ไทยรัฐออนไลน์
เรียน คุณบี บางปะกง
ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนามปิดฉากลงไปแล้ว แฟนคลับของคุณบี ที่ติดตามผลการแข่งขัน และได้มีโอกาสอ่านคอลัมน์เฉพาะกิจนี้คงพอที่จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการเสนอข่าวทั่วไปและบวกกับความเห็นส่วนตัวของผมไปด้วย หวังว่าคงได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
ในตอนสุดท้ายนี้ ผมขอสรุปเรื่องราวของซีเกมส์เป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้ครับ
1.การจัดการแข่งขันโดยรวม ผมขอประเมินให้ผ่านนะครับ แม้นว่าจะได้รับความไม่สะดวกสบาย ไม่ได้รับข้อมูลที่ทันสมัย(update) ในฝ่ายต่างๆ อย่างทันท่วงที แต่ทั้งนี้ เราต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าภาพด้วยนะครับว่า สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ มีความไม่แน่นอนอยู่ตลอด ตั้งแต่มีปัญหาโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการจัดจากปี 2021 มาเป็น 2022 โดยที่ปัญหาโควิด-19 ยังไม่ได้สงบลงมาเป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้นมาตรการต่างๆ จึงมีการปรับเปลี่ยน มีการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น งบประมาณคงต้องเพิ่มไปด้วยอย่างแน่นอน แต่โดยภาพรวมเจ้าภาพก็สามารถดำเนินการจนผ่านพ้นไปได้
รูปแบบการจัดการแข่งขันที่ต้องใช้ถึง 12 เมือง มากกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีใครได้เก็บข้อมูลในมุมมองต่างๆ เอาไว้ใช้ประโยชน์ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาในอนาคตหรือไม่? เพราะทุกขั้นตอน ในฐานะผู้เข้าร่วมการแข่งขัน เราจะเห็นข้อควรปรับปรุงมากมาย ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนการเดินทาง การเดินทาง การต้อนรับที่สนามบิน การรับส่งไปที่พักนักกีฬา การเป็นอยู่ในโรงแรมที่พัก การเดินทางไปฝึกซ้อม เดินทางไปแข่งขัน และการบริหารจัดการเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 มีข้อให้เราได้เรียนรู้ และเห็นช่องทางในการปรับปรุงให้ดีขึ้นมากมายสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องของไทย ไม่ว่าจะเป็นทางการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ (ที่มีสถานทูตไทยในเวียดนาม) และมีส่วนสำคัญช่วยเหลือทีมนักกีฬาทีมชาติไทยและตัวแทนจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่ต้องไปช่วยเหลือนักกีฬาทีมชาติไทย ที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
2.ความสำเร็จของทีมนักกีฬาทีมชาติไทยเป็นอย่างไรบ้าง? ผมเคยเสนอให้ผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านี้ ให้ทำเป็นตารางเหรียญรางวัลควบคู่กันไปกับตารางการแสดงเหรียญตามปกติของเจ้าภาพ (40 ประเภทกีฬา) โดยเราต้องทำตารางเหรียญรางวัลของกีฬาเฉพาะที่แข่งขันในเอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ ด้วยว่าประเทศใดทำได้ดีกว่ากัน เพราะเป็นประเภทกีฬาที่เป็นสากลขึ้นไปในแต่ละระดับ เพราะท่านผู้อ่านทุกท่านคงทราบแล้วว่า เจ้าภาพซีเกมส์ทุกประเทศที่ผ่านๆ มา ก็จะมีการบรรจุกีฬาที่ตนถนัดเพิ่มเติมเข้าไป และพยายามลดเหรียญรางวัลในกีฬาที่ตนไม่ถนัดออกไปอีกด้วย จึงทำให้เจ้าเหรียญทองซีเกมส์มักตกอยู่ในมือเจ้าภาพเสมอๆ ผมกำลังขอจากการกีฬาแห่งประเทศไทย จากฝ่ายกีฬาเป็นเลิศ ที่เคยทำประมาณการเหรียญรางวัลในลักษณะดังกล่าวที่ผมได้นำเสนอไว้ในตอนต้น หากเรามีข้อมูลในลักษณะนั้น เราคงนำมาเปรียบเทียบกันได้ อย่างสมเหตุสมผลว่าประเทศไทยกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างไร ?
3.ประเทศไทยได้อะไรบ้างจากการไปร่วมซีเกมส์ครั้งนี้ ผมขอนำเสนอในหัวข้อหลักๆ ตามความเห็นของผม ซึ่งอาจไม่ครบถ้วนและครอบคลุมในทุกๆ เรื่อง ซึ่งอาจมีท่านอื่นๆมองกันคนละแง่มุมก็ได้ ดังนี่ครับ
3.1 สมาคมกีฬาต่างๆ ได้ประโยชน์โดยตรงอยู่แล้ว เพราะเป็น Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเกี่ยวกับการจัดการแข่งขันกีฬาประเภทนั้นๆ เช่นการคัดเลือกนักกีฬา การเตรียมตัวตั้งแต่ได้ตัวนักกีฬา จนกระทั่งการเดินทางมาแข่งขัน ตลอดเส้นทางเหล่านี้สมาคมฯ มีผู้บริหารสมาคม ผจก.ทีม จนท.ฝ่ายต่างๆ ตลอดจนโค้ช เทรนเนอร์ วิทยาศาสตร์ และเวชศาสตร์การกีฬา ที่เป็นองค์ประกอบของความสำเร็จของนักกีฬาทีมชาติไทย ในการแข่งขันครั้งนี้ หากทุกสมาคมฯ มีการรวบรวม โดยให้แต่ละฝ่ายได้เขียนรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพบเห็นในช่วงสำคัญต่างๆ เหล่านี้ แล้วนำไปรวบรวมเป็นบทเรียนจากซีเกมส์ 31 ที่เวียดนาม ก็จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสมาคมของท่านว่า การเตรียมซีเกมส์ที่กัมพูชา ปีหน้า ท่านอยากปรับเปลี่ยนส่วนไหนบ้างที่จะทำให้ท่านประสบความสำเร็จที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกสมาคมกีฬาต้องการ
3.2 นักกีฬาที่ผลการแข่งขัน สะท้อนให้เห็นว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก หรือจะเรียกว่าเกินความคาดหมาย มีประเภทไหนบ้าง? ทางสมาคมกีฬาฯ มีวิธีการบริหารจัดการ ด้วยการต่อยอดการดูแล ฝึกซ้อม ทุกข์สุข จองนักกีฬาเหล่านี้อย่างไรบ้าง? ทำเหมือนเดิม มีความเท่าเทียมกันในนักกีฬาแต่ละคนเพื่อความยุติธรรม หรือต้องบริหารให้แตกต่าง เพราะเราหวังผลเลิศต่อในอนาคต ซึ่งเรื่องเหล่านี้คงไม่มีแนวทางเดินที่ต้องปฏิบัติ ไม่มีวิธีใดถูกต้อง หรือไม่ควรทำ ส่วนใหญ่เรารอผลสำเร็จได้เหรียญรางวัล แล้วเราก็บอกว่าเรามาถูกทางแล้ว แต่ตามข้อเท็จจริงโดยเฉพาะกีฬาที่ใช้การจับเวลา เอาเวลาที่ดีขึ้นในระหว่างฝึกซ้อมและแข่งขัน ก็มีความเป็นรูปธรรมที่ค่อนข้างชัดเจน
ตัวอย่างเช่นสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ เราได้เห็นความสามารถของนักกีฬาวิ่งหลายท่าน เช่น น้องบิว (ภูริพล บุญสอน) 3 เหรียญทอง จากวิ่ง 100 เมตร 200 เมตร และ 4x100 เมตร น้องลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย (จอร์จชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน) 4 เหรียญทอง จากวิ่งผสม 4x400 เมตร 400 เมตร 800 เมตร และ 4x400 เมตร(ชาย) และในกีฬาประเภทอื่นๆ ก็ยังมีอีก ทางสมาคมฯ คงจะมีวิธีที่จะฟูมฟัก สนับสนุนต่อไปอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ในความเห็นของผมนั้น ผมขอเสนอให้สมาคมฯ ต้องพยายามหางบประมาณมาเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะคน เฉพาะกีฬานั้นๆ เป็นกรณีพิเศษ เพื่อจะให้ไม่มีติดขัดในการสนับสนุนให้นักกีฬาได้รับการฝึกสอนจากโค้ชในกีฬาประเภทนั้นๆ ที่มีฝีมือ ทางกองทุนกีฬาเอง ผมมีความเห็นว่า ท่านผู้จัดการกองทุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ อาจจะเป็นฝ่ายที่ทำงานแบบ Proactive แทนที่จะรอให้ทางสมาคมกีฬานั้นๆของบประมาณเข้ามาตามปกติ ท่านอาจจะเป็นฝ่ายที่ขอเข้าไปพบผู้บริหารสมาคมกีฬาฯ นั้นๆ เองเลย ก่อนที่เขาจะทำเป็นโครงการฯเข้ามาของบประมาณ ด้วยวิธีนี้ทาง ผจก. กองทุนฯ ดร.สุปราณี คุปตาสา จะได้รับการชื่นชม และเห็นว่าท่านมีความห่วงใยต่อการต่อยอด การฟูมฟักนักกีฬาที่มีอนาคตไกลเหล่านี้ ให้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ที่เราจะสามารถจะช่วยกันได้ โดยอาจจะทำเป็นโครงการพิเศษ
3.3 ในข้อเสนอสุดท้ายนี้ ผมมีความคิดมานานแล้วว่าน้องๆ นักกีฬาที่ทำผลงานได้เยี่ยมยอด ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติ นำความสุขมาให้คนไทยทั้งชาติ นักกีฬาเหล่านั้นได้ผลตอบแทนเป็นรางวัลทั้งจากภาครัฐบาลและเอกชน ในจำนวนตามกติกาของผลตอบแทนที่หน่วยงานที่ให้รางวัลเป็นผู้กำหนด ส่วนจากสปอนเซอร์ที่ทางสมาคมฯ หรือผู้จัดการทีม หามาให้อีกจำนวนหนึ่ง อาจมากบ้างน้อยบ้างตามสถานการณ์ ในแต่ละช่วงเวลา พวกเราในส่วนของประชาชนที่ดีใจ ชื่นชม ชื่นชอบ และอยากให้รางวัลเป็นกำลังใจ เพื่อตอบแทนความอุตสาหะ ความอดทนในการฝึกซ้อม ความเพียรพยายามและตั้งใจที่จะทำผลงานให้ดีมาเป็นเวลาเป็นเดือนๆ เป็นปี อย่างต่อเนื่อง น้องๆ เหล่านี้ต้องเสียโอกาสในการศึกษาในช่วงสำคัญของชีวิต (เด็ก-วัยรุ่น-วัยหนุ่มสาว) รวมทั้งการใช้ชีวิตเฉกเช่นน้องๆ ปกติทั่วๆ ไป เพราะต้องอยู่ในระบบของการฝึกซ้อม การเตรียมตัวเพื่อให้เกิดผลสำเร็จเวลาเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งเรามีโอกาสน้อยมากที่จะได้ชื่นชมหรือช่วยเหลือน้องๆ เหล่านี้
ผมเคยคิดที่จะทำการรณรงค์ให้พวกเราที่ไม่ได้ทำธุรกิจ หรือ มีความร่ำรวยเงินทองมากมาย ให้ได้มีส่วนร่วมในการให้รางวัล หรือเป็นกองทุนจากประชาชน เพื่อให้กับน้องๆเหล่านั้น เพื่อตอบแทนในสิ่งต่างๆ ที่น้องๆ นักกีฬาเหล่านั้นได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง จึงนำมาซึ่งผลสำเร็จในการแข่งขัน ผมขอยกตัวอย่างสิ่งที่เคยคิดอยากจะทำ คือ การไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อสนับสนุน สมมติว่า เพื่อคุณ ก ไก่ ในนามของบุคคลที่ได้รับการยอมรับของสังคม ร่วมกับสื่อมวลชนสายกีฬา โดยมีผู้รับรู้รับทราบจากสมาคมกีฬาฯนั้นๆ ในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วให้มีการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบเกี่ยวกับแนวคิดนี้ เพื่อให้ผู้ที่เห็นด้วยและต้องการให้รางวัล น้องนักกีฬาท่านนั้น อาจเป็นจำนวนสิบ ร้อย พัน หรือเท่าไรก็ได้ ตามแต่ละท่านจะเห็นสมควร ซึ่งในปัจจุบันการทำธุรกรรมเช่นนี้ก็มีความสะดวกและไม่มีค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะหลายๆ ท่านคุ้นเคยกับการสั่งของ โอนเงินออนไลน์กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
โครงการฯ เช่นนี้ยังไม่เคยมีการทำกันมาก่อน เราอาจจะคุ้นเคยกับการช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากเพื่อนำเงินสนับสนุนไปช่วยเหลือความทุกข์ร้อนของบุคคล หรือของกลุ่มคน แต่วิธีที่ผมเสนอนี้เป็นการสนับสนุนน้องๆ นักกีฬาที่พวกเราชื่นชม และเห็นศักยภาพของน้องๆ เหล่านั้น ที่มีความเพียรพยายามมาระดับหนึ่งแล้ว โดยเรามาช่วยกันอีกแรงหนึ่ง ซึ่งหากเป็นเเรงหนุนจากประชาชนที่จะเรียกว่าช่วยกัน ตามภาษาชาวบ้านว่า "ลงขัน" ผมเชื่อว่าแรงหนุนจากประชาชนพวกเราจะมีพลังค่อนข้างมากอย่างแน่นอน
แฟนคลับของคุณบี บางปะกง มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ ช่วยสื่อสารมาหาคุณบี ด้วยนะครับ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลว่า พวกเราควรเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อไปว่าดีหรือไม่? จะขออนุญาตทำประชาพิจารณ์ไปด้วยนะครับ...สวัสดีครับ.
นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์
หัวหน้าแพทย์ประจำทีมนักกีฬาทีมชาติไทย
และ CLO (Covid Liaison Officer) ซีเกมส์ 2021 เวียดนาม
-----------
ขอบคุณบทความคุณภาพของพี่หมอไพศาล จันทรพิทักษ์
ที่เจาะลึกเรื่องราวของซีเกมส์แดนเหงียน แบบอินไซด์ (ของจริง)
มาให้แฟนๆ “ไทยรัฐสปอร์ต” ได้อ่านกันถึง 3 สัปดาห์ต่อเนื่อง
กีฬาไทย จะก้าวไกลไปข้างหน้า ทุกภาคส่วนต้องรวมพลัง
ช่วยกันอย่างจริงจัง..และจริงใจครับ !!!
- บี บางปะกง -