ไทยรัฐฉบับพิมพ์
พิษโควิด-19 อาละวาดลุกลามบานปลาย มาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี 2020 เป็นต้นมาซึ่งลามมาถึงวงการกีฬาโลก ก็โดนผลกระทบอย่างหนักต้องหยุด ต้องเลื่อนการแข่งขันกันระนาว
แต่เมื่อโลกมีวัคซีนขึ้นมา และถูกฉีดให้กับผู้คนในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นตามลำดับจนมากพอจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่เพิ่มขึ้น ก็ได้นำมาซึ่งความหวัง ส่งผลให้สถานการณ์ในปี 2021 ดีขึ้นเป็นลำดับ
แม้จะยังมีปัญหาในบางที่ บางเวลา แต่ผู้คนทั่วโลกก็กลับมาทำกิจกรรมในสังคมกันได้ ใช้ชีวิตประจำวันเกือบเป็นปกติ ส่วนประเทศไหน ที่กลับมาระบาดอีก ก็สามารถควบคุมได้ดีขึ้น ความหวาดวิตกลดน้อยถอยลง
เช่นเดียวกัน วงการกีฬาโลกก็อยู่ในสภาพเดียวกัน หลายกีฬากลับมาแข่งขันกันได้ แม้ยังต้องมีมาตรการป้องกันที่รัดกุม เข้มข้นอยู่บ้าง เพื่อความปลอดภัย แต่ก็ผ่อนคลายลงได้เยอะ
สีสันของโลกใบนี้กลับมาแล้ว!!!
สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่เป็นสัญญาณว่าโลกเรากลับมาได้ จากที่ฟุบไปนาน ภายใต้การใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ คือโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้จัดการชิงชัยไปเรียบร้อย หลังเลื่อนมาจากปี 2020 ก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เอาชนะไวรัสได้ ไม่มีอะไรจะหยุดเราได้
และที่เห็นได้ชัดที่สุดอีกเรื่อง ก็เป็นฟุตบอลในลีกยุโรป จากที่นักเตะเล่นกันเอง ไม่มีคนดูตอนนี้ แฟนๆเข้ามาได้เต็มความจุสนาม ทำให้บรรยากาศเดิมๆกลับมาอีกครั้ง
ส่วนวงการกีฬาไทยเราก็เช่นกัน หลังจากตลอดปี 2020 หยุดชะงัก เงียบเหงาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตลอดปี 2021 ก็มีการคาดหวังกันว่า ทุกอย่างจะค่อยๆพลิกฟื้นกลับมา
เริ่มจาก เมื่อช่วงต้นปี สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ประเดิมจัดแบดมินตัน 3 รายการยักษ์ใหญ่ ที่เมืองทองธานี ในรูปแบบบับเบิล ป้องกันโควิด-19 ได้อย่างดี จนเป็นต้นแบบในการจัดกีฬาให้กับทั่วโลก ซึ่งโตเกียวเกมส์ก็นำข้อดีส่วนนี้ไปใช้ด้วย
จากนั้น อีกหลายๆกีฬาก็ค่อยๆกลับมาจัดได้ ภายใต้รูปแบบการป้องกันสูงสุด ซึ่งทุกอย่างก็ดูเหมือนจะค่อยๆดีวันดีคืนขึ้นตามลำดับ เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น
แต่ทว่า ก็มาเกิดเรื่องช็อกจนได้!!!
วงการกีฬาไทยต้องมาเจอปัญหาใหญ่บิ๊กเบิ้ม เล่นงานซ้ำเติมเพิ่มจากวิกฤติโควิด-19 อีกรอบ เมื่อวันดีคืนดี จู่ๆองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือวาดา ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564
ใจความสำคัญประเทศไทย อินโดนีเซีย และ เกาหลีเหนือ ทำผิดกฎเรื่องสารต้องห้าม ต้องถูกลงโทษ โดยในส่วนของไทยถูกระบุความผิดไว้ว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญสารต้องห้ามของวาดา ในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในขณะที่อินโดนีเซีย และเกาหลีเหนือ ผิดกฎด้านการดำเนินการตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬา ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยประเทศไทยที่มีพันธะผูกพันกับ องค์การกีฬาโลก และสหประชาชาติ ได้รับบท ลงโทษ 4 ข้อ เป็นเวลา 1 ปีเต็ม นับจากวันที่มีประกาศ
ข้อแรก ไทยไม่สามารถร่วมเป็นกรรมการและรับทุนสนับสนุนจากวาดาได้ ข้อ 2 กรรมการชาวไทย ในนามตัวแทนรัฐบาล ยกเว้นในนามบุคคล ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในสหพันธ์กีฬานานาชาติ ข้อ 3 ไม่สามารถจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติ ระดับภูมิภาค ทวีปและโลก ยกเว้นเกมที่ได้มีการอนุมัติให้จัดก่อนมีบทลงโทษ และข้อ 4 ห้ามไม่ให้ผู้จัดการแข่งขัน ใช้ธงชาติไทยในสนามการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค ทวีป และโลก ยกเว้นโอลิมปิก และพาราลิมปิกเกมส์ เลยต้องเลี่ยงมาใช้ธงคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯแทน
กลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่แค่วงการกีฬา เป็นเรื่องระดับประเทศไปเรียบร้อย
เรื่องนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้หลังเกิดเรื่องนี้ไม่นานว่า ได้เชิญการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มาเล่าถึงปัญหาดังกล่าว ทำให้รู้ว่า จำเป็นต้องแก้กฎหมายในส่วนของพระราช บัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ให้ กกท.
ที่จริงต้องมีการแก้กฎหมายนานแล้ว แต่เหตุที่ยังไม่ได้ทำ เพราะ กกท. คิดว่าสามารถใช้วิธีการเจรจากับวาดาได้ แต่ปรากฏว่า เขาเอาจริงเหมือนที่ทำกับรัสเซีย ในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา
จึงได้นำ เรื่องการแก้กฎหมายเข้าสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนกันยายน ซึ่งที่ประชุม คณะรัฐมนตรี มอบหมายให้ กกท. กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปหารือร่วมกันให้ได้ข้อยุติ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่วาดา ต้องการให้เราปรับปรุงมี 5 ข้อ ข้อแรก เรื่องเกี่ยวกับความเป็นอิสระของสำนักงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสารต้องห้าม ซึ่งประเทศไทยมีหน่วยงานนี้แล้ว ตามพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทาง การกีฬา พ.ศ.2555 แต่หน่วยงานนี้ขึ้นอยู่กับ กกท. จึงต้องแยกหน่วยงานดังกล่าวออกไปเป็นอิสระจากรัฐ
ข้อ 2 เรื่องบทลงโทษผู้ที่ใช้สารต้องห้าม ข้อ 3 เรื่องบุคคลอื่นที่ไม่ใช่นักกีฬา แต่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับนักกีฬา อาทิ ครอบครัวของนักกีฬา ข้อ 4 เรื่องการลงโทษนักกีฬาโดยตัดสิทธิ์ไม่ให้ลงแข่งขัน ซึ่งบทลงโทษที่มีอยู่เดิมยังไม่เพียงพอ และข้อสุดท้าย เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับนิยามคำว่า “สารต้องห้าม”
“เมื่อแก้กฎหมายเสร็จ ก็จะออกมาเป็นร่างกฎหมาย 1 ฉบับ ถ้าต้องการนำมาใช้เป็นการเร่งด่วน จะออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปดูเงื่อนไขความจำเป็นเร่งด่วนหรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ คือ เป็นเรื่องที่กระทบความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ก็สามารถออกเป็นพระราชกำหนด โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ได้” ดร.วิษณุกล่าว
ส่วน “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ที่ต้องมารับเผือกร้อนชิ้นนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ กล่าวว่า ทันทีที่ทราบเรื่อง กกท.ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการแก้ไขตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมสารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ให้สอดคล้องกับวาดา ตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ หลังจาก กกท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายสารต้องห้ามให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม กระบวนการจากนี้ไป จนถึงการประกาศใช้กฎหมาย น่าจะเสร็จเรียบร้อย เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
จากนั้น เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์ จะนำเสนอวาดาพิจารณา เมื่อวาดาประกาศรับการแก้ไข ก็จะเป็นในส่วนของไทยเราที่จะยื่นขออุทธรณ์ระยะเวลาการบังคับโทษ 4 ข้อ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมด น่าจะเสร็จในเดือนเมษายน
สำหรับประเด็นที่มีการแก้ไขในร่างกฎหมายสารต้องห้าม เป็นการบริหารงานของหน่วยงานตรวจสารต้องห้ามของไทย ให้มีความเป็นอิสระจากหน่วยงานทางด้านกีฬา
ส่วนบทลงโทษ มีการเพิ่มเติมจากเดิม นอกจากลงโทษนักกีฬาที่ไปเกี่ยวข้องกับสารต้องห้ามแล้ว ยังมีการเพิ่มเติมบทลงโทษ เอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องรอบด้านทั้งหมด ซึ่งบทลงโทษได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้อุทธรณ์โทษก็ต้องมีไว้ด้วย
“สิ่งสำคัญในเรื่องนี้ จำเป็นต้องปลดล็อกโทษแบนให้ได้ก่อน ยิ่งรีบแก้ไขให้เร็วที่สุดผลเสียที่เกิดขึ้นก็จะน้อยลง” ผู้ว่าการ กกท.กล่าว
ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า จะมีการประกาศใช้ กฎหมายสารต้องห้ามออกมาได้เมื่อใด เมื่อเสร็จแล้ว จะไปเจรจาขอลดโทษจากวาดาที่วางโทษไว้ 1 ปี ได้หรือไม่
แน่นอนว่า “บิ๊กต้อม” นายธนา ไชยประสิทธิ์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะหัวหน้านักกีฬาไทย ได้บอกไว้ในโอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เราอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
เพราะเกมดังกล่าวอยู่ในข้อยกเว้นของวาดา ไทยสามารถใช้ธงชาติไทยในสนามได้
แต่กับเกมการแข่งขันต่อจากนั้น โดยเฉพาะกับซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นใดๆของวาดาและในการชิงชัย ยังอยู่ในช่วงการลงโทษอยู่ด้วย
การเจรจาของฝ่ายไทยกับวาดา จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสุดๆเป็นเดิมพันที่สูงมาก หากพูดคุยจนวาดา ยอมลดโทษให้ ก็ถือเป็นข่าวดีแห่งปี ที่ธงไตรรงค์ จะได้กลับมาโบกสะบัดในทุกสนามเหมือนเดิม เป็นศักดิ์เป็นศรีของประเทศ
แต่ถ้าไม่ทันเวลาวาดายังยึดคำเดิม ลงโทษจนครบ 1 ปี จะยิ่งตอกย้ำปัญหากีฬาไทยเข้าขั้นอ่วมหนัก
เป็นวิกฤติที่ซ้อนอยู่ในวิกฤติเข้าไปอีก...
กราวกีฬาไทยรัฐ