หน้าแรกแกลเลอรี่

เจ้าของฟอนต์ “ไทยแลนด์” ร่ายยาว ไร้การติดต่อแสดงความรับผิดชอบจาก ส.ปันจักสีลัต

ไทยรัฐออนไลน์

1 มิ.ย. 2565 18:01 น.

“สุชาล ฉวีวรรณ” เจ้าของแบบอักษร “ไทยแลนด์” ร่ายยาว หลังไม่ได้รับการติดต่อจาก ส.ปันจักสีลัต เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

วันที่ 1 มิ.ย. 65 หลังจาก สุชาล ฉวีวรรณ เจ้าของแบบอักษร “ไทยแลนด์” ออกมาเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังเห็นผลงานตัวเอง ปักอยู่บนเสื้อนักกีฬาปันจักสีลัต ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้รับการติดต่อจากสมาคมปันจักสีลัต แห่งประเทศไทย หรือองค์กรใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาประเภทนี้เลย จนเลขาธิการสมาคมปันจักสีลัตแห่งประเทศไทยต้องออกมายอมรับผิด เนื่องจากตรวจสอบที่ไม่ดีมากพอ โดยจะพยายามติดต่อกับเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวในการหาทางออกต่อไป

ล่าสุด สุชาล ฉวีวรรณ เจ้าของแบบอักษร “ไทยแลนด์” ก็ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยระบุว่า “อัปเดตข่าวการละเมิดลิขสิทธิ์ตัวอักษร ไทยแลนด์ ครับ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 65 ผมได้มีนัดกับทางสมาคมปันจักสีลัตเพื่อเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นคนกลางร่วมประชุมเพื่อรับทราบข้อตกลง”

“จากเหตุการณ์ที่สมาคมปันจักสีลัตนำแบบตัวอักษร “ไทยแลนด์” ไปปักบนเสื้อนักกีฬาโดยไม่ได้ขออนุญาต และผมได้แจ้งไปในโพสต์ก่อนหน้านี้ว่าได้มีการพูดคุยกับทางนายกสมาคมฯ โดยมีท่านอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ เป็นคนกลาง ซึ่งผมได้อนุญาตให้นักกีฬาปันจักสีลัตใส่เสื้อที่มีลายปักตัวอักษร “ไทยแลนด์” ต่อจนจบการแข่งขัน ตามคำขอจากทางสมาคมฯ และการไกล่เกลี่ยจากท่านอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ ซึ่งผมเข้าใจดีว่ายังอยู่ระหว่างการแข่งขัน การตัดสินใจที่เกิดขึ้นก็เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬานะครับ ซึ่งนายกสมาคมฯ ได้พูดคุยพร้อมจะกลับมาเจรจาเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ดังกล่าวหลังจบการแข่งขัน”

“ระหว่างรอนัดก่อนถึงวันเจรจา ผมเองไม่ได้รับการติดต่อจากทางสมาคมฯ ถึงแม้ระหว่างทางจะมี กรมทรัพย์สินทางปัญญา คอยช่วยเป็นตัวกลางในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จนล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ผมได้มีการยื่นข้อเสนอเพื่อให้ทางสมาคมฯ พิจารณา โดยทางสมาคมฯ ได้ขอนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 โดยจะแจ้งผลการประชุมภายในไม่ช้าครับ”

“ผมได้ออกแบบผลงาน “ไทยแลนด์” ขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2564 และโพสต์ออกสู่สาธารณะวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ผมอยากชี้แจงเพิ่มเติมว่า ความตั้งใจแรกของผมที่สร้างสรรค์งานออกแบบนี้ คือเพื่อเป็นงานเชิงศิลป์นำมาประยุกต์กับงานแปะทองบนกระจก (Glass Gilding) ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ผมได้ไปเรียนมา และเป็นอาชีพที่ผมยึดทำอยู่ควบคู่ไปกับงานออกแบบ นอกเหนือจากนี้ ผมยังไม่ได้มองภาพงานนี้ไปอยู่ในที่ที่ผมไม่ได้เป็นคนตัดสินใจครับ”

“หลังจากผมได้นำผลงานนี้ไปจดลิขสิทธิ์ มีหลายหน่วยงาน และหลายองค์กร ติดต่อผมเข้ามาเพื่อขอนำแบบตัวอักษร “ไทยแลนด์” นี้ ไปใช้ แต่ผมยังไม่มีแผนการที่จะขายลิขสิทธิ์งานออกแบบนี้ให้กับใคร จึงได้ปฏิเสธไปทั้งหมดครับ ในส่วนของการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ผมอยากให้ทุกคนที่ยังไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ได้คิดให้เยอะๆ กับการกระทำของตัวเอง ว่าขณะที่เราทำงานอยู่นี้เรากำลังละเมิดผลงานใครหรือไม่ คิดถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งกับผู้ละเมิดเองและเจ้าของผลงาน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจ ความรู้สึก และรวมไปถึงผลกระทบทางธุรกิจของเจ้าของผลงานด้วย ไม่มีใครภูมิใจได้เต็มที่กับผลงานที่ถูกนำไปใช้โดยไม่ขออนุญาตนะครับ”

“เรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสากลที่คนทั่วโลกรับรู้ ผมอยากให้เรื่องนี้ถูกให้ความสำคัญในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเหตุการณ์นี้ซึ่งเป็นการละเมิดผลงานโดยนำไปใช้ออกสู่สายตาคนทั่วภูมิภาค และปรากฏไปยังสื่อสากลด้วย ถึงแม้จะได้หนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการจากทางสมาคมฯ แต่ผมยังคงรอการแสดงออกอย่างถูกต้องตามข้อเสนอที่แจ้งไป คือการชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานนี้อย่างถูกต้องและเหมาะสมครับ”

“สุดท้าย ผมอยากขอบอกผ่านช่องทางนี้ว่าจะขอทำเรื่องนี้ให้ถูกต้องที่สุด ผมมั่นใจว่าตัวเองทำในสิ่งที่ถูกต้อง และในฐานะนักออกแบบ ผมให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์ และคิดว่าคนสร้างสรรค์ผลงานทุกคนคงเข้าใจเรื่องนี้ดี ผมเคารพทุกฝ่าย และยังเชื่อว่าทุกคนจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าทางสมาคมฯ ติดต่อกลับ ผมจะมาแจ้งรายละเอียดอีกครั้งครับ เบื้องต้นยังขออนุญาตงดการให้สัมภาษณ์จากทุกช่องทางสื่อ หลังจากนี้ถ้าสามารถให้สัมภาษณ์ได้จะแจ้งอีกครั้งนะครับ”