หน้าแรกแกลเลอรี่

การบ้านช้างศึกจูเนียร์

บี บางปะกง

25 ก.พ. 2565 06:00 น.

อีกไม่นานเกินรอแฟนลูกหนังชาวไทยจะได้พิสูจน์ฝีเท้าของทีมช้างศึกจูเนียร์ หรือนักเตะทีมชาติไทยอายุไม่เกิน 23 ปี ที่จะร่วมดวลแข้งในรายการระดับชาติสองรายการติดกัน ไม่ว่าจะเป็นซีเกมส์ ที่เวียดนาม และชิงแชมป์เอเชีย ที่อุซเบกิสถาน ในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน ศกนี้

การทำศึกทั้งสองรายการแน่นอนหากมองในแง่ของศักดิ์ศรีและความหวังของคนไทยในการทวงคืนความเป็นเจ้าลูกหนัง โดยเฉพาะในซีเกมส์ย่อมเป็นโจทย์และการบ้านสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องนำไปขบคิดเพื่อก้าวไปให้ถึงเป้าหมายดังที่แฟนลูกหนังในชาติคาดหวัง

ในขณะเดียวกันถ้าหากจะให้บอลไทยก้าวข้ามอาเซียนอย่างที่นายใหญ่สมาคมลูกหนังเคยลั่นวาจาไว้ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าคงจะเป็นงานหนักยกกำลังสองที่ทุกภาคส่วนต้องเดินไปให้ถึงฝั่งฝัน 

ดังนั้นวันนี้คงถึงเวลาที่สมาคมลูกหนังภายใต้การประสานและขับเคลื่อนของ “นางฟ้าลูกหนัง” มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ในฐานะผู้จัดการทีม รวมทั้งทีมงานสตาฟฟ์โค้ชที่มี “โค้ชโย่ง” วรวุฒิ ศรีมะฆะ และ “โค้ชโชค” โชคทวี พรหมรัตน์ จะได้กลับมาขบคิดและกำหนดกลยุทธ์ร่วมกัน 

เมื่อกล่าวถึงการเตรียมทีมก่อนทำศึกของช้างศึกจูเนียร์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการเตรียมทีมชาติอย่างแท้จริง ประเด็นนี้อาจจะสอดคล้องกับมิติที่ทีมเคยประสบมาก่อน ซึ่งหากจะย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เชื่อว่าแฟนลูกหนังคงจะจดจำกันได้ดี กรณีที่ทีมช้างศึกจูเนียร์ต้องเผชิญกับขวากหนามและอุปสรรคที่หลากหลายจนทำให้ทีมเกือบจะไม่ได้ไปต่อในรอบคัดเลือกชิงแชมป์เอเชีย 2022

และสิ่งที่ตามมาคือกระแสที่ว่า “ต้องอาศัยหรือยืมจมูกผู้อื่นต่อลมหายใจ”

ต่อกรณีในครั้งนั้นผู้จัดการทีมคนสวยต้องออกมาส่งเสียงเพื่อให้ผู้มีอำนาจและเกี่ยวข้องเร่งแก้ไข ดังวลีที่ดูเหมือนว่าจะส่งผลให้เกิดแรงสะเทือนต่อวงการลูกหนังไทยอยู่พอสมควร ซึ่งเสียงที่คนทั้งประเทศทราบกันอย่างถ้วนทั่ว ดังความตอนหนึ่งว่า

“ปัญหาคิดว่าทุกคนน่าจะเห็นกันแล้ว เรื่องตารางการแข่งขันต่างๆ ที่ทับซ้อนกันอย่างที่บอกไว้ตอนเข้ามารับตำแหน่ง คือการเล่นต้องเล่นให้ชนะ ดังนั้นกลับไปคงต้องคุยกัน ทำอย่างไรให้ทีมมีเวลาเก็บตัวมากกว่านี้ และได้ผู้เล่นที่เป็นตัวหลักๆ ในไทยลีกด้วย...”

จากปัญหาในครั้งนั้น วันนี้ไม่แน่ใจว่าสมาคมกีฬาลูกหนังตลอดจนทีมงานที่เกี่ยวข้องได้หยิบยกประเด็นที่เป็นหลุมดำหรือในส่วนที่เป็นกำแพงขวางกั้นมาถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตกันมากน้อยแค่ไหน?
 

โจทย์หรือการบ้านที่ต้องสะท้อนไปยังสมาคมกีฬาลูกหนังภายใต้สภากรรมการทั้งมวลว่า “แล้วเราจะปล่อยให้เหตุการณ์ที่เป็นดังในอดีตต้องกลับมารุมเร้าและกัดกร่อนทีมชาติของคนไทยทั้งประเทศอีกหรือ” หรือจะถือคติที่ว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม”

ต่อกรณีนี้เพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าดินพอกหางหมู หรือปล่อยให้วัวหายแล้วค่อยกลับมาล้อมคอกดังที่ผ่านมาคงถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์อย่างเร่งด่วนและเหนือสิ่งอื่นใด 

อย่าลืมว่าทีมชาติไทยคือหน้าตาของคนไทยทั้งชาติ หากวันใดทีมประสบความสำเร็จความสุขที่แฟนลูกหนังคาดหวังและเรียกหาก็จะกลับมาเยือน

จากคำกล่าวที่ว่า “ชีวิตมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบฉันใด” คงจะเป็นโจทย์และการบ้านที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับทีมช้างศึกจูเนียร์จะต้องหันมากระชับวงล้อมปันความคิดร่วมกัน

เพื่อทลายกำแพงและก้าวไปให้ถึงฝั่งฝันดังที่แฟนลูกหนังร่วมชาติปรารถนา.

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ก็หวังใจว่าบทความที่อาจารย์รัฐพงศ์เขียนถึงผู้บริหารสมาคมลูกหนังไทยยุคนี้ 

จะเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนความจำ 

ว่าอะไรที่เคยผิดพลาดมากับการเตรียมทีมช้างศึก 23 ปีเมื่อปีที่แล้ว

ก็อย่าเดินซำ้รอยนั้นอีก!! 

ไม่ว่าจะเป็นทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ หริอศึกชิงแชมป์เอเชีย 

ล้วนแต่เป็น ‘ศึกแห่งศักดิ์ศรี’ ที่สำคัญยิ่งต่อความรู้สึก

ของแฟนบอลชาวไทย..ด้วยกันทั้งสิ้น !!! 

บี บางปะกง