หน้าแรกแกลเลอรี่

อยู่ที่คุ้มไม่คุ้ม

เบี้ยหงาย

6 เม.ย. 2564 05:01 น.

เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนกันเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป “ทีสปอร์ต” ทีวีกีฬาเดิม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะอัปเกรดจากทีวีดาวเทียมดั้งเดิม ขยับขึ้นมาสู่การเป็นทีวีดิจิทัล ในแนวทางของ สถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา

ทั้งนี้ ก็สืบเนื่องจากการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยื่นเรื่องไปยัง กสทช. และได้รับไฟเขียวเห็นชอบให้ทดลองออกอากาศได้ ทางทีวีดิจิทัล ผ่านทางช่องหมายเลข 7 เป็นเวลา 6 เดือน โดยเป็นช่องทีวีสาธารณะ ไม่แสวงหากำไร

ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นความพยายามมาหลายผู้ว่าการ กกท.แล้ว จนมาสำเร็จในยุคนี้

มีการระบุถึงที่มาของรายได้ แน่นอนเป็นทีวีที่ไม่แสวงหากำไร ก็ย่อมต้องมีการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็น กกท.เอง กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หรือการบริจาค สนับสนุนในรูปแบบของซีเอสอาร์ เสริมสร้างภาพลักษณ์ หรืออะไรก็ตาม

ทีสปอร์ตเดิมหาเงินเข้ามาสนับสนุนก็ยากเย็นเต็มที คุณภาพที่ออกอากาศในทีวีดาวเทียมเทียบกับ ระดับทีวีดิจิทัลแล้ว แค่ด้านเทคนิคอย่างเดียวก็ใช้เม็ดเงินแตกต่างกันมหาศาล ไม่ต้องพูดถึงด้านคอนเทนต์หรือเนื้อหา

การมีทีวีเพื่อกิจการ เนื้องาน เป็นของตัวเองย่อมดีอยู่แล้ว และต้องยอมรับว่ายุคสมัยนี้กีฬามีความสำคัญ เป็นประโยชน์ต่อชาติในมิติต่างๆมากมาย

เพียงแต่ขอบเขตของการมีช่องทางส่วนตัว กับการเชื่อมสัมพันธ์ผ่านทีวีอื่นๆ ซึ่งไม่เพียงเรื่องของเม็ดเงิน ยังมีมิติที่หลากหลาย และส่งผ่านการรับรู้ได้ดีกว่า มากกว่า หรือไม่ อันนี้เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ

เช่นกัน แม้ว่าจะเป็นการอุดช่องโหว่ แก้ปัญหาที่ไม่สามารถผลักดันเนื้อหาอื่นใด ที่ไม่เป็นที่ประสงค์ หรือเข้าเงื่อนไข ทั้งในมุมของความนิยม ความน่าสนใจ หรือมีสิ่งจูงใจที่มากเพียงพอ ทั้งในเชิงธุรกิจและความสำคัญที่ส่วนรวมควรรับรู้ เพื่อให้ช่องอื่นๆนำเสนอเผยแพร่ออกไป ก็ยังต้องคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่า กลุ่มเนื้อหาในส่วนนี้จะแหลมคมพอที่จะแข่งขันกับช่องอื่นๆ หรือมีไว้เพียงเพื่อสนับสนุนเหตุผลของความจำเป็นที่ต้องมีช่องทางของตัวเองในลักษณะมีแล้วคนไม่ดูก็ไม่เป็นไร

คงไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องของการแย่งซื้อลิขสิทธิ์ หรือแข่งขันกับเอกชน หรือเป็นความร่วมมือให้มีช่องทางการเผยแพร่มากขึ้น เมื่อเอกชนรายใดเป็นเจ้าของสิทธิ์ เพราะมันยังมีรายละเอียดที่มากมายและทับซ้อน ทั้งมุมของธุรกิจโดยตรง กับผู้สนับสนุนให้เกิดธุรกิจนั้นๆ และย่อมจะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ หรือผลประโยชน์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และนั่นจะสะท้อนถึงการเป็นทีวีสาธารณะ ที่ไม่แสวงหารายได้อย่างแท้จริงหรือ ด้วยองค์กรไม่หารายได้ แต่ประโยชน์อื่นใดอาจตกแก่ผู้ที่ดูแลในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่!

อย่างที่ว่า การมี ย่อมดีกว่าไม่มี แต่สิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่มีหรือไม่มี เพราะมันต้องดูว่า คุ้มหรือไม่คุ้ม ในมิติต่างๆ ด้วยเงินที่เอามาใช้ มากน้อย ถ้าไม่ใช้กับทีวีกีฬา ก็สามารถไปสนับสนุนกีฬาในช่องทางต่างๆมากมาย

นั่นสมควรอย่างยิ่งที่จะมีการแสวงหาคำตอบ

หาคนกลางเป็นองค์คณะเข้ามาประเมิน และแสดงต่อสาธารณชนให้ชัดเจน

ช่องหมายเลข 7 “ทีสปอร์ต” คุ้มไม่คุ้ม ได้ไปต่อหรือไม่ สังคมจะร่วมส่งเสียงบอก...

“เบี้ยหงาย”