บี บางปะกง
นับจากนี้ไปเหลือเวลาอีกไม่นานไฟในกระถางคบเพลิงของมหกรรมกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 37 หรือ "พัทลุงเกมส์" จะโชติช่วงชัชวาลขึ้นอีกครั้งที่เมืองหนังโนราแห่งปักต์ใต้บ้านเรา
"พัทลุงเกมส์" หรือมหกรรมกีฬาระดับชาติที่จังหวัดพัทลุง ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันนั้น ถือได้ว่าเป็นมหกรรมกีฬาของเยาวชนของประเทศรายการแรกนับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนหรือวัยโจ๋จากทั่วทุกมุมของประเทศได้มาแสดงพลังร่วมด้วยการพิสูจน์ศักดาหรือศักยภาพทางด้านการกีฬา
แต่ก่อนจะส่องลงไปในรายละเอียด หรือโหมโรงในมิติที่เกี่ยวกับพัทลุงเกมส์นั้น ในเบื้องต้นจะขอเกริ่นให้แฟนกีฬาได้รับทราบเป็นข้อมูลพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่จะเข้าสู่โหมดของเกมกีฬาอย่างเป็นทางการต่อไป
พัทลุง ถือว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดถิ่นใต้ที่มีประวัติมายาวนานและวันนี้ได้รับการยอมรับให้เป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยวที่นักเดินทางทั้งในและต่างประเทศหลั่งไหลเข้าไปสัมผัสกับวัฒนธรรมประเพณีตลอดจนธรรมชาติที่งดงามยิ่ง
ในขณะทางด้านการกีฬานั้นหนึ่งในมิติของมหกรรมที่คนรุ่นปู่ย่าตายายได้รังสรรค์ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดกันมาจวบจนวันนี้ก็เกือบจะย่างเข้าสู่ 100 ปี แล้วก็ว่าได้ และเกมดังกล่าวก็คงจะได้แก่ การแข่งขันกรีฑานักเรียนและกีฬาประจำปีของจังหวัดจนได้รับการยอมรับไปทั่วในแดนใต้
มาวันนี้เมื่อจังหวัดหรือเมืองหนังโนรามีโอกาสให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติทั้งสองรายการ ซึ่งประกอบด้วย “พัทลุงเกมส์” หรือกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 37 ซึ่งจะเริ่มกันในระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2565 และ “เสกักเกมส์” หรือ กีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 21-27 สิงหาคม 2565 นั้น
ต้องยอมรับว่านับเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งที่ทุกภาคส่วนของจังหวัดจะได้ผนึกพลังร่วมประกาศความเกรียงไกรให้เห็นถึงศักยภาพว่าเมืองแห่งเขาอกทะลุไม่เป็นสองรองใครในการบริหารจัดการเพื่อให้เกมออกมาเป็นที่จดจำและประทับใจของคณะนักกีฬา นักท่องเที่ยวที่ได้ไปเยือนให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามจากการที่ผู้เขียนได้ติดตามตลอดจนได้รับรายงานความคืบหน้าจากนางเพียงใจ ช่วยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะกรรมการและเลขานุการสำนักงานเลขาธิการจัดการแข่งขันพบว่าวันนี้จังหวัดภายใต้การประสานร่วมกับผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทยได้เดินหน้าและมีความพร้อมในการเตรียมการไปมาก
และที่น่าสนใจเพื่อให้ “พัทลุงเกมส์” นอกจากจะเป็นเกมหรือมหกรรมที่ชาวพัทลุงจะได้แสดงออกซึ่งศักยภาพแล้วคณะกรรมการจัดการแข่งขันยังตระหนักและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการรับรู้ของภาครัฐและเอกชนตลอดจนภาคประชาชนด้วยการแสวงหารูปแบบและแนวทางการประชาสัมพันธ์ด้วยการเผยแพร่การจัดการแข่งขันไปในทุกมิติทั้งสื่อหลักและสื่อท้องถิ่น
เมื่อกล่าวถึงมิติของการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์นั้นก่อนหน้านี้จังหวัดหรือคณะกรรมการจัดการแข่งขัน โดยการประสานของสำนักงาน กกท.จ.พัทลุง ได้รับเกียรติจากราชานักร้องลูกทุ่งแดนใต้อย่าง “พี่เอก” เอกชัย ศรีวิชัย ตลอดจน “น้องตาตั้น” ภัทรปรียา ยืนยาว ในฐานะเลือดเนื้อเชื้อไขของอดีตนักกรีฑาดัง รัตน์ใจ ยืนยาว พร้อมด้วยกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเป็นคนหนุ่มสาวสายเลือดเมืองลุงที่ต่างเสียสละไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วยการผนึกพลังรังสรรค์เพลงประจำเกมส์เพื่อสะท้อนให้เห็นวิถีและความเป็นพัทลุง
และอีกหนึ่งในมิติที่ถือว่าน่าสนใจและเป็นที่กล่าวขานของผู้เกี่ยวข้องในวงการกีฬาบ้านเราว่าจะมีให้เห็นจริงหรือไม่ก็คงจะได้แก่กระแสที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงได้แจ้งต่อหน้าคณะกรรมพิจารณาเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งที่ไปร่วมบิดเสนอตัวว่าหากพัทลุงได้การเป็นเจ้าภาพจะมีการจัดทำเหรียญทองคำเพื่อมอบให้กับนักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขัน
ต่อกรณีนี้วันนี้ด้วยสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ดและกระทบไปทุกย่อมหญ้าทั่วประเทศ ไม่ทราบว่าวันนี้จังหวัดโดยเฉพาะผู้ที่เคยลั่นวาจาผ่านคณะกรรมการและสื่อสาธารณะไว้ยังจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่
และเพื่อให้ “พัทลุงเกมส์” และ “เสกักเกมส์” เป็นเกมกีฬาระดับชาติและเป็นมหกรรมที่ได้รับการยอมรับและสอดคล้องกับการเปลี่ยนปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ผู้เขียนหวังว่า ผู้บริหารระดับสูงในจังหวัดคงจะไม่ติดกับดักและตกอยู่ในวังวนของระบบราชการจนมากเกินไป
ทั้งนี้หากผู้บริหารที่จะเข้ามาสู่การเป็นผู้นำของการจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติยังไม่เข้าใจในบริบทของการกีฬาอย่างแท้จริงหรือยังไม่รู้ลึก รู้จริงและเหนืออื่นใดคือถ้าไม่กล้าตัดสินใจในมิติของการคิดนอกกรอบบ้างแล้วล่ะก็
เกมหรือมหกรรมกีฬาที่คิดว่าจะเป็นหนึ่งในการสร้างชื่อและเผยแพร่เกียรติคุณของจังหวัดเพื่อให้เป็นที่จดจำอาจจะไม่เป็นดังที่หวังก็ได้
วันนี้ในขณะที่วันเวลากำลังหมุนไปตามกาล ก่อนที่เกมจะเริ่มอย่างเป็นทางการสิ่งใดที่คิดว่ายังเป็นขวากหนามหรืออุปสรรคสำหรับการจัดการแข่งขันผู้เขียนหวังว่าผู้มีอำนาจในจังหวัดคงไม่ทำให้ประชาชนทั้งมวลต้องผิดหวัง และเสียความรู้สึก
ดังนั้นเพื่อให้ “พัทลุงเกมส์” เดินหน้าไปดังแนวคิดภายใต้เกมที่สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “สามัคคี มีน้ำใจ สายใยแห่งมิตรภาพ” อย่างแท้จริงก็ขอให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันได้ยึดเอาคำว่า “SPIRIT” มาเป็นคาถานำ
ถ้าทุกภาคส่วนผนึกพลังได้ดังว่าผู้เขียนมั่นใจว่า “พัทลุงเกมส์” ก็จะเป็นเกมส์หรือมหกรรมกีฬาที่ชาวพาราทั่วประเทศจะกล่าวขานและชื่นชมกันไปตราบนานเท่านาน
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
----------------
ห้วงเวลานี้ ถือเป็น “โอกาสทอง” ของวงการกีฬาปักษ์ใต้ อย่างแท้จริงครับ!
เพราะเรามีรัฐมนตรีกีฬาเป็น ‘คนใต้’ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม
กีฬาเยาวชนแห่งชาติ “พัทลุงเกมส์” เป็นหนึ่งในบททดสอบชั้นดี ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้จังหวัดภาคใต้
มีภาษีไม่น้อยหน้าใคร ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมซีเกมส์ 2025 ในอีก 3 ปีข้างหน้า
อย่างไม่ต้องสงสัยกันเลย!!!
- บี บางปะกง -