หน้าแรกแกลเลอรี่

เวลาไหนดี

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

11 มี.ค. 2565 04:30 น.

หลายคนคงเคยสงสัยและตั้งคำถามนี้กับตัวเอง เพจ “วิ่งไหนกัน ปั่นไหนดี” มีคำตอบมาให้ออกกำลังกายเวลาไหนดีที่สุด?

นักวิทยาศาสตร์ด้านการออกกำลังกายกล่าวว่า การออกกำลังกายในแต่ละช่วงเวลาของวัน จะให้ประโยชน์ด้านสุขภาพและประสิทธิภาพที่แตกต่างกันด้วย ลองอ่านข้อดีของการออกกำลังกายในช่วงเวลาต่างๆของวัน แล้วเลือกที่เหมาะกับเป้าหมายและผลลัพธ์ที่เพื่อนๆต้องการดูครับ

#ออกกำลังกายตอนเช้า

1.ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น การออกกำลังกายและแสงแดดยามเช้า เป็นการกระตุ้นร่างกายและช่วยกำหนดเวลาในการหลั่งเมลาโทนินได้ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมวงจรการนอนหลับและทำให้ไม่ตื่นกลางดึก และมีผลการศึกษาในปี 2014 พบว่าคนที่ออกกำลังกายตอนเช้า นอนหลับลึกมากขึ้นกว่าคนที่ออกกำลังกายตอนบ่ายหรือตอนกลางคืน

2.ช่วยให้จิตใจสงบไปตลอดวัน เมื่อเราเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการออกกำลังกาย ฮอร์โมนที่ควบคุมอารมณ์ต่างๆก็จะถูกควบคุมไปด้วย การออกกำลังกายช่วยเผาผลาญอะดรีนาลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างความเครียด และในทางเดียวกันการออกกำลังกายก็ช่วยในการผลิตเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุข

3.ช่วยลดความดันโลหิต ผลการศึกษาในปี 2014 พบว่าคนที่เป็นโรคความดันสูงแล้วออกกำลังกายตอนเช้า ช่วยลดความดันได้มากกว่าคนที่ออกกำลังกายตอนกลางวัน เมื่อความดันอยู่ในเกณฑ์ดี มันก็จะลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจได้ด้วย

4.ช่วยลดน้ำหนักได้มากขึ้น ผลการศึกษาในปี 2019 ทดสอบกับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน โดยให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิก 10 เดือน พบว่าคนที่ออกกำลังกายตอนเช้าลดน้ำหนักได้มากกว่าคนที่ออกกำลังกายเวลาอื่นๆ

#ออกกำลังกายตอนกลางวัน

1.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย ถ้าต้องการวิ่งให้เร็วขึ้นหรือยกน้ำหนักได้มากขึ้น ช่วงเวลาบ่ายๆเหมาะที่สุด เพราะระบบเผาผลาญกำลังทำงานเต็มที่, ช่วงเที่ยงวัน ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและเทสโทสเตอโรนจะช่วยให้กล้ามเนื้อปลดปล่อยพลังงานได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ระดับความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นด้วย

2.เป็นตัวเลือกที่ดีของคนนอนดึก ถ้าเข้านอนตอนดึก การงัดตัวเองลุกขึ้นมาออกกำลังกายตอนเช้าคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นช่วงเวลาตอนบ่าย นี่แหละเหมาะสมที่สุดแล้ว

#ออกกำลังกายตอนเย็น

1.ช่วยให้มีความอดทนมากขึ้น ผลการศึกษาในปี 2019 พบว่าระหว่างการออกกำลังกายในตอนเย็น คนเราจะใช้ออกซิเจนน้อยลง (เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆของวัน) การใช้ออกซิเจนที่ลดลงหมายถึงอัตราการเต้นของหัวใจลดลง ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยยากขึ้น

2.ช่วยคลายความเครียด เชื่อว่าหลายคน ใช้วิธีออกกำลังกายตอนเย็น เพื่อปลดปล่อยความเครียดที่สะสมมาตลอดทั้งวัน ซึ่งผลวิเคราะห์งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2008 บอกว่าการออกกำลังกายแค่ครั้งเดียว ก็สามารถลดความวิตกกังวลได้ และช่วยให้นอนหลับดีขึ้น เพราะความกังวลใจเป็นตัวการร้ายที่ทำให้เรานอนไม่หลับ

3.ช่วยเตรียมพร้อมร่างกายก่อนเข้านอน การจบวันด้วยกิจกรรมผ่อนคลายอย่างโยคะ และการฝึกหายใจเข้าลึกๆ จะทำให้สมองผ่อนคลาย และอยู่ในสภาวะจิตใจที่สงบ เข้าสู่โหมดที่พร้อมสำหรับการพักผ่อนแบบสุดๆ

สรุปแล้ว... ออกกำลังกายตอนไหนก็ดีหมดครับ ที่แน่ๆคือ “ดีกว่าไม่ได้ออก” แต่ถ้าใครยังสับสนอยู่ ก็ลองออกทุกช่วงไปเลย (แต่คนละวันนะ) แล้วดูว่าเวลาไหนเหมาะกับเราที่สุด, แต่อย่าออกช่วงใกล้เวลานอนมากไป เพราะจะทำให้เรานอนหลับยากขึ้น.

ยุบสภา