ไทยรัฐฉบับพิมพ์
เรียนคุณโจโจ้ซัง ผมมีเรื่องอัดอั้น ที่อยากระบายเพราะเห็นว่าคุณเป็นคนพลศึกษาและเกี่ยวข้องกับวงการกีฬาในฐานะสื่อมวลชนสายกีฬา
กีฬาแห่งชาติ “ศรีสะเกษเกมส์” เพิ่งเสร็จไปหมาดๆถือว่าผ่านไปด้วยดีในสถานการณ์เช่นนี้
ต้องปรบมือให้เจ้าภาพ ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานและประชาชนในจังหวัดที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี สร้างความประทับใจกับผู้มาเยือน
ขณะเดียวกันมีนักกีฬาเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้อง ผิดหวังไม่สามารถร่วมการแข่งขันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ต้องเสียใจยังมีโอกาสอีกข้างหน้าในการแข่งขันรายการอื่นๆที่กำลังจะมาถึง
กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม ของชาวอาเซียนจะเริ่มขึ้นไม่กี่เดือนข้างหน้า วงการกีฬาระดับนานาชาติกลับมาคึกคักอีกครั้ง
มีแฟนกีฬาที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาส่งบทความมา เมื่ออ่านดูเห็นว่าน่าสนใจและมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับ วงการศึกษา สังคม และในชีวิตประจำวัน เลยนำมาลงให้อ่านกันครับ
ในยุคสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทุกวงการสาขาอาชีพเริ่มมีการปรับตัวกันแล้ว
แต่วันนี้มหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติกำลังทำอะไรกันอยู่ วิชาหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ตั้งแต่เกิดจนตาย นั่นคือพลศึกษา ที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพตั้งแต่ การเคลื่อนไหวอย่างไรให้ถูกวิธี เป็นธรรมชาติมากที่สุด ตั้งแต่การเดิน วิ่ง กลิ้ง กระโดด คลาน (คลานในแนวตั้งเรียกว่า “ปีนหรือป่าย”)
การเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีแห่งสุขภาพ ตั้งแต่การเสริม (คือเสริมสิ่งที่มีอยู่ให้ดี) สร้างสุขภาพ ให้สามารถดำรงชีวิตในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างมีความสุขตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นปณิธานของคนไทย ได้ดำเนินการอะไรให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมบ้าง มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติควรจะเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับคนกีฬา นักกีฬา และบุคลากรทุกภาคส่วนที่สนใจ รวมทั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการดูแล สร้างเสริมสุขภาพ เป็นคลังความรู้เกี่ยวกับกีฬา เป็นตลาดวิชาสำหรับผู้ที่สนใจ
ดังนั้นหลักสูตรของมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งว่าควรจะต้องได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อยู่ที่ไหนก็เรียนได้
สมาคมกีฬาที่นักกีฬาแต่ละชนิดไปเก็บตัว สโมสรทุกสโมสรที่นักกีฬาไปเก็บตัว ควรจะต้องมีการทำงานร่วมกัน สร้างองค์ความรู้ให้กับตัวนักกีฬาเอง ไม่ใช่ว่าพอใช้งานไม่ได้ ก็ทิ้งขว้าง ไม่ดูแล ควรมีการร่วมมือกันสร้างให้เขาเหล่านั้นเป็นนวัตกรรมทางการกีฬา เช่น นักออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อม การออกแบบโปรแกรมการสร้างความแข็งแรงในรูปแบบต่างๆ หรือออกแบบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมกีฬาเป็นต้น
จริงๆแล้วมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติจะต้องก้าวเดินไปข้างหน้าเดินทางจากปัจจุบันไปสู่อนาคต ไม่ใช่ดึงปัจจุบันไปหาอดีต หากยังดึงดันอยู่อย่างนี้ แล้วมหาวิทยาลัยจะเกิดการพัฒนาได้อย่างไร
นายนกหวีด
--------------
เห็นด้วยกับนายนกหวีด ผมในฐานะคนกีฬาที่เติบโตมาจากสถาบันการพลศึกษาที่ถือเป็นสายตรงเกี่ยวกับกีฬาอย่างแท้จริง ยอมรับว่าทุกวันนี้เราสร้างวัตถุมากเกินไปในส่วนที่ไม่จำเป็น รวมถึงที่กำลังคิดจะสร้างกันอีกเยอะแยะ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันสักเท่าไหร่
ทั้งที่ความจริงแล้วเราควรเน้นสร้างในส่วนที่เกี่ยวข้องและจำเป็นและตรงกับเรื่องของกีฬา
น่าจะเหมาะสมและก่อเกิดประโยชน์มากกว่า
พอเถอะ เสียดายงบประมาณ บ้านเมืองกำลังลำบาก หาคนมาสร้างคนดีกว่า แต่ต้องไม่ผิดฝา ผิดตัวนะและต้องเป็นคนกีฬาจริงๆไม่อย่างนั้นก็จะอยู่ในวังวนเช่นเดิม.
โจโจ้ซัง