บี บางปะกง
สัปดาห์ที่ผ่านผมสูญเสียเพื่อน ร่วมอาชีพไปอีกคนแล้วครับ
พี่สร้อย มั่งมี เจ้าของนามปากกา “สอดสร้อย สาวสังเวียน” แห่งโต๊ะกีฬาข่าวสด แฟนพันธุ์แท้มวยโลก ตัวจริง เสียงจริง โบกมือลาโลกนี้ไปอย่างกะทันหัน
ด้วยโรคยอดฮิต ที่คร่าชีวิตนักข่าวกีฬาไปแล้วหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “พี่ ย.โย่ง” เอกชัย นพจินดา , “พี่ป๊อก” พงษ์ ระวี , “พี่น้องหนู” ธราวุธ นพจินดา, “เฮียนอส” นอสตราดามุส ฯลฯ
ที่จากไปแบบไม่มีโอกาสได้ร่ำลา เพราะมหันตภัยเงียบ “โรคหัวใจวายเฉียบพลัน”
อันเกิดจากการใช้ชีวิตตรากตรำในหน้าที่การงานสื่อมวลชน ที่ทำให้การกิน อยู่ หลับ นอน ไม่เหมือนชาวบ้านเค้า
พอนานวันเข้าร่างกายมันก็เสื่อมโทรม ซ่อมแซมไม่ไหว เครื่องก็เลย “น็อก” ดับไปดื้อๆ อย่างที่ได้เห็นกัน
ผมเองก็เจอพิษโรคร้ายเหล่านี้เล่นงานจนงอมพระราม ร่างกายกลับมาไม่ปกติ 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนแต่ก่อน จนถึงทุกวันนี้
ภาวะหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ มันน่าสะพรึงไม่แพ้กัน!!
โชคดีที่ผมยังไม่ถึงกับไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ เหมือนพวกพี่ๆเค้า
แต่เท่าที่มีชีวิตอยู่ตอนนี้ก็ลำบากพอดู เพราะทำอะไรได้ไม่เหมือนก่อนอีกแล้ว
โอกาสดีๆที่เคยมีเคยได้ก็พลอยหายไปด้วย
และเพื่อเป็นการป้องกัน “โรคหัวใจ” ไม่ให้เกิดขึ้นกับใครอีก วันนี้ผมเลยขออนุญาตนำเกร็ดความรู้จาก โรงพยาบาลหัวใจ รพ.กรุงเทพ
ในหัวข้อ “8 เรื่องที่สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัยเพื่อป้องกันโรคหัวใจไปตลอดชีวิต” มาให้ทุกท่านได้อ่านกันเพื่อเป็นวิทยาทาน
1) เลี่ยงไขมันทรานส์ : ที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น เบเกอรี พาย พัฟ เวเฟอร์ โดนัท คุกกี้ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม เนยเทียม มาการีน จังก์ฟู้ด อาหารทอดต่างๆ
2) ออกกำลังเน้นช่วงเบิร์นไขมัน : ในช่วงที่อัตราการเต้นของหัวใจเหมาะสมและมีสัดส่วนการเผาผลาญไขมันมากที่สุด โดยควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
3) นอนให้พอและมีคุณภาพ : ไม่ควรนอนน้อยกว่า 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และจะต้องนอนหลับลึก เพื่อให้ตื่นมาแล้วสดชื่นแจ่มใส สมองและหัวใจจะได้พักผ่อนเต็มที่
4) จัดการความเครียดให้อยู่หมัด: โดยเฉพาะความเครียดเรื้อรังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ดังนั้น การจัดการความเครียดจึงมีความสำคัญ อาทิ การท่องเที่ยว การฝึกสมาธิ การทำจิตอาสา การแฮงเอาต์กับเพื่อน เป็นต้น
5) ระวังเบาหวานและไขมันในเลือดสูง : หากเป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะไขมันในเลือดสูงตั้งแต่อายุน้อยย่อมเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร โดยทั้งสองภาวะทำให้ผนังหลอดเลือดหัวใจอักเสบเรื้อรัง หากอุดตันจะส่งผลให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดเรื้อรัง หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายแบบเฉียบพลันได้
6) อย่าเริ่มสูบบุหรี่และเลิกบุหรี่ให้เร็วที่สุด : เพราะการสูบบุหรี่นั้นไม่ว่าจะสูบมากหรือสูบน้อยมีผลต่อหลอดเลือดหัวใจและความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเท่ากัน เนื่องจากสารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่และสารอื่นๆที่พบ ทำให้เส้นเลือดแข็ง ผนังเส้นเลือดหนา หัวใจเต้นไม่ปกติ หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจขาดออกซิเจน เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
7) ทานปลาบำรุงหัวใจ : การรับประทานปลาน้ำจืด หรือปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ ดังนั้นจึงควรทานปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาช่อน ปลาดุกเป็นประจำ
8) ความสัมพันธ์ที่ดีลดเครียดหัวใจแข็งแรง : การมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีกับบุคคลอื่นมีส่วนช่วยในการลดความเครียด ลดภาวะซึมเศร้า นำมาซึ่งการมีหัวใจที่แข็งแรง
“หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ” ของพวกเราทุกคนให้แข็งแรงอยู่เสมอเถอะครับ
ไม่อยากเขียนร่ำลา หรือไว้อาลัยให้ใคร... อีกแล้วจริงๆ.
บี บางปะกง