื่องดังกล่าวไว้ ลงเลขรับ 23296 วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ต่อมา ดร.ก้องศักดยืนยันว่า กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งจะเสร็จสิ้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ จะทำอย่างตรงไปตรงมาและจริงจัง เพราะข่าวที่ออกไป กระทบต่อภาพลักษณ์ของทั้ง กกท.และกองทุนฯ
ในเรื่องนี้หลายฝ่ายก็ให้ความสนใจด้วย ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ส่งทีมงานมาสอบถามถึง กกท. หลังมีการเสนอข่าวไม่นาน และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานบอร์ดกองทุนฯ หรือแม้กระทั่ง คณะกรรมาธิการการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ก็เชิญ กกท. ไปสอบถาม เพราะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ สมาคมกีฬาได้รับความเดือดร้อนจะรอช้าไม่ได้
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางปัญหาสารพัดที่สมาคมกีฬาไม่ค่อยแฮปปี้ กับการทำงานของกองทุนฯ ก็เกิดคำถามตามมาพร้อมๆกัน ส่วนใหญ่ยังมีความคาใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานะของกองทุนฯจริงๆแล้ว เป็นเช่นไรกันแน่
มีอำนาจหน้าที่มากกว่า หรือเทียบเท่าหรือน้อยกว่า กกท. !!!
เรื่องนี้ฮอตสปอร์ตหาข้อมูลรอบด้านมาให้ เพื่อจะได้คลายข้อสงสัยกัน โดยอ้างอิงจากพระราชบัญญัติ กกท. พ.ศ.2558 หมวด 5 กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ในมาตรา 36 ระบุว่า ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่ากองทุนพัฒนา การกีฬาแห่งชาติ ใน กกท. เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือ และจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
ให้ กกท.เก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุนฯ และดำเนินการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ตาม พ.ร.บ.นี้ เงินและทรัพย์สินให้เป็นของ กกท. เพื่อใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
โดยคณะกรรมการกองทุนฯ มีรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน รองประธาน 3 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และปลัดกระทรวงการคลัง มีผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ประธานโอลิมปิกไทย ประธานพาราลิมปิกไทย ผู้แทนสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมกีฬาจังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ
ส่วน ผู้ว่าการ กกท. เป็นกรรมการบริหาร กองทุนฯ และเลขานุการ!!!
ทั้งนี้ มาตรา 46 ยังระบุด้วยว่า ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ มีอำนาจหน้าที่บริหารกองทุนฯ รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์และการจัดการกองทุนฯ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ (บอร์ด กกท.) กำหนด, รายงานสถานะการเงิน และการบริหารกองทุนฯ ต่อคณะกรรมการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ส่วนในชั้นระเบียบของบอร์ด กกท. ข้อ 6 ก็บอกไว้ด้วยว่า ให้ กกท.กำหนดโครงสร้างการบริหารกองทุนฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านต่างๆ ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และนโยบายด้านการกีฬาของรัฐ
ขณะที่ตำแหน่งผู้จัดการกองทุนฯนั้น ตามพ.ร.บ. กกท. ไม่ได้มีการกำหนดเรื่องของผู้จัดการกองทุนฯเอาไว้ แต่บอร์ด กกท. ออกกฎในชั้นระเบียบให้มีสำนักงานกองทุนฯ และผู้จัดการกองทุนฯขึ้นมา ซึ่งจะเป็นคนใน กกท. ระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป หรือเป็นคนนอกก็ได้
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการอ้างด้วยว่ากองทุนฯดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน แต่เมื่อไปดูจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว พบว่า มีการแจกแจงเรื่องนี้ในหมวด 2 ทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ส่วนที่ 1 การขอจัดตั้ง
มาตรา 15 ระบุว่า ทุนหมุนเวียนที่หน่วยงานของรัฐขอจัดตั้งตามมาตรา 15 จะต้องมีความจำเป็นต้องจัดตั้งตามนโยบายของรัฐบาล, ไม่มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับภารกิจปกติของหน่วยงานรัฐที่ขอจัดตั้ง และไม่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอื่น หรือทุนหมุนเวียนที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว
ไม่เป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือกิจกรรมที่เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ และมีลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ดร.ก้องศักด ยอดมณี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตาม พ.ร.บ.กกท. กำหนดบทบาทหน้าที่ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ไว้ชัดเจนว่า กองทุนฯอยู่ใน กกท. แม้กองทุนฯจะมีบอร์ดกองทุนฯ แยกเฉพาะออกไป แต่ก็ใช่ว่าจะทำงานได้อย่างอิสระ ยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบอร์ด กกท. และ กกท.
สำหรับตำแหน่งผู้จัดการกองทุนฯเทียบเท่าระดับฝ่ายหรือรองผู้ว่าการ กกท.!!!
“ส่วนข้อถกเถียงว่า การดำเนินงานของกองทุนฯ อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน ตรงนี้ ก็ชัดเจนอย่างที่บอกไปแล้วข้างต้น ว่า กองทุนฯ ตั้งขึ้นมาอยู่ใน กกท. และ พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน ก็บอกชัดด้วยว่า กองทุนฯไม่ได้เป็นนิติบุคคล จึงไม่สามารถดำเนินการเพื่อมาแข่งขันกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งในที่นี้ก็คือ กกท.”ผู้ว่าการ กกท.กล่าวในตอนท้าย
ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ฉบับใดก็สะท้อน ได้ว่า เป้าประสงค์ของข้อกฎหมาย ต้องการที่จะให้กองทุนกีฬาที่มีเงินหมุนเวียนต่อปีกว่า 5 พันล้านบาท เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของ กกท. ไม่ใช่มาทำหน้าที่ซ้ำซ้อน จนทำให้สังคมกีฬาสับสน
ทาง กกท. โดยผู้ว่าฯ ก้องศักดก็ยืนยัน พร้อมกับสื่อสารไปยังสมาคมกีฬาทั้งหลาย ให้สบายใจได้ว่า จากนี้ไป กกท. จะทำหน้าที่กำกับการทำงานของกองทุนฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด
กฎระเบียบข้อบังคับ ผ่านการกลั่นกรองมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนดไว้ด้วยความตั้งใจดีที่จะให้วงการกีฬาเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่เหตุใดเรื่องจึงมาเกิดเฉพาะในช่วง 2 ปีกว่าๆ นี้เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อสงสัยที่อยู่ในใจคนกีฬามานาน อะไรคือปัญหา ระเบียบหรือคน
ลองหาคำตอบกัน...
กราวกีฬาไทยรัฐ