เบี้ยหงาย
ช่วง 5-25 มี.ค.นี้ จังหวัดศรีสะเกษ จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 หรือ “ศรีสะเกษเกมส์” แข่งกัน 55 ชนิดกีฬา และถัดไปก็จะจัดกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 37 “นครลำดวนเกมส์” 21 ชนิดกีฬา ต่อเนื่องกันไป ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.ถึง 3 เม.ย.
ตามจริงแล้ว จังหวัดศรีสะเกษจะต้องจัดตั้งแต่ปี 2563 และมาขยับกันไม่ลงตัวอีกในปี 2564 ถึง 2 ครั้ง อันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องปรับแผนมาจัดกันในปีนี้
ทั้งจะเป็นกีฬาแห่งชาติครั้งแรกในช่วงโควิดด้วย โดยกีฬาแห่งชาติเกิดขึ้นหลังสุดเมื่อปี 2561 ที่ จ.เชียงราย นับว่าห่างกันมานานร่วม 4 ปีทีเดียว
และด้วยบรรยากาศที่ปกคลุมด้วยโควิด-19 เช่นนี้ก็ยิ่งทำให้เกมเกมนี้มีความสำคัญและมีความแตกต่างจากการจัดกีฬาในช่วงปกติอย่างแน่นอน!
ช่วงเวลาที่ผ่านมาบ้านเราแม้มีกีฬาแข่งขันอยู่ไม่น้อยและเป็นเกมใหญ่ เกมระหว่างประเทศก็เกิดมาหลายครั้ง แต่นั่นก็เป็นกีฬาเดี่ยวๆ ต่างจากกีฬาแห่งชาติ ที่เป็น “มหกรรมกีฬา” หรือกีฬาที่มีแข่งหลากหลายประเภทและชนิดกีฬา
บวกกับ “จำนวน” นักกีฬาที่มาจากจังหวัดต่างๆทุกสารทิศ ทำให้ขอบข่ายของการจัดแข่งขัน และเตรียมการด้านต่างๆ มีเนื้องานที่เป็นไปในลักษณะระนาบเดียวกันกับเกมอย่างซีเกมส์ เอเชียนเกมส์เช่นกัน
และที่สำคัญโควิดยังระบาดอยู่ตอนนี้ และเจอกับการแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าอดีตในยุคของ “โอมิครอน” นั่นทำให้ “ศรีสะเกษเกมส์” จะเป็นเกมที่มีความสำคัญมากในมิติของทั้งกีฬาและวิธีการ มาตรการ มาตรฐาน ของระบบการป้องกันของเรา
ความสำคัญที่ว่านั้นสะท้อนได้ชัดเจนถึงขนาดที่ทางรัฐบาลโดยรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังต้องออกมาแถลงถึงความพร้อม และการเป็น
ต้นแบบของการจัดแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งนี้ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวด ซึ่งจะแตกต่างกว่าครั้งอื่นๆแน่
ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งรูปแบบการจัดออกเป็น 3 ช่วง 5-11 มี.ค., 12-18 มี.ค. และ 19-25 มี.ค. ตามกลุ่มชนิดกีฬา เพื่อลดความแออัด ทำให้มีระยะเวลาการแข่งขันที่ยาวกว่าปกติ
ทั้งมีมาตรการเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ที่รัดกุม โดยคณะกีฬาต้องผ่านการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 2 เข็มขึ้นไป มีผลการตรวจ ATK ก่อนเดินทางเข้าจังหวัด และตรวจ ATK ก่อนการแข่งขัน พร้อมกันนี้ ยังจะมีการตรวจโควิดให้ทุกๆ 3 วันตลอดการแข่งขันด้วย
และยังจัดสถานที่พักตามชนิดกีฬาให้ใกล้สนามแข่งขันมากที่สุด จัดระบบรับ-ส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ จากที่พักถึงสนามแข่งขันทุกวัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง
นี่จึงเป็นงานใหญ่และถือเป็นด่านทดสอบที่สำคัญ ซึ่งจะต้องร่วมมือ รวมพลังกัน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด หรือหน่วยงานด้านสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการกีฬาแห่งประเทศไทย
เอาใจช่วยผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายให้ประสบความสำเร็จด้วยดี เหนื่อยหนักแน่ แต่ต้องภูมิใจกัน “ศรีสะเกษเกมส์” ครั้งนี้จะเป็นต้นแบบจริงๆแน่นอน ซึ่งจะส่งผ่านไปถึงการจัดกีฬาในยุคใหม่ของไทยเราต่อไป...
“เบี้ยหงาย”