ไทยรัฐฉบับพิมพ์
นับถอยหลังมหกรรมกีฬานานาชาติของปัญญาชน “กีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน” ครั้งที่ 20 ที่จะเปิดฉากชิงชัยระหว่างวันที่ 26 ก.ค.-6 ส.ค.2565 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ อุบลราชธานี (มหาวิทยาลัยแห่งความสุข) กีฬามหาวิทยาลัยอาเซียนเป็นการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนของนักกีฬามหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิก จำนวน 11 ชาติ ประกอบไปด้วย ประเทศบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี
ในจำนวน 20 ครั้ง ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมา 5 ครั้ง รวมในครั้งนี้ด้วย ครั้งที่ 1 ปี ค.ศ.1981 จัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 5 ปี ค.ศ.1988 ที่พัทยา ครั้งที่ 10 ปี ค.ศ.1999 ที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 15 ปี ค.ศ.2010 ที่เชียงใหม่ และครั้งที่ 20 ปี ค.ศ.2022 จัดที่จังหวัดอุบลราชธานี ทิ้งระยะมาร่วม 12 ปี
เดิมต้องจัดในปี 2020 (พ.ศ.2563) แต่ช่วง ดังกล่าวเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต้องเลื่อนการแข่งขันถึง 2 ครั้งด้วยกัน
การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย อาเซียนของ มรภ.อุบลราชธานี ครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่อง จากความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 “ราชภัฏ อุบลราชธานีเกมส์” เมื่อเดือน ม.ค.2562 ที่ผ่านมา
นั่นแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของชาว “เทา-ชมพู” ในการเป็นตัวแทนเจ้าภาพให้การต้อนรับ นักกีฬาเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆที่มาจากทั่วประเทศ และได้รับการชื่นชมจากมหาวิทยาลัยที่มาร่วมการแข่งขัน มรภ.อุบลฯทำได้ดี ประสบความสำเร็จอย่างมาก นักกีฬาทุกมหาวิทยาลัยที่เดินทางมาร่วม ครั้งนั้น ต่างได้ความประทับใจกลับไป
ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ทุกคนค่อนข้างกังวลและหนักใจเพราะเป็นงานใหญ่ระดับประเทศครั้งแรก
แต่ด้วยศักยภาพทุกด้านไม่ว่าจะเป็น “รศ. ธรรมรักษ์ ละอองนวล” อธิการบดี (ในขณะนั้น) ที่ลงมาลุยงานด้วยตัวเอง รวมทั้ง “พล.อ.นิรุทธ เกุตสิริ” นายกสภาฯ และ “ดร.วิชิต คนึงสุขเกษม” คีย์แมนจาก กก.มท.สมัยนั้น มาช่วยแนะนำเสนอแนะให้กำลังใจ จนงานลุล่วงผ่านไปด้วยดีเหนือความคาดหมาย
ครั้งนี้เช่นกัน “อาจารย์โต” ดร.วิชิต คนึงสุขเกษม ได้รับเกียรติจาก รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล รก. อธิการบดีฯ มาเป็นที่ปรึกษาการแข่งขัน ม.อาเซียนด้วย
มรภ.อุบลราชธานีได้รับการรับรองจาก ASEAN University Sports Council หรือ AUSC ให้เป็น เจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน ครั้งที่ 20 มีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากชาติต่างๆร่วมกว่า 2,500 ชีวิต ลงชิงชัย 23 ชนิดกีฬา ใช้สนามภายใน มรภ.อุบลฯ และสนามกีฬาต่างๆในพื้นที่ จ.อุบลฯ และ จ.ศรีสะเกษ
โดยมีการก่อสร้างเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นสนามฟุตซอล แบดมินตัน และวอลเลย์บอลชายหาด ร่วมทั้ง ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านยางน้อย อ.เขื่องใน มีการก่อสร้าง สนามปีนหน้าผาแห่งใหม่ของประเทศ สนามทั้งหมดเมื่อจบการแข่งขันจะใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษาและเปิดบริการประชาชนเข้ามาใช้
ส่วนเรื่องความปลอดภัยในการต้อนรับอาคันตุกะ ที่เดินทางมาร่วมการแข่งขันเข้มข้นภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขของ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขทุกขั้นตอนตั้งแต่ลงเครื่องจนถึงเข้าที่พักและสนามแข่งขัน
เป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ระดับนานาชาติแบบนี้ แฟนๆกีฬาพื้นที่ใกล้เคียงอย่าลืมไปให้กำลังใจกัน นะครับ
ถึงเวลาโชว์แล้วครับหลังจากเงียบเหงาเพราะ โควิด-19 มาเกือบ 3 ปี.
โจโจ้ซัง