หน้าแรกแกลเลอรี่

มหากาพย์...‘ม.การกีฬาแห่งชาติ’ (3)

บี บางปะกง

19 ก.ค. 2564 06:30 น.

(ต่อตอนที่แล้ว) เมื่อกล่าวถึงปัญหาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ใช่ว่าจะมีเฉพาะปัญหาการได้มา ซึ่งจอมทัพหรืออธิการบดีเท่านั้น เรื่องอื่นๆก็มีปรากฎให้เห็นเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเผยแพร่ข้อมูลจากแหล่งข่าวในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ปลัดกระทรวงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการของ อกพ.กระทรวง เพื่อให้เร่งดำเนินการสอบสวนทางวินัยกับผู้บริหารรายหนึ่ง กรณีการทุจริตการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ผ่านมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2563

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงปัญหาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ หากพิจารณากันด้วยความเป็นธรรมต่อสถาบันด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่าปัญหาทั้งมวลไม่ได้เกิดจากประชาคมส่วนใหญ่ แต่ปัญหาทั้งหมดทั้งมวล ทั้งที่ปรากฎผ่านสาธารณะและซุกอยู่ใต้พรมก็ตาม กลับพบว่ามาจากกลุ่มหรือบุคคลเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ต่อกรณีปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร โดยภาพรวมของสถาบันแห่งนี้ หากนำไปเทียบเคียงกับปัญหาของบางมหาวิทยาลัย ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวง อว.นั้น จะเห็นได้ว่าปัญหาของมหาวิทยาลัย สังกัดกระทรวง อว.นั้นดูเหมือนว่ามีหลายปัญหาที่นักหนาสาหัส มากกว่ามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติด้วยซ้ำไป

แต่ด้วยหลักคิด ตลอดจนมุมมองในการบริหารจัดการ เพื่อคลายปมปัญหาจะเห็นได้ว่า แนวทางการดำเนินการของผู้บริหารระดับสูงของสองหน่วยงาน มีกระบวนทัศน์การบริหารจัดการที่ต่างกัน สำหรับการจัดการปัญหาในมหาวิทยาลัยสังกัด อว.นั้น เมื่อเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ อันเนื่องมาจากการบริหารของผู้บริหารหรือความขัดแย้งของกลุ่มบุคคลต่างๆ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์และเสียหายต่อส่วนรวม หากสภามหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการได้

สกอ.จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเข้าไปแก้ไขทันที และก็ได้ผลจนนำไปสู่ความสงบเรียบร้อย นำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อส่วนร่วมและความสง่างามขององค์กรอีกด้วย

ดังนั้นวันนี้ เพื่อให้ปัญหาของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ยุติลงโดยพลัน ไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีก็ตาม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงจะต้องลงมาใช้ยาแรง หรือจะเรียกว่ายอมตัดอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิต เข้ามาดำเนินการก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี

การปล่อยหรือรอต่อไปคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะหากปล่อยให้เป็นไปในลักษณะไฟลามทุ่ง หรือดินพอกหางหมูต่อไป ความเสื่อมศรัทธาตลอดจนเกียรติภูมิที่คนกีฬา หรือชาวพลศึกษารุ่นเก่าได้สร้างไว้ อาจจะสูญหายไปกับยุคของท่านก็ได้

ยิ่งการที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ มีการเปลี่ยนสถานะจากสถาบันฯ มาเป็นมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว จำเป็นอยู่เองที่ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการเปลี่ยนสถานะ ไม่ใช่เป็นเพียงการได้มาซึ่งเกียรติและตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งผลประโยชน์ของกลุ่มผู้บริหารเท่านั้น แต่ประโยชน์ของส่วนรวม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการกีฬาของประเทศ ให้ก้าวไปสู่ทิศทางอนาคตที่ดีกว่าต่างหากคือบทบาทหน้าที่ที่แท้จริง

และคำว่า “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ดังที่สภากาแฟตั้งข้อสังเกตุ จึงไม่ควรที่จะเกิดและเป็นดังที่มีการกล่าวอ้างอีกต่อไป

เหนือสิ่งอื่นใด สภามหาวิทยาลัยจะต้องไม่ให้สังคมกล่าวหาว่าเป็น “สภาเกาหลัง” เหมือนดังบางมหาวิทยาลัย ที่เคยปรากฎเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้

และในฐานะที่ผู้เขียนเป็นหนึ่ง ในลูกพระพลบดีก็อยากจะฝากให้ชาวพลศึกษา หรือผู้แทนวิทยาเขตในฐานะผู้บริหารองค์กร ที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ ควรที่จะตระหนักและยอมรับในมติของสภาฯ ไม่ควรที่จะยึดติดในตัวบุคคลหรือพวกพ้อง จนทำให้ต้องตกอยู่ในวังวนหรือหลุมดำ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และความแตกแยกขององค์กรอีกต่อไป

ที่สำคัญคำว่า “สปิริต” หรือ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ถือได้ว่าเป็นหัวใจของคนกีฬา ที่ควรจะตระหนักและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่คนรุ่นหลังสืบไป.

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร


- บี บางปะกง -