หน้าแรกแกลเลอรี่

เกมยื้ออำนาจ

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

13 เม.ย. 2565 05:04 น.

ห้วงเวลานี้หากจะส่องไปที่ประเด็นร้อนแรงในวงการกีฬาบ้านเรานอกจากกระแสอีเวนต์แดงเดือดที่จะเปิดสนามให้นักเตะระดับโลกมาฟาดแข้งที่ไทยแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่อดจะกล่าวไม่ได้และถือว่าเป็นหนึ่งในมิติของปัญหาที่เกิดกับวงการการศึกษาชาติคือการเล่นเกมยื้ออำนาจในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาตินั่นเอง

ที่กล่าวว่าเหตุที่เกิดในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติเป็นเกมแห่งการยื้ออำนาจ ก็เนื่องจากกรณีนี้เปรียบเสมือนปัญหาโลกแตกที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในฐานะเจ้ากระทรวงผู้กำกับการบริหารจัดการยังไม่สามารถแก้ไขหรือดำเนินการทลายกำแพงที่เป็นขวากหนามให้จบลงได้

ยิ่งล่าสุดในการประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาวาระการสรรหาอธิการบดี เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ใครจะคิดว่าปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยจะมีให้เห็นบ่อยนักในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติที่เพียบพร้อมไปด้วยบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักวิชาการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในแต่ละภาคส่วนทำให้เกิดความด่างพร้อย เพราะในวาระดังกล่าวมีกรรมการกลุ่มหนึ่งเดินออกจากการประชุมโดยไม่แคร์ต่อความเสียหายที่จะตามมา

นัยสำคัญการวอล์กเอาต์ของกรรมการกลุ่มหนึ่งในครั้งนี้ถือได้ว่าคนกลุ่มนี้อาจจะยึดติดความคิดของตนเองและกลุ่มผลประโยชน์ที่คอยชักโยงอยู่เบื้องหลังเป็นหลัก โดยไม่แคร์ต่อผลกระทบหรือความเสียหายตลอดจนชื่อเสียงขององค์กรที่จะตามมาภายหลัง

ซึ่งวิธีคิดหรือรูปแบบการปฏิบัติแบบนี้ถึงแม้เป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่อย่าลืมว่าความไม่สง่างามที่พวกท่านได้ก่อนั้น ชาวพลศึกษาและบุคคลในวงการเขาทราบดีว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

ที่สำคัญเขาคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วว่า การพิจารณาความเห็นชอบผู้ที่ผ่านการสรรหามาอย่างถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับทุกประการจะไม่สามารถเดินหน้าได้ หากกลุ่มที่คอยยึดติดกับตำแหน่งไม่ยอมปล่อยวาง

พฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันอุดมศึกษาน้องใหม่ที่คนในวงการกีฬาและชาวพลศึกษาคาดหวังว่า สถาบันแห่งนี้จะเป็นหนึ่งในมิติหรือองค์กรแห่งนวัตกรรมใหม่สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนา และยกระดับการกีฬาของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าทัดเทียมกับนานาชาติที่เจริญแล้วและตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการผลักดันการก่อเกิดสถาบัน

เหนืออื่นใดสิ่งที่บรรพชนภายใต้สีเสื้อของลูกพระพลบดีได้รังสรรค์และสร้างสมมาตั้งแต่อดีตคือ การปลุกวิญญาณให้คนในวงการนี้ต้องเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยคำว่า “สปิริต” หรือความมีน้ำใจนักกีฬา ตามบทเพลงกราวกีฬาที่ “ครูเทพ” หรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้ประพันธ์ไว้

แต่วันนี้วัฒนธรรมหรือความดีงามที่รุ่นพี่รุ่นน้องในยุคเก่าก่อนยึดเป็นวัตรปฏิบัติกันมาได้สูญสิ้นไปแล้วภายใต้น้ำมือของคนหยิบมือเดียวที่คิดเข้าข้างตนและดูเหมือนว่าจะท้าทายอยู่เนืองๆ ว่าสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารจัดการ กลุ่มตนเองมีเสียงข้างมากจะลากจูงไปไหนก็ได้

เพื่อไม่ให้สถาบันแห่งนี้ต้องเสียหายและปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งหวังที่จะงาบงบประมาณอันมาจากภาษีของประชาชนที่ว่ากันว่า หากรวม 17 วิทยาเขตและ 13 โรงเรียนกีฬา งบส่วนนี้จะมีเกือบ 2 พันล้านบาท/ปีและหากกลุ่มผลประโยชน์สามารถมีตำแหน่งลากยาวไปถึง 8 ปี จะสวาปามไปได้ถึง 1,500 ล้านบาท

หากพิจารณาว่าใครคืออัศวินม้าขาวที่จะเข้ามาปราบพยศกลุ่มผลประโยชน์นี้ลงได้ คำตอบคือเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในฐานะผู้มีอำนาจ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 95 ของ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2560 เจ้ากระทรวงก็สามารถทำได้เช่นกัน หรือจะหาทางเลือกอื่นที่เห็นว่าเหมาะที่สุดก็สุดที่จะพิจารณา

โจทย์และการบ้านสำหรับการลงมือตัดเนื้อร้ายเพื่อรักษาไว้ซึ่งอวัยวะอื่น คงไม่เกินความสามารถของเจ้ากระทรวงอย่างแน่นอน

หรือเรื่องนี้ต้องเป็นภาระให้ “พี่ศรี” นักร้องระดับชาติต้องแสดงพลังอีกครั้ง แต่ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องระดับนี้ถ้าเจ้ากระทรวงยังไม่สามารถดำเนินการจะโยนลูกไปให้ “เนติบริกร” จากทำเนียบรัฐบาลก็น่าจะเหมาะเพราะรู้สนกลในของสถาบันแห่งนี้เป็นอย่างดี

อย่ากระนั้นเลยเพื่อประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ “ลุงตู่” จึงน่าจะเป็นทางเลือกหรือเป็นผู้ที่เหมาะที่สุดสำหรับการปราบมาเฟีย หรือยุติเกมการยื้ออำนาจให้หมดไปได้.

โจโจ้ซัง