ฟ้าคำราม
เมื่อพูดถึงเรื่องของความเร็ว หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกใจอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อดูในรายการแข่งขันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งวิ่งระยะสั้น สิ่งที่มักจะพบเห็นได้เป็นประจำก็คือ การที่นักวิ่งเชื้อสายแอฟริกันคว้าชัยชนะในการแข่งขันอยู่เสมอ
พูดถึงความเร็วกับการวิ่ง รายการแรกที่ทุกคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น “วิ่ง 100 เมตร” อย่างแน่นอน เพราะนี่คือการแข่งขันที่พิสูจน์ถึงความเร็วได้ดีที่สุด จนมีการขนานนามให้ผู้ชนะการแข่งขันในศึกใหญ่อย่างโอลิมปิก หรือกรีฑาชิงแชมป์โลกเป็น “ชาย/ หญิงที่เร็วที่สุดในโลก” เลยทีเดียว
การบันทึกสถิติโลก ซึ่ง IAAF หรือสหพันธ์กรีฑานานาชาติบันทึกไว้อย่างเป็นทางการครั้งแรกตั้งแต่ปี 1912 เป็นต้นมา ระบุว่า เจ้าของสถิติโลกคนแรก คือ แดน ลิปปิงคอตต์ ชาวอเมริกันผิวขาว ซึ่งทำเวลาไว้ที่ 10.6 วินาที และต้องรอถึง 17 ปี กว่าที่จะมีชายเชื้อสายแอฟริกันคนแรกที่ทำเวลาเป็นสถิติโลก นั่นคือ เอ็ดดี้ โทแลน ซึ่งทำเวลาไว้ 10.4 วินาทีในปี 1929
แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ หลังจาก โฮราซิโอ เอสตาเวส นักวิ่งผิวขาวชาวเวเนซุเอลา สร้างสถิติโลก 10.0 วินาทีไว้เมื่อปี 1964 นับแต่นั้นมา เจ้าของสถิติโลกวิ่ง 100 เมตร ก็กลายเป็นคนเชื้อสายแอฟริกันทั้งสิ้น และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ยูเซน โบลท์ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัย กับสถิติโลกคนปัจจุบัน 9.58 วินาที ซึ่งทำไว้ตั้งแต่ปี 2009
ขณะที่สถิติโลกฝ่ายหญิง แม้ผู้หญิงผิวขาวจากทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา จะผลัดกันทำลายสถิติเป็นว่าเล่น แต่หลังจากที่ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ–จอยเนอร์ ทำสถิติ 10.49 วินาทีไว้เมื่อปี 1988 นับแต่นั้นมาก็ไม่มีใคร สีผิวไหน ที่สามารถทำลายเวลาดังกล่าวได้เลย และแม้ “โฟล-โจ” จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1998 ตัวเลขดังกล่าวก็ยังคงโดดเด่นเหมือนเขาสูงชันที่ยังไม่มีใครหน้าไหนพิชิตได้กระทั่งทุกวันนี้
สถิติโลกการวิ่ง 100 เมตรทั้งชายและหญิง ซึ่งตกเป็นของชายและหญิงเชื้อสายแอฟริกันมาอย่างยาวนาน ทำให้หลายคนถึงกับยกย่องให้พวกเขาเป็นยอดนักวิ่งตัวจริง เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาความลับของเรื่องราวอันน่าทึ่งนี้
ปี 2012 คณะนักวิจัยนำโดยศาสตราจารย์ สตีฟ แฮร์ริดจ์ จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ได้ทำการศึกษาจนค้นพบความลับอันน่าทึ่งประการหนึ่ง นั่นคือ คนเชื้อสายแอฟริกันมีกล้ามเนื้อที่เรียกว่า “Fast–twitch” หรือ “กล้ามเนื้อกระตุกเร็ว” มากกว่าคนเชื้อสายอื่นๆ
ซึ่งกล้ามเนื้อ Fast-twitch นี้เองคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการที่ใครสักคนจะวิ่งได้เร็วหรือไม่ เนื่องจากกล้ามเนื้อแบบนี้สามารถหดตัวได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ช่วยให้พวกเขาสามารถระเบิดฝีเท้าในการวิ่งได้อย่างรวดเร็วกว่า ถึงกระนั้นกล้ามเนื้อดังกล่าวก็ไม่สามารถคงอยู่ในลักษณะนั้นได้นาน จึงทำให้การวิ่งเร็วนั้นทำได้เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ต่างจากกล้ามเนื้อ “Slow-twitch” หรือ “กล้ามเนื้อกระตุกช้า” ซึ่งจะมีคุณสมบัติตรงข้ามกัน และเป็นปัจจัยสำคัญของเหล่านักวิ่งระยะไกลอย่างการวิ่งมาราธอน
เมื่อปี 2010 ทีมวิจัย ซึ่งมี เอเดรียน เบยาน แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก และ ด็อกเตอร์ เอ็ดเวิร์ด โจนส์ แห่งมหาวิทยาลัยโฮเวิร์ด ได้ทำการศึกษากายวิภาคของเหล่าทหารที่มีเชื้อสายแตกต่างกัน และพบความจริงที่น่าสนใจคือ คนที่มีเชื้อสายแอฟริกัน มีตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงของร่างกายสูงกว่าคนผิวขาว 3% อันที่จริง ความแตกต่าง 3% ที่ว่านั้นดูน้อยมากจนแทบไม่อาจสังเกตได้ แต่จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายที่ไม่เท่ากันนี้ส่งผลอย่างไร?
“จุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่า หมายความว่ามี โอกาสที่คนเชื้อสายแอฟริกันจะมีแขนขาที่ยาวกว่า ซึ่งต่างจากคนผิวขาวและเชื้อสายเอเชียที่มีช่วงลำตัวยาวกว่า และนั่นหมายถึงพวกเขามีจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่ต่ำกว่าด้วย” เบยานกล่าว
ความยาวของช่วงขานี้เองที่กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คนเชื้อสายแอฟริกันสามารถวิ่งได้เร็วกว่า เพราะใน 1 ก้าวนั้น พวกเขาจะสามารถก้าวเท้าไปได้ไกลกว่าใครๆ ซึ่งในการแข่งขันที่ตัดสินกันด้วยเวลาไม่ถึง 10 วินาที นี่คือจุดแตกต่างที่สามารถชี้ขาดการเป็นผู้ชนะได้
OOOOOOOO
ใครหลายคนอาจจะตั้งข้อสังเกตมานานแล้ว ว่าทำไมนักวิ่งเชื้อสายแอฟริกัน จึงทำผลงานได้ดีกว่าเพื่อน
วันนี้เพจเฟซบุ๊ก Running Addict ชีวิตติดวิ่ง นำเรื่องราวความลับต่างๆมาเปิดเผยให้เราได้รู้กัน ซึ่งทำให้เราคลายความสงสัยไปได้มาก
โดยมีปัจจัยสำคัญ ทั้งมัดกล้ามเนื้อและจุดศูนย์ถ่วงช่วงขาที่แตกต่างออกไป
แต่อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวคิดว่า ปัจจัยดังกล่าว ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง การฝึกซ้อม ความมุ่งมั่น ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน จะขาดอย่างหลังไม่ได้เลย
ไม่อย่างนั้น ไม่มีทางประสบความสำเร็จเด็ดขาด...
ฟ้าคำราม