ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ขยับเข้าสู่ปีใหม่ พร้อมกับความหวังใหม่ๆ ใครหลายคนภาวนาให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตที่ต้องเจริญรุ่งเรือง หน้าที่การงานที่ต้องก้าวหน้า หรือจะเป็นความรัก ก็ต้องเอาใจช่วยกันต่อไป ให้ทุกคนสมหวังตามที่อยากให้เป็น
ส่วนวงการกีฬาไทยก็เตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งเรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัด และไม่ต้องลุ้น เป็นการปรับปรุงสนามกีฬาหัวหมาก ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาของ “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. คนปัจจุบัน
สำหรับสนามกีฬาหัวหมากนั้นนับได้ว่ามีวิวัฒนาการมาต่อเนื่อง จนตอนนี้ถือเป็นศูนย์กลางของวงการกีฬาไทย ซึ่งภายในพื้นที่ ประมาณ 250 ไร่ ประกอบด้วยสนามหลักๆ 2 สนาม คือ ราชมังคลากีฬาสถาน และอินดอร์สเตเดียม ที่ผ่านการจัดมหกรรมกีฬาระดับชาติ และนานาชาติมาแล้วนับไม่ถ้วน
ยังรวมถึงสนามกีฬาอื่นๆ อีกทั้ง เวโลโดรม, สนามยิงปืน, สระว่ายน้ำ, สระกระโดดน้ำ, อาคารบริการสนามเทนนิส, ศูนย์ฝึกกีฬาในร่ม, ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา และอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งเป็นตึกที่ทำการของ กกท.
ดูจากภาพใหญ่ในเวลานี้ อาจมองว่าเพียบพร้อม มีทุกอย่างแทบจะครบถ้วนแล้ว แต่ในด้านกีฬาอย่างที่ทราบๆกันอยู่ การพัฒนาไม่สามารถหยุดนิ่งได้ ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอด ไม่สามารถอยู่เฉยได้ ไม่เช่นนั้นชาติอื่นๆจะแซงหน้าไปได้ง่ายๆ
ดังนั้น เมื่อปลายปี 2561 ที่ทาง ดร.ก้องศักด เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กกท. คนที่ 13 จึงได้ประกาศไอเดียต้องการที่จะยกระดับกีฬาเมืองไทยในหลายๆด้าน เฉพาะอย่างยิ่งกับการปรับปรุงศูนย์กีฬาหัวหมากที่ใช้งานมาอย่างยาวนานสู่การเป็นสมาร์ท เนชั่นแนล สปอร์ต ปาร์ค (Smart National Sports Park)
ศูนย์กลางทางการกีฬาอย่างครบวงจร
หมุดหมายสำคัญของโครงการนี้ ดร.ก้องศักดต้องการพัฒนาพื้นที่สำหรับงานด้านกีฬาเป็นเลิศ ทั้งด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การกีฬาและการแพทย์ด้านกีฬา เพื่อสนับสนุนนักกีฬา บุคลากรทางด้านการกีฬา การพัฒนาพื้นที่ให้บริการ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการกีฬา เพื่อสร้างรายได้จากการพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมกิจกรรมกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จะมีการสร้างพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา อาทิ ห้องประชุม ห้องฝึกอบรม ศูนย์กลางการค้าด้านกีฬา รวมถึงการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว และนันทนาการส่งเสริมสุขภาพประชาชน
ในช่วงแรกของการดำเนินการโครงการนี้ ปี 2562-2563 กกท.ได้จ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า และผลกระทบในพื้นที่สนามกีฬาหัวหมาก
โดยได้ข้อสรุปถึงแนวคิดในการพัฒนา จะต้องเป็นการให้บริการด้านการกีฬา และให้มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ควบคู่กัน ซึ่งบอร์ด กกท.เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เห็นชอบในเรื่องนี้
ไฟเขียวขอบข่ายการทำงานโครงการสมาร์ท เนชั่นแนล สปอร์ต ปาร์ค ไว้ที่ 3 เฟส เฟสแรก ปี 2563–2565 เฟส 2 ปี 2566–2569 และ เฟส 3 ปี 2570-2575 กรอบงบประมาณรวมกว่า 12,000 ล้านบาท
จะมีการปรับปรุงราชมังคลากีฬาสถาน, อินดอร์สเตเดียม, สร้างศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา, ศูนย์พัฒนาบุคลากรกีฬา, สร้างอาคารที่พักนักกีฬา 800 เตียง และ 1,200 เตียง, อาคารที่พักสำหรับบุคลากรทางการกีฬา, ที่พักบุคลากร กกท., ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ, ศูนย์กีฬาทางน้ำ, ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา และศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านกีฬา
ต่อมาช่วงปี 2564 มีการศึกษาความเป็นไปได้โครงการต่ออีกครั้ง โดยสำนักศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีโจทย์สำคัญคือ หารูปแบบการร่วมทุน ควรเป็นไปในลักษณะใด
ทั้งนี้ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนยังถือเป็นเรื่องใหม่ จึงต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งมูลค่าโครงการสูงมีกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน กกท. จึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยการจ้างที่ปรึกษามาศึกษา จัดทำร่างขอบเขตของงาน
จนในท้ายที่สุด หลังใช้เวลาระยะหนึ่ง ผ่านการศึกษามาพอสมควร เห็นว่ามีความคุ้มค่าต่อการลงทุนในเรื่องนี้ และได้ข้อสรุปรูปแบบการลงทุน ด้วยการเปิดโอกาสให้เอกชนออกแบบตามขอบเขตการพัฒนากิจกรรมกีฬา ตามที่ กกท.กำหนด
เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด
และโอนทรัพย์สินตกเป็นของกรมธนารักษ์ ภายใต้การกำกับโครงการของ กกท. และให้เอกชนเข้ารับจ้างบริหาร รับผิดชอบค่าบำรุงรักษา บริหารจัดการโดยการดูแลของ กกท.ภายใต้สัญญาดำเนินการ 30 ปี โดยให้เวลาในช่วงก่อสร้างไว้ที่ 3 ปี ซึ่งหลักการนี้ได้มีการปรับแก้กฎหมายรองรับแล้ว จะทำให้ กกท.ไม่เป็นภาระทางการเงินต่อภาครัฐ
สมาร์ท เนชั่นแนล สปอร์ต ปาร์ค ในเฟสแรก คาดว่าจะใช้งบประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาทก่อน โดยจะมีการปรับปรุงสนามกีฬาหัวหมาก 4 ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรกปรับปรุงราชมังคลากีฬาสถาน ภูมิทัศน์โดยรอบ พื้นที่จอดรถให้จัดกีฬาระดับโลกได้มาตรฐานโลก, ส่วน 2 โครงการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา เป็นการดำเนินการพื้นที่บริเวณสนามฟุตบอล 1 กกท. และสมาคมกีฬาเปตองเดิม พัฒนาเป็นศูนย์สำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา ยกระดับสนามซ้อมฟุตบอล พร้อมลู่วิ่ง 400 เมตร ขึ้นไปบนดาดฟ้าอาคาร
ส่วน 3 โครงการศูนย์พัฒนาบุคลากรกีฬาเป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณลานจอดรถด้านหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พัฒนาเป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ ประกอบด้วย ห้องประชุม เพื่อรองรับการประชุมสัมมนาต่างๆของ กกท. และส่วนที่ 4 โครงการพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ในราชมังคลากีฬาสถาน และโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ซึ่งตอนนี้ กกท.ได้จัดทำร่างข้อบังคับ กกท. ว่าด้วยการร่วมดำเนินโครงการของ กกท. พ.ศ. ... เพื่อให้สามารถใช้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามกฎระเบียบปฏิบัติภายในของกกท. และ/หรือ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. จัดตั้ง กกท. และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ร่างดังกล่าว ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายของ กกท. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแล้ว ซึ่งเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานบอร์ด กกท.ลงนามแล้ว ก็จะได้ประกาศเชิญเอกชนมาร่วมโครงการ
และจะมีการคัดเลือกเอกชนที่พร้อมที่สุดก่อนลงนามร่วมกัน เพื่อเดินหน้าโครงการใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2566 ตามขั้นตอนต่อไป
ดร.ก้องศักดกล่าวว่า เมื่อข้อบังคับ กกท.ดังกล่าวประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา กกท.สามารถดำเนินการตามข้อบังคับได้ทันที ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ จากนั้นจะประกาศหาเอกชนมาร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาอย่างเร็วสุด 6 เดือน หรือช้าสุด 1 ปี เมื่อได้เอกชนที่พร้อม ก็จะลงนามในสัญญาร่วมทุนทำงานกันต่อไป
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวต่อว่า โครงการนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาด้านกีฬา ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมกีฬา และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการกีฬา กิจกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ความรู้ มีห้องประชุมของสมาคมกีฬา และการศึกษาด้านวิชาการกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา
รวมถึงยังจะมีพิพิธภัณฑ์กีฬา ซึ่งจะทำในรูปแบบดิจิทัล อินเตอร์แอ็กทีฟ เพิ่มขึ้นอีกแห่ง เพื่อเป็นการให้ความรู้ และเป็นแหล่งข้อมูลทางการกีฬาให้กับประชาชน
“ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะส่งผลต่อการพัฒนากิจกรรมการกีฬาไปในอีกระดับหนึ่งในอนาคต สอดรับกับยุทธศาสตร์ทางการกีฬาของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาราชมังคลากีฬาสถานให้เป็นสนามที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ โดยให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ลดการใช้งบประมาณจากภาครัฐ และยังทำให้ กกท.เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน” ดร.ก้องศักดกล่าวในตอนท้าย
จากแนวทางที่ได้รับทราบกันไป ถือว่านี่เป็นโปรเจกต์ยักษ์ของ กกท.ที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้กว้างขึ้น เพื่อรับใช้ประชาคมคนกีฬาในด้านต่างๆ
เป็นการสะท้อนถึงแนวคิดการพัฒนาด้านกีฬาของ ดร.ก้องศักด ที่กว้างไกล
ไม่เพียงแต่คนกีฬาและประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ ยังจะช่วยพลิกโฉมสนามกีฬาหัวหมาก จากที่ดีอยู่แล้ว ให้ก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพิ่มอีก
ไม่แค่นั้นเป้าหมายที่ กกท.เคยวางไว้ อยากให้ไทยเป็นฮับกีฬาใหญ่ของอาเซียน หรือของเอเชีย ก็ถือว่าไม่ไกลเกินจริง...
กราวกีฬาไทยรัฐ