หน้าแรกแกลเลอรี่

เจ็บซ้ำเจ็บซาก

พาวเวอร์บอมบ์

29 มี.ค. 2564 05:01 น.

ใครที่เคยบาดเจ็บจากการออกกำลังกายควรอ่านข้อนี้ของเพจ “Doctor Runner-วิ่งดิหมอ” ยิ่งใครที่เคยเจ็บแล้วกลับมาเจ็บซ้ำที่เดิมไม่หายขาดเสียทียิ่งต้องอ่าน

5 ข้อสังเกต อาการเจ็บที่เมื่อเป็นแล้ว ไม่ควรรอนาน ควรรีบไปพบแพทย์

1.เจ็บใกล้ข้อต่อ (โดยเฉพาะข้อเท้าและ ข้อเข่า) * (ขออนุญาตใส่เครื่องหมายดอกจัน เพราะสำคัญจริง)

ข้อต่อคนเรามีองศาการเคลื่อนไหวสูง โดยเฉพาะข้อเข่า (knee joint)... เข่าของมนุษย์ไม่ได้มีการเคลื่อนที่ เพียงพับงอ เหยียดได้ เท่านั้น...เข่ายังมีการบิดข้าง และหมุนในตัวเองได้ด้วย...การปล่อยให้อวัยวะรอบเข่าบาดเจ็บเรื้อรัง ย่อมส่งผลต่อการผิดเพี้ยนในการรับน้ำหนัก องศาของข้อที่เปลี่ยน และยาวไปถึงขั้นความเสื่อม

ข้อเท้า (ankle joint) เป็นข้อที่ไม่ใหญ่มาก แต่หน้าที่บทบาทนั้นใหญ่เหลือเกิน คือรับน้ำหนักตัวทุกย่างก้าว ยิ่งขณะวิ่ง การรับน้ำหนักของข้อเท้าจะสูงกว่าการเดินเป็นเท่าตัว...การเจ็บบริเวณข้อเท้า รอบข้อเท้า ไม่ว่าด้านใด ล้วนอ่อนไหวต่อการรับน้ำหนัก หรือใช้ชีวิตประจำวัน... แน่นอน ปล่อยให้มีอาการนานเป็นสัปดาห์ ยิ่งไม่เป็นการดี

ข้อสังเกต : สองบริเวณนี้ ยิ่งการเจ็บใดที่ใกล้ข้อมาก หรือตรงกับข้อต่อเลย (ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อกลุ่มโรคที่หายยากขึ้นไปอีก)

2.มีอาการบวม อาการบวมแสดงถึงเนื้อเยื่อที่กำลังอักเสบ (inflammation) เนื้อเยื่ออักเสบ เสมือนเนื้อเปื่อย!!! ที่หากได้กดจิ้มลงไป ก็ยุบ ยวบ ยาบ ไม่พร้อมที่จะรับน้ำหนัก แทบจะเรียกได้ว่า ห้าม...ทำกิจกรรมที่มีการรับน้ำหนักเลย ในช่วงที่เนื้อเยื่อบวมนี้

3.ลงน้ำหนักแล้วเจ็บเกือบทุกย่างก้าว แน่นอนว่าองศาการเคลื่อนไหวนั้นๆทำให้มีแรงกระทำต่อเนื้อเยื่อที่กำลังบาดเจ็บ...การเจ็บทุกก้าว เป็นสัญญาณว่า...ไม่ใช่การบาดเจ็บเล็กน้อย หรือเจ็บแบบปกติหลังการซ้อม

4.พักประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้น อันนี้อยากให้จดจำขึ้นใจ...ทั่วไปแล้ว การพักประมาณ 1 สัปดาห์ หากเป็นเนื้อเยื่ออ่อนอักเสบจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง มักระงับได้ด้วยการ “พัก ประคบเย็นหรือทานยาร่วมในระยะสั้นๆ”...แต่หากอาการนั้น ไม่หายไปในระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ หรือถึงเดือน... ระวัง เพราะความเรื้อรังกำลังจะถามหาแล้วจริงๆ

5.มีอาการอื่นร่วม เช่น “ชา เจ็บร้าว อ่อนแรง” อาจหมายถึงการบาดเจ็บต่ออวัยวะที่ใกล้กับระบบเส้นประสาท เช่น โรคหมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นต้น...ไขประสาท และเส้นประสาทเป็นอวัยวะที่อ่อนไหวมาก ปล่อยทิ้งไว้ (หรือดูแลไม่ถูกวิธี) มักฟื้นตัวเองเชื่องช้า หรือไม่ฟื้น ร้ายแรงสุดคือความพิการ (อ่อนแรงถาวร)

แถม...การมีโรคบางประการที่เสี่ยงต่อการเกิดความเรื้อรัง เช่น เบาหวาน เกาต์ รูมาตอยด์ เป็นต้น ซึ่งหลายครั้ง การเจ็บครั้งแรก เป็นเพียงสัญญาณเตือน...ที่หลายคนละเลยการไปพบแพทย์ ไม่เคยรับการวินิจฉัยมาก่อน จึงไม่ทราบว่าตนมีโรคเหล่านี้ ทำให้การบาดเจ็บแต่ละครั้ง เนื้อเยื่อจะอ่อนแอลงไปทุกขณะ และไวกว่าคนทั่วไป

5 สัญญาณที่กล่าวแล้วนี้ แสดงถึง...การอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อนในจุดที่สำคัญ! เนื้อเยื่ออ่อนในทางการแพทย์ คือ เส้นเอ็น เยื่อหุ้มข้อ กระดูกอ่อน (เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ฟื้นตัวได้ช้า หากบาดเจ็บ ช้ากว่ากล้ามเนื้อ***)

การเจ็บใน 5 ข้อนี้ ทำไมไม่ควรทิ้งไว้ (หรือ ลองผิดลองถูกเอง) เนื้อเยื่ออ่อน ที่ไม่ได้รับการดูแลที่ดีในระยะแรก จะตามมาด้วย >>> “พังผืดสะสม (fibrosis/scar tissue)” แม้อาการหาย แต่แท้จริงเนื้อเยื่อภายใน ไม่ได้กลับมาดีดังเดิม (เพียงแต่ไม่ได้อักเสบอยู่เท่านั้น) อาการมักกลับเป็นซ้ำอีก เมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเดิมๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข (หลายปัจจัย)...ซึ่งการบอกว่า เขาแนะว่า จะไม่สามารถครอบคลุมปัญหาของแต่ละบุคคลได้

การปล่อยให้เป็นซ้ำๆ เสมือนปัญหา “น้ำหยดลงหิน หินยังกร่อน”...โครงสร้างมนุษย์เราก็เช่นกัน...จะตามมาด้วยการ>>>“บิด ผิดเพี้ยนไป” ตามกาลเวลา

สั้นๆง่ายๆ...“ข้อเสื่อม” “กระดูกคด”...อาจถามหาในอนาคต

อยากให้ทุกท่านวิเคราะห์ดังที่กล่าวไป ผู้ใดมีอาการเข้าเกณฑ์ แนะนำพบแพทย์โดยเร็ว จะเป็นแพทย์กระดูกและข้อ, แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู...เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย รับโปรแกรมการรักษาที่เหมาะสม

ลดความเสี่ยงของการหายช้า หรือเรื้อรัง.

พาวเวอร์บอมบ์