หน้าแรกแกลเลอรี่

ทิศทางอุตสาหกรรมกีฬาไทย

บี บางปะกง

6 มี.ค. 2565 06:00 น.

"กีฬา" เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศทั้งนี้เพราะกีฬาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสานต่อในการเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะนำประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ฉบับที่ 12 แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ตลอดจนแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปียังผนวกเรื่องของการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเข้มแข็งของประเทศภายใต้การใช้มิติทางกีฬาสำหรับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสังคมและประเทศชาติไว้ด้วย  

อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงการขับเคลื่อนการพัฒนากีฬาต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการตื่นตัวและส่งเสริมการกีฬามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันของโลกในศตวรรษที่ 21มิติทางการกีฬาจึงได้ขยายวงกว้างจากการเล่นเพื่อสุขภาพ เพื่อการแข่งขันจนนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว

ที่น่าสนใจเมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมกีฬาสำหรับบ้านเรานั้นหากจะเทียบเคียงกับต่างประเทศโดยเฉพาะชาติที่ก้าวไปไกลแล้วนั้นต้องยอมรับว่าเราอาจจะเป็นรองเขาอยู่บ้างดังนั้นหากจะให้อุตสาหกรรมด้านนี้สามารถทะยานพุ่งไปข้างหน้าและเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การเพิ่มรายได้ในมิติของเส้นเลือดใหญ่ที่จะเข้ามาร่วมหล่อเลี้ยงสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นอยู่เองที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐจะต้องเป็นแกนนำในการส่งเสริมและสนับสนุน

และเพื่อเป็นการสนับสนุนหลักคิดหรือมุมมองที่จะผลักดันให้ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาซึ่งเป็นองค์กรหลักเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมกีฬาบ้านเราให้เกิดเป็นมรรคเป็นผล และสามารถจับต้องได้อย่างแท้จริงในเร็ววันนั้นจึงขอนำข้อมูลหรือตัวเลขที่มาจากอุตสาหกรรมกีฬาภายใต้การศึกษาวิจัยพบว่าก่อนหน้านี้หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ก่อนที่มฤตยูร้ายไวรัสโควิด-19 จะมาอาละวาดในพื้นพิภพแห่งนี้จะพบว่าในปี 2560 ปรากฏการณ์ของอุตสาหกรรมกีฬาทั่วโลกมีการขยายตัวและสร้างรายได้อย่างมหาศาลประมาณ 90,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเกือบ 3 ล้านล้านบาท มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 8 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่บ้านเราในปีเดียวกันผลประกอบการอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬามีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ196,538.63 ล้านบาท และหากย้อนไปในห้วง 5 ปีระหว่าง 2556-2560 อัตราการเจริญเติบโต ณ วันนั้นกลับทะยานอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 0.8 ในขณะที่ผู้ประกอบการด้านนี้มีอยู่ประมาณ 5,383 รายเท่านั้น

เมื่อพูดถึงตัวเลขของมูลค่าที่เกิดจากอุตสาหกรรมกีฬาของบ้านเราในห้วงเวลาก่อนหน้านี้แล้วนั้นในทางกลับกันหากจะฉายภาพให้เห็นถึงตัวตนหรือพัฒนาการที่แท้จริงลึกเข้าไปอีกคงจะต้องมีการอ้างอิงหรือหยิบยกผลการศึกษาวิจัยที่บางสำนักได้เคยดำเนินการไว้มาขยายให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ซึ่งหนึ่งในมิติที่ผลการศึกษาวิจัยสะท้อนออกมาและถือว่าน่ายินดีที่พบว่าอุตสาหกรรมกีฬาของไทยมีจุดแข็งในหลายประเด็นโดยเฉพาะคุณภาพของผลิตภัณฑ์  ศักยภาพของภาคเอกชน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันการดำเนินการก็ยังมีจุดอ่อนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องซึ่งจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข อาทิ ขาดการบูรณาการฐานข้อมูลที่เป็นระบบระหว่างหน่วยงาน พร้อมกันนั้นยังพบอีกว่ายังขาดการรวมกลุ่มหรือเครือข่าย กฎหมายที่ไม่เอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ ขาดบุคลากรและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ครอบคลุมในการรองรับอุตสาหกรรม เป็นต้น

จากปัญหาหรือจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกีฬาของประเทศประกอบกับสังคมตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ด้วยแล้วดูเหมือนว่าวันนี้อุตสาหกรรมด้านนี้กำลังฝ่ามรสุมร้ายอยู่กลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่และยังไม่สามารถที่จะชี้ชัดได้ว่าห้วงเวลาใดจะฟื้นจากภวังค์ของวิกฤติไปได้

และต่อกรณีดังกล่าวเป็นที่น่ายินดีที่วันนี้สังคมไทยยังมีองค์กรหรือภาคประชาสังคมที่ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของการขจัดอุปสรรคและขวากหนามที่เป็นอยู่ ซึ่งล่าสุดจะเห็นได้ว่าสถาบันการจัดการกีฬาเพื่อองค์กรกีฬา หรือ “WISDOM” ภายใต้การนำของคุณศุกรีย์ สุภาวรีกุล ในฐานะประธานสถาบันและหมวกอีกใบในนามของนายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทยได้ผนึกพลังร่วมกับนักวิชาการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยการทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ทางออกอุตสาหกรรมกีฬาจากสถานการณ์โควิด-19”

สำหรับงานวิจัยดังกล่าวผู้เขียนคงไม่ลงลึกในรายละเอียดแต่จากการได้อ่านบทสรุปแล้วพบว่าผลที่ได้รับจากการศึกษานั้นจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นอย่างมากในการที่จะนำผลการศึกษาไปเป็นฐานข้อมูลสำหรับเดินหน้าเพื่อการยกระดับและพัฒนาให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าการที่จะเดินหน้าเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกีฬาบ้านเราก้าวข้างหน้าทัดเทียมกับนานาชาติและได้มาตรฐานสากลนั้นอีกหนึ่งในมิติหรือปัจจัยที่สำคัญที่จะเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาคือการสร้างคนหรือยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบหรือขับเคลื่อนทิศทางให้เป็นผู้ที่มีความพร้อม มีความเชี่ยวชาญภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล

ด้วยความสำคัญดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตในฐานะหน่วยงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีบทบาทในการเป็นหุ้นส่วนสำหรับการพัฒนาทุนมนุษย์และยกระดับการกีฬาของประเทศจึงได้ผนึกพลังที่จะเป็นหนึ่งในภาคีความร่วมมือทางวิชาการสำหรับการพัฒนาคนหรือทุนมนุษย์ด้านการจัดการกีฬาและอุตสาหกรรมกีฬากับสถาบันการจัดการกีฬาเพื่อองค์กรกีฬา

การที่หลายภาคส่วนในสังคมจับมือประสานสัมพันธ์เป็นโซ่ข้อกลางโดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับให้วงการกีฬาตลอดจนอุตสาหกรรมกีฬาของประเทศมีทิศทางอนาคตและสงสว่างที่ชัดเจนจึงถือได้ว่านี่คือพลังอันยิ่งใหญ่สำหรับการเดินหน้าเพื่อสังคมและประเทศชาติ

และเหนือสิ่งอื่นใดวันนี้เมื่อภาคประชาสังคมเริ่มขยับและพร้อมจะสร้างพลังร่วมเพื่อให้การบริหารจัดการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติดังที่กำหนด จึงหวังว่ารัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คงจะไม่นิ่งเฉยและปล่อยทิศทางต้องมืดมนและมองไม่เห็นอนาคตอีกต่อไป
                                                           
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
 

มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

------------------

น่าจับตาความตื่นตัวของ“อุตสาหกรรมกีฬาไทย” เราในตอนนี้จริงๆ ครับ

ถ้าทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

รับรองว่าจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม

ในระดับมหภาค..อย่างแน่นอน !!! 

- บี บางปะกง -