หน้าแรกแกลเลอรี่

น้องใหม่ศิลปินแห่งชาติ

บี บางปะกง

25 ต.ค. 2564 07:13 น.

คณะรัฐมนตรีได้มีมติและประกาศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ให้ทุกวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งทรงประปรีชายิ่งทางด้านศิลปกรรมต่างๆ ทั้งดนตรี กวีนิพนธ์ ประติมากรรม หรือแม้แต่วรรณกรรม

และที่สำคัญพระองค์ทรงได้รับการทูลถวายยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรมด้วยนั้น

เพื่อเป็นการตอบแทนบรรดาศิลปินผู้มากผลงาน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้มีโครงการประกาศและมอบรางวัลให้กับศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นในด้านต่างๆ อันเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติเป็นประจำทุกปีเรื่อยมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528

รางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” แบ่งออกเป็น 4 สาขา อันได้แก่ สาขาทัศนศิลป์, สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม, สาขาวรรณศิลป์, สาขาศิลปะการแสดง (ก.การแสดงละคร ข.การดนตรี ค.การแสดงพื้นบ้าน)

“ศิลปินแห่งชาติ” 4 ท่านแรกที่ สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้คัดเลือกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติไว้ ณ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2528 ประกอบไปด้วย

หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์

นายเฟื้อ หริรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย

ส่วนค่าตอบแทนที่มอบให้กับบรรดาศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการคัดเลือกและยกย่องเชิดชูเกียรติ แบ่งออกดังนี้

รางวัลเงินสดรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ยามเจ็บป่วยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามระเบียบของกองทุนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งไม่เกินจำนวน 100,000 บาทต่อปี รวมทั้งค่าเยี่ยมไข้ในยามเจ็บป่วย หรือในโอกาสสำคัญไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้งกับเงินช่วยเหลือจากการประสบภัยพิบัติ น้ำท่วม ไฟไหม้ ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง

สุดท้าย วันที่ศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตจะได้รับความช่วยเหลือในการบำเพ็ญกุศลศพรายละ 20,000 บาท รวมถึงค่าเครื่องทำศพตามประเพณีที่เหมาะสมเท่าที่จ่ายจริง กับเงินช่วยค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงอีกไม่เกิน 150,000 บาทนั้น

ที่น่าสังเกต เห็นจะเป็นตรงที่บรรดาท่านผู้ที่รับการคัดเลือกให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ในแต่ละปี ต่างล้วนย่างเข้าสู่ผู้สูงวัยด้วยกันแทบทั้งสิ้น

จะมีก็แต่ท่านผู้ที่ได้รับรางวัลในสาขาศิลปะการแสดง อย่างดนตรีหรือขับร้อง ซึ่งยังมีสุขภาพดีซะเป็นส่วนใหญ่ ไปมาไหนต่อไหนได้

ผู้อาวุโสเหล่านี้เลยโชคดี ยังได้เปรียบและมีโอกาสประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงตัวและครอบครัวมากกว่าท่านอื่นๆ

ซึ่งเท่ากับรางวัลศิลปินแห่งชาติมีส่วนช่วยเสริมให้แต่ละท่านในสายนี้ มีคุณค่าหารายได้เพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่ง

ใครที่อิจฉาตาแดง กับ “ศิลปินแห่งชาติ” จึงบาปกรรมเปล่าๆ

ในส่วนของ “มวยไทย” ซึ่งเป็นทั้งกีฬาและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติไทย ซึ่งทุกวันนี้ฝรั่งต่างชาติให้ความสนใจถึงขั้นบินข้ามน้ำ เหาะข้ามทะเล เพียงเพื่อมาฝึกเรียนมวยไทยกันถึงในบ้านเรา

ค่ายมวยแฟร์เท็กซ์ ของ “เสี่ยบรรจง บุษราคัมวงษ์” เป็นค่ายมวยค่ายแรกๆ ที่เปิดรับฝึกสอนนักมวยชาวต่างชาติอย่างมีระบบแบบแผนทางย่านบางพลี

มีห้องพักทั้งแบบพัดลม ห้องแอร์ เตียงเดี่ยว เตียงคู่ อาหารพร้อมสรรพ แถมมีบริการรถรับส่งนักเรียนมวยไทยที่อยากไปชมมวยที่ลุมพินีและราชดำเนินมาก่อนใครๆ ก่อนที่จะขยายไปปักหลักยังพื้นที่แห่งใหม่ที่เมืองพัทยาด้วยเงินลงทุนนับร้อยล้าน

มาวันนี้ ว่ากันว่านักเรียนมวยไทยกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค นอกจากในกรุงเทพฯ กทม.แล้ว ภาคใต้ชายทะเลเป็นแห่งที่นักเรียนมวยไทยให้ราคาสนใจมากที่สุด

พอดีพอร้าย เจ้าของค่ายถือโอกาสเสนอขึ้นทั้งในเวทีภูธรและนครบาล ชกหาลำไพ่ถูกใจคอมวยไทยก็มีไม่น้อย

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 อาละวาดฟาดหัวหางกระจายไปทั่วทุกอณูของประเทศ

วงการมวยที่ว่าเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมิด้อยไปกว่าวงการอื่นใดยังมีโชคดี

เรามี ส.ส. ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา จากเมืองโอ่ง ราชบุรี ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ ประธานคณะกรรมาธิการกีฬาในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ผ.) โดยมี “บิ๊กโต้ง” ส.ส. ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการนั้น

เผอิญทั้งสองท่าน “บ้ากีฬา” คือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาฟุตบอลกับกีฬามวย

วันดีคืนดี ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ อดีตกรรมการมวยลุมพินี และอดีตผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันท่านทำหน้าที่นายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และประธานอีฟม่า (สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติอะไรทำนองนั้น)

อาจารย์ศักดิ์ชาย ยกทีมบุกสภาฯ ขอเข้าพบท่านประธานบุญลือ โดยติดต่อผ่านทางท่านเลขาโต้ง เพื่อขอยื่นเรื่องขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการกีฬา (ส.ผ.) นัดเดียว 3 เรื่องรวด แบบไหนๆ ก็มาแล้วต้องเอาให้คุ้ม

มวยไทยจะไปโอลิมปิก ตั้งสถาบันมวยไทยแห่งชาติ และศิลปินแห่งชาติ สาขากีฬา ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว และการละเล่นพื้นบ้าน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2559

ก็บอกแล้วว่า ประธานบุญลือ กะ เลขาโต้ง นั้น 'บ้ากีฬา' พอรับลูกปุ๊บ ส่งลูกปั๊บ

แล้วให้เผอิญโชคเข้าข้างนักมวยไทย เพราะรัฐมนตรี อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ธรรมดาที่ไหนกัน เท้า(ตีน)ไวยิ่งกว่าจรวด

“มวยไทย” จึงถูกหวยได้เป็น “น้องใหม่” ของ “ศิลปินแห่งชาติ” ที่เพิ่งทำคลอดกันออกมาสดๆ ร้อนๆ

ขอบคุณ ท่านประธานบุญลือ และท่านเลขาโต้ง สิริพงศ์

และขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีอิทธิพล แทนนักมวยไทย

น้องใหม่ของศิลปินแห่งชาติ!!!

บี บางปะกง